ผลตอบแทนสินทรัพย์ครึ่งปีแรก 2566

ผ่านพ้นกันไปแล้วสำหรับครึ่งปีแรก 2566 ซึ่งแม้จะยังคงมีความไม่แน่นอนในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศหลัก ทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และข้อขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ และจีน

 แต่ก็ดูเหมือนว่าความผันผวนโดยรวมจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อนในเกือบทุกสินทรัพย์ทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือแม้แต่อัตราแลกเปลี่ยน

 โดยเป็นช่วงเวลาครึ่งปีที่สินทรัพย์เสี่ยงกลับมาให้ผลตอบแทนดี โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเติบโตและกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และอาจจะดีกว่าที่เคยคาดกันไว้ในช่วงต้นปีเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคที่ยังคงกดดันอยู่ .. วันนี้ลองมาดูภาพรวมของผลตอบแทนของสินทรัพย์ในแต่ละกลุ่มเพื่อสะท้อนความน่าจะเป็นในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงกำหนดทิศทางในการปรับพอร์ตภายใต้สภาวะแวดล้อมและปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

 

กลุ่มตราสารหนี้โดยรวม (Bloomberg Global Aggregate Bond Unhedged) ให้ผลตอบแทน 1.43% และนับเป็นช่วงที่ตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนเป็นบวกในทุกหมวดหมู่ แต่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่ากลุ่มอื่น คือ กลุ่มหุ้นกู้ High Yield หรือ หุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ โดยเป็นบวกในทุกภูมิภาค ทั้งสหรัฐฯ (US High Yield) 5.38% ยุโรป (European High Yield) 4.44% และในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (EM High Yield USD) 3.71% ฟื้นจากปีก่อนหน้าที่ติดลบมากสุดในรอบหลายสิบปี จาก Credit Spread หรือ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับพันธบัตรรัฐบาลที่แคบลง

 สะท้อนมุมมองของนักลงทุนที่ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจจะไม่น่าเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง และโดยรวมยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Risk-on) ในขณะที่ตราสารหนี้กลุ่มอื่นๆ ก็ให้ผลอตแบทนเป็นบวก แม้โดยรวมอัตราดอกเบี้ยยังเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับต้นปี ทำให้ราคาของตราสารติดลบ แต่จาก Yield-to-Maturity (YTM) ที่อยู่ในระดับสูงก็ยังเพียงพอที่จะทำให้ผลตอบแทนโดยรวมเป็นบวกได้

กลุ่มตราสารทุน (MSCI ACWI Total Return) ให้ผลตอบแทน 13.93% เทียบกับปีก่อนที่ติดลบ18.36% โดยนับว่าฟื้นตัวได้ดีหากพิจารณาสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งเรื่องของต้นทุนทางการเงิน สภาพคล่องในตลาดการเงิน และเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยหุ้นกลุ่มเติบโตเร็ว (MSCI World Growth) ให้ผลตอบแทน 24.25% นำกลุ่มหุ้นคุณค่า (MSCI World Value) ให้ผลตอบแทน 4.26% โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดคือดัชนี NASDAQ Composite ที่ 31.73% จากกระแสของการฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและ Artificial Intelligence (AI) ที่แม้จะนำโดยหุ้นหลักๆ ไม่กี่ตัว

 แต่เนื่องจากหุ้นเหล่านั้นมีขนาดใหญ่ (Mega Cap) ก็เพียงพอจะทำให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น เสริมด้วยแรงคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จะส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มเติบโตและเทคโนโลยีเหล่านี้ ถัดไปเป็นดัชนี Nikkei225 ที่ 27.19% จากหลากหลายปัจจัยทั้งเรื่องของปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคในประเทศ เช่น เรื่องแนวโน้มเงินเฟ้อที่อาจจะส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนดีขึ้น จากความสามารถในการปรับราคาสินค้า 

การคาดการณ์เรื่องของการปรับนโยบายการเงิน Yield Curve Control (YCC) ที่อาจจะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นและเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศเพิ่มเติม ปัจจัยอื่นๆ ภายในประเทศ เช่น แนวโน้มการหันกลับมาลงทุนของนักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนรายบุคคลที่อาจต้องเพิ่มการลงทุนในตราสารทุนหลังจากเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เพื่อรักษาอำนาจในการซื้อของเงินลงทุนและพอร์ตฟอลิโอ ในขณะที่ผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET) ให้ผลตอบแทนต่ำสุดในกลุ่มดัชนีหลักๆ ที่ -9.92% จากความไม่แน่นอนในเรื่องของการเมืองและปัจจัยอื่นๆ

กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (S&P GSCI Commodity) ให้ผลตอบแทน -11.41% โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง (WTI) -11.99% ส่วนหนึ่งอาจะเป็นเพราะเรื่องของทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ดูจะลดลง ซึ่งนับได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในหลายๆ ประเทศลดลง ในขณะที่ทองคำให้ผลตอบแทนเป็นบวก 5.23% จากความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก รวมถึงแรงซื้อจากกลุ่มธนาคารกลางที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องและมีส่วนที่สนับสนุนราคาทองคำ นอกเหนือไปจากความเป็นสินทรัพย์ที่ชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation Hedge) ได้ดีเป็นทุนเดิม ส่วนกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ (S&P Global REIT USD) ให้ผลตอบแทนเล็กน้อยที่ 0.37%

ในครึ่งปีหลังปัจจัยสำคัญที่ต้องจำตาดูคือเรื่องของ (1) ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศหลัก (2) แนวโน้มเศรษฐกิจจีน รวมถึงความเป็นไปได้ของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม (3) ทิศทางเงินเฟ้อ (4) ประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ และ (5) ราคาพลังงาน ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดผลตอบแทนสินทรัพย์หลักต่างๆ แต่ทิศทางโดยรวมคือการที่เศรษฐกิจโลกน่าจะชะลอตัวลง และดอกเบี้ยน่าจะเข้าใกล้สู่ช่วงท้ายของขาขึ้น ซึ่งยังคงมีความเสี่ยงอยู่ในหลายๆ ส่วน

สุดท้ายนี้หัวใจสำคัญของการลงทุนอย่างหนึ่งคือการ Rebalance พอร์ตให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนคาดหวังให้เหมาะสม เช่น หากต้องการมีน้ำหนักการลงทุนในตราสารทุน 40% เมื่อตลาดปรับตัวสูงขึ้นก็จะทำให้น้ำหนักของตราสารทุนมากขึ้นโดยอัตโนมัติ และทำให้ความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตการลงทุนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเมื่อยามที่ตลาดกลับมาผันผวนสูงอีกครั้ง และอาจทำให้เกิดผลขาดทุนได้ในอนาคต เป็นต้น

ข้อมูลจาก Bloomberg คำนวนจากต้นปีจนถึงสิ้นวันที่ 30 มิ.ย. 66

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด