นักลงทุนญี่ปุ่นจี้คลังเร่งพิธีการทางศุลกากร

นักลงทุนญี่ปุ่นจี้คลังเร่งพิธีการทางศุลกากร

“อาคม”เผย นักลงทุนญี่ปุ่นขอรัฐบาลเร่งพิธีการทางศุลกากร เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยมอบหมายให้กรมศุลกากรพิจารณาเร่งรัด หวังกระบวนการผลิตเพื่อนำเข้าและส่งออกสินค้ารถยนต์คล่องตัว ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกของประเทศขยายตัวตาม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ได้ขอให้กรมศุลกากรเร่งรัดกระบวนการในพิธีศุลกากรให้รวดเร็วขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้การผลิตสินค้าโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ ไม่สะดุด ทั้งนี้ เมื่อกลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมานี้ คณะนักลงทุนญี่ปุ่นได้มาพบตนและหารือในเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากร เพื่อทำให้ขั้นตอนการนำเข้าและส่งออก ทำได้รวดเร็วขึ้นและง่ายขึ้น  ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นนโยบายของกระทรวงการคลังอยู่แล้ว ที่จะต้องเร่งรัดกระบวนการดังกล่าวให้รวดเร็ว

เขากล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดที่มาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย เพื่อส่งไปขายทั่วโลกและรวมถึงตลาดในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันยังมีปัญหาในเรื่องการขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางตัว ส่งผลกระทบต่อSupply Chain ในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งโลก ทำให้คนที่ซื้อรถยนต์ป้ายแดงวันนี้ต้องรอรับรถเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม หากกระบวนการศุลกากรสามารถทำได้รวดเร็วขึ้นก็จะเป็นทางหนึ่งในการช่วยไม่ให้Supply Chain ในอุตสาหกรรมรถยนต์สะดุด

“ทางญี่ปุ่นต้องการให้ไทยเร่งรัดกระบวนการนำเข้าชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมรถยนต์ เพื่อให้สามารถผลิตและส่งออกตามออเดอร์ได้ รวมถึง การผลิตเพื่อขายในประเทศ ซึ่งตลาดรถยนต์ในประเทศไทยค่อนข้างเป็นตลาดที่ Hi end กว่าในต่างประเทศ เนื่องจาก ผู้ซื้อมักซื้อรถยนต์รุ่นท้อป ซึ่งต้องการชิ้นส่วนมากกว่าปกติ”

สำหรับเรื่องที่ทางญี่ปุ่นต้องการให้ฝ่ายไทยปรับปรุงนั้น นายอาคม กล่าวว่า ทางญี่ปุ่น ต้องการให้เราปรับปรุงในเรื่องของการเรื่องการระบุ Code สินค้าในการนำเข้าและส่งออกให้ตรงกัน ซึ่ง Code สินค้ามันมีระบบ Harmonize หรือระบบการกำหนด code สินค้านำเข้าและส่งออกที่เป็นสากล เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่าเป็นสินค้าชนิดใด และต้องเสียภาษีศุลกากรเท่าไหร่ ที่เป็นสากล แต่อาจมีบางกรณีที่ผู้นำเข้า เห็นว่า สินค้าชิ้นนี้อยู่ใน Codeนี้ แต่เจ้าหน้าศุลกากร ระบุเป็นอีก Code หนึ่ง  ซึ่งการกำหนดCode ที่ต่างกัน ทำให้เสียภาษีนำเข้าต่างกัน  ดังนั้น ควรมีเวทีที่เป็นเวทีหารือร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน (Common Understanding)

“ความล่าช้าในขั้นตอนของพิธีการศุลกากร บางกรณีมาจากการตีความว่า สินค้าชิ้นนั้นๆ อยู่ใน Code ใด ซึ่งในระบบการค้าระหว่างประเทศ ใช้ระบบ Harmonize 10 หลัก เป็นต้น”เขากล่าวและว่า ญี่ปุ่น เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ เรื่องของการส่งออกที่เราติดลบ เขาก็ช่วยก็เร่งรัดการส่งออก เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่อง supply chain เกิดขึ้นทั่วโลก ศุลกากรก็มีบทบาทด้วย เพื่อให้สินค้าวัตถุดิบออกได้เร็วขึ้น

ส่วนข่าวเรื่องผู้ผลิตรถยนต์อีซูซุในประเทศไทย จะย้ายฐานการผลิตไปอินโดนีเซีย ตามที่เป็นข่าวมาแล้วก่อนหน้านี้นั้น นายอาคม กล่าวว่า ทางญี่ปุ่นได้ยืนยันว่า ไม่มีการย้ายฐานการผลิตตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยของธนาคารกรุงไทย (Krungthai Compass) ได้ออกรายงานเมื่อเดือนมี.ค.นี้ว่าประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์ที่สำคัญของโลก และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานที่ มีบทบาทสำคัญ โดยในปี 2566 สินค้ากลุ่มยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกอันดับหนึ่งของไทย และมีมูลค่าส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 12.3% ต่อจีดีพี

Krungthai COMPASS คาดว่าตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ในปี 2566 จะมีมูลค่าราว 1.51 ล้านล้านบาทเติบโต 1.3% เทียบกับปีก่อน และมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง 2.6%ในปี 2567 จาก 3 ปัจจัย สนับสนุนหลัก ได้แก่ 1.การเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ทั้งในและต่างประเทศ 2.การเพิ่มของปริมาณรถยนต์และรถจักรยานยนต์สะสมที่มีอายุมากกว่า 5 ปี และ 3.ตลาดส่งออกยังมีช่องในการเติบโตได้อีกมาก