หากพ่อแม่เสียชีวิต ลูกจำเป็นต้อง ‘ใช้หนี้’ แทนหรือไม่ ?

หากพ่อแม่เสียชีวิต ลูกจำเป็นต้อง ‘ใช้หนี้’ แทนหรือไม่ ?

เป็นปัญหาของหลายครอบครัว เมื่อพ่อแม่ก่อหนี้สินไว้ แล้วเสียชีวิตลง ตามกฎหมายแล้วลูกต้องชดใช้หนี้แทนพ่อแม่โดยอัตโนมัติ (เฉพาะหนี้ในระบบ) เพราะหนี้ของพ่อแม่ถือเป็นมรดกอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ลูกสามารถใช้หนี้แทนในจำนวนที่ไม่เกินกว่ามรดกที่ได้รับ

Key Points:

  • ตามกฎหมายแล้วเมื่อพ่อแม่เสียชีวิตลง มรดกของพ่อแม่ (ทั้งเงิน สินทรัพย์ และหนี้สิน) จะตกมาสู่ทายาทโดยอัตโนมัติ หากพ่อแม่มีหนี้ ลูกก็ต้องใช้หนี้แทน แต่ต้องไม่เกินกว่ามรดกที่ลูกได้รับ
  • แม้ว่าหนี้สินของผู้ตายจะถือเป็น “มรดก” ที่เจ้าหนี้สามารถทวงคืนจากทายาทได้ แต่หากทายาท ไม่ได้รับมรดกอื่นๆ เลย เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถบังคับให้ทายาทหาเงินเพื่อมาใช้หนี้แทนผู้ตายได้
  • ตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้ทายาทใช้หนี้แทนนั้น ใช้ได้กับหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้กับหนี้นอกระบบ

“หากพ่อแม่เสียชีวิตลง ลูกจำเป็นต้องใช้หนี้ที่พ่อแม่ก่อไว้แทนหรือไม่?” เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยและมีการหยิบยกมาถกเถียงกันในโลกออนไลน์บ่อยครั้ง ซึ่งในที่นี้หมายถึง “หนี้ในระบบ” หรือหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น เช่น หนี้ธนาคาร หรือ หนี้สหกรณ์ หรือหนี้อื่นๆ ที่กฎหมายรองรับ ขณะที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ป.พ.พ. มาตรา 1601 ระบุไว้ว่าทายาทต้องใช้หนี้แทนพ่อแม่ แต่ต้องไม่เกินกว่ามรดกที่ได้รับ 

หมายความว่า ในกรณีที่ลูกได้รับทรัพย์สินมรดกมาจากพ่อแม่ที่เสียชีวิต หากพ่อแม่มีหนี้ลูกก็จำเป็นจะต้องหักส่วนต่างในมรดกที่ได้มา นำไปใช้คืนให้กับเจ้าหนี้ เพราะถือว่าทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นของพ่อแม่เช่นเดียวกับ “หนี้สิน” แต่ถ้าหากมรดกที่ได้รับมามีมูลค่าน้อยกว่าหนี้สินที่พ่อแม่ก่อไว้ คนเป็นลูกก็ไม่จำเป็นต้องหาเงินมาจ่ายให้กับเจ้าหนี้เพิ่ม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าพ่อแม่มีหนี้ 5 ล้านบาท แล้วลูกได้รับมรดกจากพ่อแม่มา 1 ล้านบาท ตามกฎหมายจะบังคับให้ลูกนำมรดก 1 ล้านบาทนั้นไปใช้หนี้แทนพ่อแม่ แต่ส่วนต่างที่เหลืออีก 4 ล้านบาท ทายาทไม่ต้องใช้หนี้ในส่วนนั้น

ส่วนกรณีกระแสร้อนแรงในโลกโซเชียลที่ระบุถึง เจ้าหนี้บางแห่งมีการนำเอกสารที่เรียกว่า “หนังสือยอมรับสภาพหนี้” มากดดันให้ทายาทเซ็นยินยอม โดยอ้างว่าหากไม่เซ็นจะมีการยึดบ้านยึดทรัพย์สิน ฯลฯ หากเป็นหนี้ในระบบ เอกสารชุดนั้นจะไม่มีผลใดๆ ในทางกฎหมาย แม้ว่าทายาทจะเซ็นหรือไม่เซ็นก็ตาม ถ้าพ่อแม่มีหนี้ เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ทายาท (เฉพาะที่ได้รับมรดก) ก็ต้องมีหน้าที่จ่ายหนี้นั้นอยู่ดี แต่ต้องไม่เกินกว่ามรดกที่ได้รับตามที่อธิบายไปข้างต้น

 

  • มรดกคืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับ “หนี้มรดก”

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “มรดก” คือทรัพย์สินทุกอย่างของผู้ตายที่มีอยู่ก่อนเสียชีวิต รวมถึงสิทธิผูกพันในสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ สิทธิและหน้าที่ในการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ ไปจนถึงความรับผิดชอบต่างๆ เช่น การผิดสัญญาและการละเมิด ทั้งหมดนี้เรียกรวมกันว่า “กองมรดกของผู้ตาย”

