รายได้จากสัตว์เลี้ยง ใครต้องเสียภาษี พร้อมวิธีคำนวณภาษี

รายได้จากสัตว์เลี้ยง ใครต้องเสียภาษี พร้อมวิธีคำนวณภาษี

เมื่อน้องหมาน้องแมวที่เลี้ยงไว้หน้าตาน่ารัก คาแรกเตอร์จัด จนเป็นที่รู้จัก ขึ้นแท่นเซเลบหมาแมว และเริ่มมีสินค้าติดต่อไปออกงานอีเวนต์ ถ่ายโฆษณา ก็เป็นหน้าที่ของเหล่า “ทาส” หรือเจ้าของที่ต้องเสียภาษีแทนสัตว์เลี้ยงในชื่อของตัวเอง

จากสถิติพบว่าคนไทยเกือบ 50% นิยมเลี้ยงสัตว์เหมือนลูกในไส้ ลงทุนลงแรงกับสัตว์เลี้ยงของตนจนไปเข้าตาแบรนด์สินค้าต่างๆ สัตว์เลี้ยงของใครหลายคนจึงถูกทาบทามให้ถ่ายโฆษณา บ้างก็ได้รีวิวสินค้า หรือบางรายเลี้ยงสัตว์ไว้จำนวนมาก แถมมีแต่สัตว์แปลก น่าตื่นตา ก็มักเปิดบ้านเก็บค่าเข้าชมเพื่อให้เพลิดเพลินกับสัตว์เลี้ยงของตนเอง

โดยรายได้ลักษณะต่างๆ เหล่านี้ ผู้เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง มีหน้าที่ต้องเสียภาษีแทนสัตว์เลี้ยงในชื่อของตัวเอง กล่าวคือต้องนำรายได้ดังกล่าวมาคำนวณรวมกับรายได้หลัก และรายได้อื่นๆ ของเจ้าของสัตว์เลี้ยง เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสียในแต่ละปี

ดังนั้น หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีรายได้หลายช่องทาง แถมสัตว์เลี้ยงของตนยังสร้างรายได้ให้อีกด้วย ก็ควรวางแผนคำนวณภาษีให้ดีก่อนยื่นภาษีประจำปี ว่ารายได้จัดอยู่ประเภทเงินได้พึงประเมินไหนบ้าง มีการคำนวณภาษีอย่างไร

  • รายได้จากสัตว์เลี้ยง...เจ้าของต้องเป็นผู้เสียภาษี

หากสัตว์เลี้ยงสร้างรายได้ให้กับเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์เพื่อจำหน่าย การฆ่าสัตว์เพื่อจำหน่าย หรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อให้บริการ การจ้างโฆษณาต่างๆ รายได้ที่ได้รับจากสัตว์เลี้ยงนี้ ถูกจัดว่าเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 หรือเงินได้ 40(8) ซึ่งเป็นเงินได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษี

ดังนั้น เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยนำรายได้จากสัตว์เลี้ยงมาคำนวณภาษีร่วมกับรายได้อื่นๆ ด้วย โดยเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ คือ หักแบบเหมา 60% หรือ เลือกหักแบบตามจริง แต่ต้องมีเอกสารหลักฐานครบทุกใบ และยื่นภาษีด้วยกัน 2 รอบ คือ

- ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ให้นำรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน ของปีภาษีนั้น (หากมีรายได้มากกว่า 60,000 บาท (โสด) หรือมีรายได้ร่วมกันกับคู่สมรสเกิน 120,000 บาท) มายื่นภาษีช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน ของปีที่มีเงินได้ หรือยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตได้ภายในวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี

- ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) ให้นำรายได้ช่วงเดือนมกราคม - ธันวาคม ของปีภาษี ยื่นภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม ของปีภาษีถัดไป หรือยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตภายในวันที่ 8 เมษายนของปีถัดไป

  • ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงจะถูกหักภาษีไว้ 3-5% ขึ้นอยู่กับประเภทการรับงานของสัตว์เลี้ยง เช่น หากรับเงินในฐานะเป็นนักแสดง เช่น แสดงละคร หรือแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 5% แต่ถ้าสัตว์เลี้ยงของคุณรับรีวิวสินค้า รับจ้างถ่ายโฆษณา บริการ ส่วนใหญ่จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 3%

โดยกฎหมายกำหนดอัตราถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแตกต่างกันตามประเภทเงินที่ได้รับ ดังนี้

- ค่าจ้างและเงินเดือน ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายต่ำสุด 0%  
- จ้างทำงานหรือบริการ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายต่ำสุด 0%
- จ้างบริการวิชาชีพอิสระ ประกอบไปด้วย 6 วิชาชีพ คือ 1) โรคศิลปะ เช่น กลุ่มเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม 2) ประณีตศิลป์ 3) สถาปนิก 4) วิศวกร 5) นักบัญชี 6) ทนายความ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%
- จ้างรับเหมาหรือบริการ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%
- ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงค่าจ้างนักแสดง ดารา นักร้อง อาชีพเพื่อการบันเทิง และรางวัลจากการแข่งขันหรือชิงโชค ค่าเช่ารถยนต์ก็จัดอยู่ในประเภทนี้ คือต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 5%
- ค่าโฆษณา ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 2%
- ค่าขนส่ง ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% ​

  • วิธีการคำนวณภาษีจากรายได้สัตว์เลี้ยง และรายได้อื่นๆ ร่วมด้วย

ในกรณีที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีงานประจำได้รับเป็นเงินเดือน และมีรายได้เสริมจากการนำสัตว์เลี้ยงมารีวิวสินค้า สามารถแสดงตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ดังนี้

สูตรคือ

(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
= ภาษีที่ต้องจ่าย

​- รายได้จากเงินเดือนประจำตลอดทั้งปี​​360,000 บาท (เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1*)
​​​​คงเหลือเงินได้สุทธิ ​200,000 บาท​​

​- รายได้จากการนำสัตว์เลี้ยงรีวิวสินค้า​​200,000 บาท (เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8**)
​​​​คงเหลือเงินได้สุทธิ ​20,000 บาท

จากนั้นนำเงินได้สุทธิมารวมกัน 200,000 + 20,000 = 220,000 แล้วนำไปเปรียบเทียบอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันไดดังนี้

รายได้สุทธิ ​1 - 150,000 บาท​​ได้ยกเว้นภาษี ​(220,000 - 150,000 = 70,000)

รายได้สุทธิ ​150,001 - 300,000 บาท ​อัตราภาษี 5%​ภาษีที่ต้องเสีย 70,000 x 5% = 3,500 บาท

และหากรายได้จากสัตว์เลี้ยงถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 3% จะเท่ากับ 200,000 x 3% = 6,000 บาท

ดังนั้น ภาษีที่ต้องเสีย 3,500 บาท จ่ายไว้ล่วงหน้าแล้ว 6,000 บาท ได้เงินภาษีคืน = 2500 บาท

แต่หากคำนวณแล้วภาษีที่ต้องเสียมากกว่าที่จ่ายไว้ล่วงหน้า ผู้มีรายได้ต้องเสียภาษีเพิ่ม

* เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 สามารถหักแบบเหมา 50% แต่เมื่อรวมหักค่าใช้จ่ายจากเงินประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 แล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท  

** เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 สามารถหักแบบเหมา 60% หรือหักตามจริง
​ ​​ ​​
สรุป

ดังนั้น หากใครมีสัตว์เลี้ยงและสามารถหารายได้จากสัตว์เลี้ยงที่รักของตนเองได้ อย่าลืมนำรายได้ดังกล่าวมายื่นภาษีในนามของผู้รับเงิน หรือเจ้าของสัตว์เลี้ยงด้วย เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องภาษีที่อาจตามมาภายหลังได้ เนื่องจากหากไม่ยื่นภาษีในส่วนของรายได้จากสัตว์เลี้ยง แต่รายได้นี้ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ทางผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ส่งเงินภาษีให้แก่กรมสรรพากร

จึงเป็นที่มาที่ทำให้ทางกรมสรรพากรสามารถตรวจสอบการยื่นภาษีของผู้มีรายได้ได้ และหากพบว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงตั้งใจไม่เสียภาษีในส่วนนี้ จะมีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 200,000 บาท จำคุกสูงสุด 1 ปี และเสียเบี้ยปรับ x2 ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย รวมถึงเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย นับตั้งแต่วันที่ครบกำหนดยื่นภาษี

----------------------------------
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting