บลจ.ยูโอบี แนะ‘ถือเงินสด’ รอความชัดเจนโหวตนายก

บลจ.ยูโอบี แนะ‘ถือเงินสด’ รอความชัดเจนโหวตนายก

บลจ.ยูโอบี แนะถือเงินสด รอลุ้นผลโหวตนายก13ก.ค.นี้ หากการเมืองยืดเยื้อ กดดัชนีผันผวน แต่ถ้าจัดตั้งรัฐบาลมีเสถียรภาพหนุนฟันด์โฟลว์ไหลเข้า มองดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ 1,400-1,620 จุด

นางสาววรรณจันทร์ อึ้งถาวร รองกรรมการผู้จัดการ สายการลงทุน บลจ.ยูโอบี เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลัง 2566 ยังต้องติดตามผลโหวตนายกฯ 13 ก.ค.นี้  ซึ่งหากหลังวันที่13 ก.ค.การเมืองไทยยังยืดเยื้อ จะกดดันดัชนีหุ้นไทยผันผวนต่อได้ โดยมองแนวรับที่ 1,400 จุด ดังนั้น ในช่วงที่ยังรอผลโหวตนายกฯนี้ เรายังแนะนำนักลงทุน เน้นถือเงินสดรอให้มีความชัดเจนก่อน เพื่อประเมินกลยุทธ์การลงทุนอย่างเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ กระแสฟันด์โฟลว์ต่างชาติน่าจะกลับเข้ามา  โดยมองแนวต้านแรกไว้ที่ระดับ 1,620 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเดิมไว้ก่อน  เพราะหลังจากนั้นยังมีประเด็นที่ต้องติดตามความชัดเจนต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของรัฐบาลจะมีประเด็นที่กดดันตลาดหุ้นไทยมากน้อยแค่ไหน และกำไรบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ปีนี้ ที่ถูกปรับลดประมาณการณ์แล้ว หากมีปัจจัยเศรษฐกิจโลกถดถอยเพิ่มเติมอาจกดดันการฟื้นตัวกำไรบจ. ต่อได้

 "หากดัชนีหุ้นไทยต่ำกว่าระดับ 1,500 จุด ยังมองว่า เป็นโอกาสทยอยเข้าสะสมได้ เพราะพี/อีปัจจุบันถือว่าต่ำมาก แต่ยังมีปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนเน้นเลือกหุ้นรายตัว เป็นหุ้นดีพื้นฐานแข็งแกร่ง กลุ่มที่งบไตรมาส2 และปีนี้เติบโตได้ต่อเนื่อง"

ทางด้านมุมมองการลงทุนต่างประเทศ นางสาววรณจันทร์ กล่าวว่า เศรษฐกิจหลักของโลกอย่างสหรัฐมีแนวโน้มชะลอตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ ซึ่งเป็นผลมาจากภาคการจ้างงานที่ยังดี และอัตราการเติบโตของค่าแรงที่ยังคงเติบโต  และระดับเงินออมที่อยู่ในระดับสูง                     

ส่วนตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วปรับสูงขึ้นในไตรมาส2ที่ผ่านมา เป็นผลมาจากความกังวลจากประเด็นการล้มละลายของ Regional Bank ในสหรัฐฯ ที่คลี่คลาย 

ขณะที่ตลาดหุ้นประเทศเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น ได้ปรับลดลงช่วงที่ผ่านมาหลังข่าวดีเกี่ยวกับการเปิดประเทศเริ่มหมดไป ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่ช้ากว่าคาด

สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจกรณีพื้นฐานจะเป็นลักษณะที่มีการชะลอตัวแบบไม่รุนแรง (Soft Landing) ซึ่งการบริหารความเสี่ยงท่ามกลางสภาวะที่มีความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และนักลงทุนไม่ควรที่จะกลัวการลงทุนมากไป พร้อมทั้งควรเน้นการคัดสรรหลักทรัพย์ที่จะลงทุนและการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนควบคู่กันไปด้วย

ทั้งนี้บลจ. ยูโอบี แนะนำลดเงินสดและเพิ่มน้ำหนักการลงทุนตราสารหนี้ภาคเอกชนทั่วโลก เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนในตราสารหนี้ที่น่าสนใจในช่วงวัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่กำลังจะผ่านจุดสูงสุด และปรับน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

นายกุลฉัตร จันทวิมล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี กล่าวว่า การจัดพอร์ตการลงทุนช่วงไตรมาส3 ปี2566 เน้นกระจายความเสี่ยงเป็นหลักใน 5 รูปแบบ ดังนี้

1.ตลาดประเทศพัฒนาแล้ว เน้นกลุ่มที่ความสามารถสร้างกระแสเงินสดและกำไรสม่ำเสมอ มีพื้นฐานรองรับการเติบโตที่ชัดเจนเช่นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ผ่านกองทุน UEV-M รวมถึงการลงทุนในกองทุน UBOT

2.ภาพระยะกลางเชื่อว่าเศรษฐกิจถดถอยขึ้น ในช่วงครึ่งปีหลังตลาดจะค่อยๆ Priced In ไปยังวัฏจักรเศรษฐกิจการฟื้นตัวในระยะถัดไปและเปิดโอกาสให้หุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่กว้างขึ้นได้ แนะนำให้ลงทุนในกลุ่มMid-Small Cap หรือ Cyclical Play ที่ยัง Laggard และมี Valuation ที่น่าสนใจ

3.นักลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยงของตลาดหรือต้องลงทุนในระหว่างรอจังหวะการลงทุน แนะนำ กองทุน TCMF-M4.นักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงและต้องการกระแสรายได้สม่ำเสมอ จากการลงทุนตราสารหนี้ทั่วโลก แนะนำลงทุนในกองทุนUINC และกองทุนUGIS

5.นักลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนในระยะยาวจากการลงทุนในหุ้น แนะนำลงทุนในหุ้นทั่วโลกในอุตสาหกรรมที่ได้รับปัจจัยบวกจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ได้แก่ กองทุนUNI-M กองทุน UINFRA กองทุน UEV-M กองทุน UBOT และกองทุนUESG-M