บรรษัทภิบาล ความยั่งยืน และการลงทุน

ประเด็นที่กำลังร้อนแรงประเด็นหนึ่งในแวดวงการลงทุนในขณะนี้ คือ เรื่องของการตกแต่งบัญชีของบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์จนก่อให้เกิดผลเสียหายในวงกว้างต่อทั้งผู้ถือหุ้นกู้และหุ้นสามัญ

ซึ่งมีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในกรณีนี้เป็นจำนวนมาก และเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เราคงต้องรอดูผลลัพธ์ของกรณีดังกล่าวกันต่อไป โดยไม่ว่าจะลงเองในรูปแบบใด แต่กรณีนี้ก็เป็นตัวสะท้อนเรื่องของความสำคัญของบรรษัทภิบาล (Governance) และอาจรวมถึงความยั่งยืนกับการลงทุนได้เป็นอย่างดี การบริหารงานและการลงทุนที่ปราศจากบรรษัทภิบาลที่ดีอาจส่งผลเสียอย่างมากต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง

ในส่วนของการลงทุน บรรษัทภิบาล (Governance) เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักควบคู่ไปกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) และสังคม (Social) หรือ “ESG” ตามแนวคิดการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment) โดยหลักการลงทุนอย่างมีรับผิดชอบ (Principles for Responsible Investment หรือ PRI) เป็นแนวคิดของหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติซึ่งให้แนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนอย่างยั่งยืนไว้ในหลากหลายประเด็น เช่น การผนวกประเด็นด้าน ESG เข้าไปในการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน การแสดงสิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับประเด็นด้าน ESG การเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG

รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและนำหลักการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบไปปฏิบัติใช้ โดยจะสะท้อนให้เห็นความเกี่ยวข้องและบทบาทสำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะนักลงทุน นักวิเคราะห์ รวมถึงผู้ถือหุ้นก็ตาม ซึ่งทุกคนล้วนแล้วแต่มีบทบาทต่อการส่งเสริมความยั่งยืนของการลงทุนได้ทั้งสิ้น

และหากเรื่องของความยั่งยืนจะผนวกอยู่กับการลงทุนได้อย่างแท้จริง ทุกคนแล้วแต่ต้องให้ความร่วมมืออย่างจริงจังในบทบาทของตนและส่งเสริมซึ่งกันและกันทั้งสิ้น นอกจากนี้แล้วผลการดำเนินงานด้าน ESG เองก็เป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างว่ามีความเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานทางการเงิน (Financial Performance) ด้วย

เครื่องมือสำคัญในการลงทุนบ้านเราในประเด็นเรื่องของความยั่งยืนมีความหลากหลายที่อาจจะช่วยให้การลงทุนยั่งยืนมีความสะดวกมากขึ้น เช่น รายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment หรือ THIS) กลุ่มดัชนีหุ้นยั่งยืนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ดัชนี SET THSI (SETTHSI) หรือ แม้แต่ดัชนีต่างประเทศที่มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่ด้วย เช่น Dow Jones Sustainability Index (DJSI)

การสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report หรือ CGR) หรือคะแนนด้านความยั่งยืนจากผู้ประเมินจากภายนอกต่างๆ ซึ่งอย่างน้อยก็อาจจะเป็นเครื่องในการช่วงกรองขอบเขตการลงทุน ตามวิธีการคัดกรองปัจจัยเชิงลบ (Negative Screening) ลงทุนเฉพาะในกลุ่มที่มีปัจจัยเชิงบวก (Positive Screening) หรือการใช้ปัจจัยเหล่านี้ผนวกเข้ากับกระบวนการตัดสินใจลงทุน (ESG Integration) อันนำมาซึ่งผลลัพท์ของการลงทุนที่ลดความเสี่ยงลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประเมินมูลค่า การกำหนดน้ำหนักการลงทุนได้

โดยแต่ละคนอาจจะมีแนวทางการลงทุนเป็นของตนเอง ซึ่งทำให้เครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ถูกนำไปใช้ในลักษณะที่แตกต่างกัน และน่าจะเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายแล้วว่า ในประเด็นเรื่องของบรรษัทภิบาลประเด็นหลักๆ ที่จำเป็นจะต้องพิจารณาหนีไม่พ้นเรื่องของประเด็นหลักๆ เช่น ความซื่อสัตย์ (Integrity) ความยุติธรรม (Fairness) ความโปร่งใส (Transparency) ความรับผิดชอบ (Responsibility) และภาระรับผิดชอบ (Accountability) ของการดำเนินกิจการ ซึ่งการลงทุนจำเป็นจะต้องตั้งคำถามและสำรวจลึกลงไปในประเด็นเหล่านี้เพิ่มเติม โดยไม่ว่าจะเป็นข้อมูลโดยตรงจากบริษัทหรือแหล่งอื่นๆ มาประกอบกันไป

ในฐานะของนักลงทุน เราจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ไม่มีการลงทุนใดที่ปราศจากความเสี่ยงของการทุจริตคอรัปชั่นอย่างสิ้นเชิง และไม่มีเครื่องมือใดหรือหน่วยงานใดที่จะช่วยป้องกันประเด็นดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารทุนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเป็นจำนวนมากและมีมูลค่ามหาศาล และเรื่องของการบริหารกิจการและการลงทุนมีลักษณะเป็นความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) ซึ่งเจ้าของกิจการย่อมมีข้อมูลมากกว่านักลงทุนหรือหน่วยงานภาครัฐฯ เสมอ

หรือหากจงใจหลีกเลี่ยงกฏระเบียบก็ต้องอาศัยระยะเวลาก่อนที่ทุกอย่างจะชัดเจนขึ้น แต่เราสามารถใช้ข้อมูลที่มีประกอบเพื่อลดความเสี่ยงในประเด็นดังกล่าวลงได้ และหากเราลงทุนอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีการนำหลักการลงทุนยั่งยืนมาปฏิบัติใช้อย่างจริงๆ จัง ก็อาจจะทำให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้ เช่น เรื่องของไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งบัญชี การใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหุ้น การเปิดเผยข้อมูลแบบไม่โปร่งใสบิดเบือนต่างๆ มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยครั้งลงไป

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด