ธปท. หนุนใช้สกุลเงินท้องถิ่น ลดผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน

ธปท. หนุนใช้สกุลเงินท้องถิ่น ลดผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน

“แบงก์ชาติ” ยอมรับเงินบาทผันผวนสูงเทียบภูมิภาค ชี้เหตุจากปัจจัยภายนอกราว 60-70% เดินหน้าหนุนระบบนิเวศน์อัตราแลกเปลี่ยน เตรียมผ่อนเกณฑ์ให้เงินทุนไหลออกมากขึ้น หวังเอื้อภาคธุรกิจ - รายย่อย ลดความผันผวนค่าเงิน พร้อมหนุนใช้สกุลท้องถิ่น ลดพึ่งพาดอลลาร์

      นางอลิศรา มหาสันทนะ  ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดเงินธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา อัตราแลกเปลี่ยนของไทย ถือว่าผันผวนค่อนข้างมาก และผันผวนสูง หากเทียบกับสกุลเงินเพื่อนบ้าน และยังมากกว่าหลายสกุลในเอเชีย 

         ส่วนหนึ่งที่ทำให้ เงินบาทผันผวน หลักๆ มาจาก ปัจจัยภายนอกราว 60-70% เช่น การดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐ แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ขณะที่บางส่วนมาจากปัจจัยเฉพาะของไทย เช่น การซื้อขายทองคำในประเทศที่อยู่ระดับสูง รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่เสร็จสิ้น เหล่านี้ส่งผลให้ค่าเงินบาทผันผวนสูงขึ้น

         อย่างไรก็ตาม หากดูการเคลื่อนไหวของ ค่าเงินบาท ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน อ่อนค่าอยู่ที่ 1.6% ขณะที่ค่าความผันผวนของค่าเงินบาทอยู่ที่ 6.5% และหากมองไปข้างหน้า ภายใต้ความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่สูง มองว่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนต่อเนื่องได้

        ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ธปท.ให้ความสำคัญมาโดยตลอด และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน(เฮดจิ้ง)อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการผ่อนคลายเกณฑ์ หรือกฎระเบียบต่างๆ ของระบบนิเวศน์อัตราแลกเปลี่ยน หรือ FX Ecosystem

       ดังนั้นเพื่อสนับสนุนให้นักลงทุน ต่างชาติ หรือภาคธุรกิจนำสภาพคล่องออกไปลงทุนอย่างคล่องตัวมากขึ้น ธปท.จึงมีการผลักดันแผน FX EcoSystem อย่างต่อเนื่อง

       โดยภายใน ในไตรมาส 3 ปีนี้ ธปท.จะมีการผ่อนคลายเกณฑ์เพิ่มเติม เช่น 1.การผ่อนเกณฑ์โอนเงินออกนอกประเทศ ให้คล่องตัวมากขึ้น โดยการขยายวงเงินเพื่อวัตถุประสงค์ให้เปล่าจาก 50,000 ดอลลาร์ เป็น 200,000 ดอลลาร์ และอนุญาตให้บริษัทไทยโอนเงินไปให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ เพื่อช่วยบริหารจัดการสภาพคล่องได้ รวมถึงการขยายวงเงินลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนรายย่อย ไม่ต้องผ่านตัวแทน เป็น 10 ล้านดอลลาร์ จากเดิมกำหนดไว้ 5 ล้านดอลลาร์

        นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มสภาพคล่องให้บริษัท และนักลงทุนต่างชาติ โดยขยายขอบเขตโครงการ Non- Resident Qualified Company(NRQC) ให้บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจชำระเงินระหว่างประเทศ เข้าร่วม เพื่อให้ต่างชาติคล่องตัวมากขึ้นในการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินในไทย และอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติป้องกันความเสี่ยงค่าเงินกับสถาบันการเงินในไทยได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวกลาง

       สุดท้ายคือ การสนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างประเทศ เพื่อลดความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน ลดการพึ่งพาดอลลาร์​และหันไปใช้สกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น

        โดยในครึ่งปีหลังนี้ ธปท. จะมีการร่วมมือกับธนาคารกลางจีน และมาเลเซีย อินเดีย เพื่อผ่อนคลายเกณฑ์ที่ยังเป็นอุปสรรค เพื่อส่งเสริมให้การชำระเงินระหว่างกันมีมากขึ้น

       “แผนระยะยาวของ ธปท.คือ ต้องการปรับโครงสร้างตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ให้เอื้อต่อการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ เอื้อให้กิจกรรมต่างๆ ที่มาจากนักลงทุนต่างชาติคล่องตัวมากขึ้น โดยการเปิดให้นักลงทุนมีทางเลือก ในการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนมากขึ้น และเพื่อดูแลความผันผวนของค่าเงินบาท เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์ ความผันผวนได้ โดยเฉพาะที่มาจากปัจจัยต่างประเทศ ดังนั้นเรื่องการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนเรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญ”

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์