เมื่อผู้ตายเสียชีวิตลง ตามกฎหมายแล้วมรดกเหล่านั้นก็จะถูกตกทอดมายังทายาทโดยอัตโนมัติ โดย “ทายาท” ที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย มี 2 ประเภท คือ

1. ทายาทโดยพินัยกรรม คือ ผู้ที่มีสิทธิรับมรดกตามที่ผู้ตายกำหนดไว้ในพินัยกรรม โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทหรือญาติที่มีความเกี่ยวข้องกันโดยสายเลือด

2. ทายาทโดยธรรม คือ ผู้ที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายแม้ว่าจะไม่มีการเขียนพินัยกรรมไว้ก่อน มีทั้งหมด 6 ลำดับ คือ ผู้สืบสันดาน (คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่และลูก) บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดา พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดา ปู่ย่าตายาย และ ลุงป้านาอา ตามลำดับ

ดังนั้นเมื่อทายาทได้รับมรดกมาจากผู้ตาย นั่นหมายความว่าต้องรับภาระ “หนี้สิน” ของผู้ตายติดมาด้วย จึงเป็นที่มาของคำว่า “หนี้มรดก” ซึ่งทายาทที่ได้รับมรดกมา จำเป็นต้องตรวจสอบก่อนว่าได้รับหนี้สินตกทอดมาด้วยหรือไม่ ถ้ามี! ก็ต้องดูว่าเป็นจำนวนเท่าไร 

 

  • ลูกต้องจ่ายหนี้แทนพ่อแม่ แต่เฉพาะในกรณีที่ได้รับมรดกมาเท่านั้น

เมื่อทายาทได้รับ “หนี้สิน” มาพร้อมกับ “มรดก” ทำให้เกิดคำถามว่าจำเป็นจะต้องใช้หนี้แทนพ่อแม่ที่เสียชีวิตไปหรือไม่ ? เรื่องนี้มีคำตอบจาก “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)” ทั้ง มาตรา 1601 และ มาตรา 1754 ที่อธิบายไว้ว่า หากทายาทได้รับ “มรดก” มาจากลูกหนี้ (พ่อแม่) ที่เสียชีวิตไป ก็จำเป็นจะต้องหักเงินหรือนำส่งทรัพย์สินเหล่านั้นให้กับเจ้าหนี้เช่นเดียวกัน แต่ก็ใช้ได้เฉพาะกับกรณีที่ได้รับมรดกเท่านั้น เพราะหากทายาทไม่ได้รับมรดกมาเลยก็ไม่จำเป็นต้องนำเงินของตัวเองไปใช้หนี้แทนพ่อแม่

ที่สำคัญ “หนี้สิน” ที่ติดมากับ “มรดก” มีอายุความเพียงแค่ 1 ปี หลังจากที่พ่อแม่เสียชีวิตเท่านั้น หากเลยช่วงเวลาดังกล่าวไปแล้ว เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถมาติดตามทวงหนี้จากทายาทได้เช่นกัน แต่ในที่นี้หมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสถานะตามกฎหมายรับรองเท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้กับหนี้นอกระบบ

เมื่อเจาะลึกลงไปก็พบรายละเอียดของ ป.พ.พ. มาตรา 1601 ระบุว่า ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน หมายความว่า เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต เจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร สินเชื่อ บัตรเครดิต หรือเงินกู้สหกรณ์ต่างๆ สามารถส่งหนังสือขอให้ทายาทใช้หนี้แทนลูกหนี้ที่เสียชีวิตได้ สำหรับกรณีที่ได้รับมรดกมา ทายาทจะต้องหักมรดกให้กับเจ้าหนี้ตามจำนวนหนี้จริง

สอดคล้องกับ ป.พ.พ. มาตรา 1754 ที่ระบุว่า หากเจ้ามรดก (ลูกหนี้ที่เสียชีวิต) มีหนี้สิน หนี้สินนั้นถือว่าเป็นมรดก เจ้าหนี้สามารถทวงเงินกับทายาทได้เพียงเท่ากับมรดกที่ได้รับเท่านั้น หากมีหนี้มากกว่านั้นทายาทก็ไม่ต้องชำระ

เพราะฉะนั้นหากดูรายละเอียดตามข้อกฎหมายแล้ว จะเห็นคำตอบชัดเจนว่า เมื่อพ่อแม่เสียชีวิตและยังมีหนี้สินติดค้างที่ไม่ได้ชำระตามกฎหมาย เจ้าหนี้สามารถเรียกรับหนี้สินจากทายาทได้เฉพาะในส่วนของมรดกเท่านั้น หากค้างชำระเกินกว่านั้น หรือทายาทไม่ได้รับมรดก เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถติดตามทวงหนี้ได้ แต่ก็ต้องย้ำว่ากระบวนการดังกล่าวจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเป็นหนี้ในระบบเท่านั้น

อ้างอิงข้อมูล : Promotions, สำนักงานกฎหมาย ทนายธนู, Lumpsum, สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน, Lawman และ สำนักงานกิจการยุติธรรม