FedNow : CBDC และอนาคตรูปแบบการเงินของสหรัฐ

FedNow : CBDC และอนาคตรูปแบบการเงินของสหรัฐ

สหรัฐจะเปิดตัว FedNow หรือ ระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์ ในเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะหลายประเทศทั่วโลกได้จัดให้มีระบบในลักษณะดังกล่าวแล้ว แต่ FedNow อาจมีนัยที่สำคัญบางประการกับการพัฒนา CBDC และระบบการเงินของสหรัฐ

FedNow คืออะไร
บริการ FedNow คือ การให้บริการระบบโอน/รับเงินแบบทันทีที่พัฒนาโดยธนาคารกลางสหรัฐ โดยระบบจะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักที่ให้สถาบันการเงินทุกขนาดทั่วสหรัฐ สามารถเข้ามาเชื่อมต่อข้อมูลเพื่อใช้บริการชำระเงินได้

FedNow จะเข้ามาแก้ปัญหาของระบบ ACH (Automated Clearing House) ที่สหรัฐ ใช้มากว่า 50 ปี ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องการทำ Clearing ที่ต้องดำเนินการในเวลาทำการ ทำให้การโอนเงินไม่สามารถส่งถึงผู้รับโอนได้ในทันที

ในทางตรงกันข้าม FedNow จะช่วยให้การโอนเงินทำได้ทันที 24 ชั่วโมง 365 วัน โดย Metal Blockchain เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายบล็อกเชนที่จะเชื่อมต่อกับ FedNow ซึ่งจะทำหน้าที่แปลงเงินเป็น Stablecoin เพื่ออำนวยความสะดวกในการโอนเงิน

ในทางปฏิบัติ FedNow จะทำหน้าที่เป็น Real-time gross settlement ที่ทำงานคู่กับ ACH ซึ่งสหรัฐ จะยังไม่ยกเลิก ACH เนื่องจากยังมีระบบปฏิบัติการบางอย่างที่ทำผ่าน ACH อยู่ โดยระบบทั้งสองใช้มาตรฐานข้อมูล ISO 200022 หรือมาตรฐานข้อมูลที่ใช้ในระบบการเงินสากล หรือระหว่างสถาบันการเงินด้วยกัน 

อย่างไรก็ดี “ชำระเงินแบบเรียลไทม์” ในไทยอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากระบบชำระเงินแบบ “พร้อมเพย์” (Promptpay) ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันก็สามารถทำธุรกรรมแบบทันทีตลอด 24 ชั่วโมงได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติช่องทางการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทอาจไม่ใช่แบบทันทีทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น บัตรเครดิต จะไม่อยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์แบบเรียลไทม์เป็นต้น

สถาบันการเงินใดเข้าร่วมได้บ้าง 
บริการ FedNow เป็นระบบปฏิบัติการระหว่างสถาบันการเงินเพื่อจัดการกระแสเงินสดที่เกิดขึ้นในธุรกรรมการโอน โดยระบบเปิดให้สถาบันการเงินทั่วสหรัฐ สามารถเข้าร่วมได้ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารพาณิชย์ หรือสหกรณ์ (Credit Unions)

เช่น American Bank, Capital One Financial, Farmers Insurance Federal Credit Union และ Goldman Sachs เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี ผู้ใช้บริการ และธุรกิจชำระเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank payment providers) จะไม่สามารถเชื่อมต่อบริการ FedNow ได้โดยตรง แต่สามารถโอนเงินผ่านสถาบันการเงินที่เชื่อมต่อในระบบได้ ทั้งนี้ ไม่ได้มีกฎหมายบังคับให้สถาบันการเงินต้องเข้าร่วม โดยการประสงค์จะเข้าร่วมหรือไม่นั้น เป็นไปตามหลักการสมัครใจ (Voluntary Basis)

 ทั้งนี้ อาจมีข้อสงสัยว่าผู้ให้บริการแอปพลิเคชันทางการเงิน อย่าง PayPal หรือ Venmo สามารถเข้าร่วม FedNow ได้หรือไม่? ซึ่งคำตอบ คือ แอปพลิเคชันที่ให้บริการทางการเงิน หรือ ให้บริการโอนเงิน หากไม่ใช่สถาบันการเงินตามกฎหมาย ย่อมไม่สามารถเข้าร่วม FedNow 

 FedNow กับทิศทาง CBDC
 สำหรับผู้เขียน แม้สหรัฐจะเน้นย้ำว่า FedNow เป็นเพียงระบบโอนเงินแบบทันที และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการสร้าง USD Digital Currency ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐได้ระบุว่ายังไม่ได้ตัดสินใจว่าสหรัฐฯ จะออก CBDC หรือไม่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องการตัดสินใจของสภาครองเกรสในอนาคต

  แม้ในปี 2565 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไบเดนได้เซ็นหนังสือคำสั่ง (Executive order) ถึงหน่วยต่าง ๆ เช่น กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ ประโยชน์ และความเสี่ยงในการจัดทำ CBDC

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า สหรัฐ มองว่าดอลลาร์ยังทำหน้าที่เป็นสกุลเงินหลักที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลก และเป็นสกุลเงินหลักที่ประเทศต่าง ๆ จัดเก็บไว้ในรูปแบบเงินทุนสำรอง รวมถึงตลาดการเงินและตลาดทุนก็มักมีความเกี่ยวพันหรือมีการผูกมูลค่ากับดอลลาร์ทั้งสิ้น 

FedNow : CBDC และอนาคตรูปแบบการเงินของสหรัฐ

ดังนั้น หากสหรัฐจัดทำ CBDC ข้อกังวลหลัก คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดการเงินของสหรัฐ ซึ่งอาจกระทบถึงบทบาทของธุรกิจทางการเงินเดิมและการบริการจัดการของ Fed นอกจากนี้ สหรัฐยังมีความกังวลในประเด็นเรื่องเสถียรภาพและการส่งผ่านนโยบายทางการเงิน โดยหากมีปริมาณการถือครอง CBDC เพิ่มมากขึ้น

เนื่องจากประชาชนเปลี่ยนการถือครองจาก fiat มาเป็น CBDC การดำเนินนโยบายทางการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังสามารถสะท้อนสภาวะการณ์ของเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นได้หรือไม่

    เพิ่มความเร็ว ลดความต้องการ CBDC
          บริการ FedNow มีฟังค์ชั่นสำคัญในการเพิ่มความเร็วของระบบชำระเงิน ซึ่งอาจช่วยลดความต้องการของสหรัฐฯ ในการจัดทำ CBDC ได้ กล่าวคือ หากเปรียบเทียบกับ CBDC ที่ทดลองในประเทศต่าง ๆ ธนาคารกลางอาจเข้ามาเป็น Node หรือ เป็นส่วนหนึ่งของระบบ หรือเป็นผู้พัฒนาระบบกลางที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกรรมทางการเงิน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับ FedNow คือ การสร้างแพลตฟอร์มทางการเงินที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ที่ทำให้ธุรกิจและประชาชนสามารถโอน/ชำระเงินได้ทันที ไม่ต่างจากการมีสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง  

สหรัฐเลือกที่จะพัฒนา FedNow เพื่อต้องการให้ระบบโอนเงินดังกล่าวปฏิบัติการอยู่บนระบบการเงินในแบบเดิมที่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานกำกับดูแลและสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

และยังคาดหวังให้ธนาคารกลางเป็นที่พึ่งแหล่งสุดท้ายสำหรับสภาพคล่อง (lender of last resort) ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน และยับยั้งไม่ให้เกิดระบบการเงินหยุดชะงักเพื่อดูแลสภาพคล่องที่เพียงพอและรวดเร็วต่อระบบเศรษฐกิจ
 
    Digital Dollar Dilemma ของสหรัฐ 
นอกจากนี้ ท่าที่ของสหรัฐ ทั้งจากธนาคารกลางและกระทรวงการคลัง ชี้ให้เห็นถึงความไม่แน่นอนในการพัฒนา CBDC ประกอบกับในรายงานหลายฉบับที่จัดทำโดยทางการของสหรัฐ

 แสดงให้เห็นถึงความกังวลในด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการปรับปรับปรุงกฎหมาย Bank Secrecy Act และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการฟอกเงินและอาชญากรรมทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้คริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งอาจนำไปสู่การให้บริการทางการเงินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐ (Unlicensed Money Transmitting) 

    ท้ายที่สุด ความเคลื่อนไหวในการจัดทำ FedNow ของสหรัฐ จะกลับไปที่คำกล่าวของ Powell ที่ได้กล่าวไว้กับ House Financial Service Committee ในเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า “สหรัฐจะมีระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์ในเวลาอันใกล้” และเมื่อ FedNow ได้ใช้อย่างเต็มรูปแบบในสหรัฐ

“ประชาชนชาวสหรัฐยังต้องการ US CBDC จริงหรือไม่ และมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดต่อระบบการเงินสหรัฐ”

คอลัมน์  Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0 
สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
กระทรวงการคลัง