"กองทุนหุ้นยุโรป" ยังรอสัญญาณซื้อ เศรษฐกิจเสี่ยงถดถอยครึ่งปีหลัง

"กองทุนหุ้นยุโรป" ยังรอสัญญาณซื้อ เศรษฐกิจเสี่ยงถดถอยครึ่งปีหลัง

 “เศรษฐกิจยุโรป” ถือว่า ผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายในช่วงปี 2565 ได้อย่างผิดคาด ซึ่งจากเดิมนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์กันว่าในช่วงต้นปี 2566  ยุโรปจะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

แต่ช่วงปลายปีหลายปัจจัยที่กดดัน "เศรษฐกิจยุโรป" เริ่มคลี่คลายลง ทั้งเรื่องความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์อาจยังมีอยู่แต่ไม่ได้ทวีความรุนแรงขึ้น ราคาพลังงานที่ลดลงที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในยุโรปและมีผลต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินของ ECB 

ปัจจุบันหากไปดูเงินเฟ้อของยุโรปล่าสุดอยู่ที่ระดับ 7% ถึงแม้จะอยู่ในระดับสูงแต่ลดลงจากเงินเฟ้อที่อยู่สูงกว่าระดับ 10% ซึ่งถือว่าลดลงมาพอสมควร แต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอที่ทำให้ ECB หยุดแผนการขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ 

ขณะที่ในแง่ของการลงทุน "ผู้จัดการกองทุน"  มองว่า ราคาหุ้นยุโรปยังต่ำมากเมื่อเทียบกับหุ้นทั่วโลก แม้ยังมีความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ 

แต่สามารถใช้กลยุทธ์คัดเลือกหุ้นยังมีโอกาสเติบโต  และเหมาะกับผู้ลงทุนระยะกลางถึงยาว (6 เดือนถึง 1 ปีขึ้นไป)  สามารถรับความเสี่ยงของความผันผวนและอัตราแลกเปลี่ยนได้  พร้อมกับรอจังหวะซื้อ ปลายไตรมาส 2 ต่อต้นไตรมาส 3 ของปีนี้ หากดัชนีหุ้นยุโรปอ่อนตัวลงมา 

ข้อมูลจากเว็บไซด์ "มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)"  รายงาน "กองทุนหุ้นยุโรป" ที่มีผลตอบแทนสูงสุด 5 อันดับแรก ณ 9 มิ.ย. 2566  ดังนี้ 

1. กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยุโรป แอคทีฟ (SCBEUROPE)        ผลตอบแทน 22.41% 
2.กองทุนเปิดกรุงศรี ยุโรป อิควิตี้ (KF-EUROPE )                      ผลตอบแทน  16.85%
3.กองทุนเปิดอเบอร์ดีน ยูโรเปี้ยน ซัสเทนเนเบิล เอคควิตี้ ฟันด์ (ABEG) ผลตอบแทน 15.32%
4.กองทุนเปิดเค ยูโรเปียน (K-EUROPE)                                        ผลตอบแทน 14.97%
5.กองทุนเปิดเค ดัชนีหุ้นยุโรป (K-EUK)                                          ผลตอบแทน 14.36% 

 

 

 

อย่างไรก็ดี "ตลาดหุ้นยุโรป" ยังถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนเผชิญกับภาวะถดถอยทางเทคนิคในไตรมาสแรก


นอกจากนี้ นักลงทุนวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า และธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป หลังจากธนาคารกลางแคนาดาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 4.75% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี


ขณะนี้ตลาดคาดการณ์ว่ามีโอกาส 74.7% ที่เฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. แต่จะปรับขึ้นในเดือนก.ค. ขณะที่มีโอกาส 96.3% ที่ ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในสัปดาห์หน้า

 

ดังนั้น การลงทุนหุ้นยุโรป เหมาะกับนักลงทุนระยะกลางถึงยาวที่รับความเสี่ยงต่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนได้ 

 

“บดินทร์ พุทธอินทร์” ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) ประเมินว่า ECB อาจจะขึ้นดอกเบี้ยฯได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ก่อนที่จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้  คิดว่าตลาดอาจรับข่าวนี้ไปพอสมควรแล้ว 

ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปปีนี้คาดการณ์ว่าจะโตได้เพียง 0.6% ขณะที่ไตรมาสแรก เศรษฐกิจยุโรปขยายตัวได้ 0.1% แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การคาดการณ์ที่เศรษฐกิจยุโรปที่ถูกคาดว่าจะมีโอกาสถดถอยถึง 80% ในปีที่ผ่านมาปัจจุบันโอกาสเหลือเพียง 40%  แต่ “เศรษฐกิจยุโรป” ถือว่ายัง มีความเปราะบาง ล่าสุด ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยุโรปหดตัวมากกว่า 4% ซึ่งหดตัวต่ำกว่าที่คาดไว้เพียง 2.8% 

ในด้านการลงทุน “ตลาดหุ้นยุโรป” ในช่วงเกือบ 5 เดือนแรก ทำผลตอบแทนได้น่าสนใจ  นับว่าเป็นอีกหนึ่งดัชนีที่เราได้แนะนำให้เข้าลงทุนเนื่องจากเราเห็นการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (YTD ณ 22 พ.ค. 2566) อยู่ที่ 10.3%  ขณะที่ Forward P/E ที่ 13.2 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังซึ่งอยู่ที่ 15.8 เท่าหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ประมาณ -1S.D. 
 

ขณะที่การเติบโตของกำไรต่อหุ้น(EPS Growth)ของยุโรปในปีนี้อยู่ที่ Bloomberg Consensus คาดการณ์ว่าจะหดตัวถึง -16% โดยรวมความเสี่ยงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปเนื่องจากวิกฤตเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้นยังคงกดดันตลาดหุ้น ประกอบกับแผนการทำ QT ของธนาคารกลางที่ยังดำเนินทางเดิมเข้ามากดดันตลาดร่วมกับความกังวลในภาคธนาคารอย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตัวเลขเศรษฐกิจหลายเดือนที่ผ่านมาไม่ได้อ่อนแออย่างที่คาด ประกอบกับที่ระดับราคาหุ้นที่ยังค่อนข้างถูกทำให้เรามีมุมมองเป็นกลางกับตลาดหุ้นยุโรปหลังจากนี้และอาจแนะนำเป็น Tactical Trading ในช่วงสั้น

"นิสารัตน์ ชมภูพงษ์"  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารจัดการลงทุน บลจ.ดาโอ มองวา่ การเปิดประเทศส่งผลให้ มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามา และส่งผลให้แบรนด์หรูในยุโรปมียอดขายเติบโตจากแรงซื้อของนักท่องเที่ยว อย่างเช่น  Hermès, Christian Dior, Louis Vuitton, Chanel, Yves Saint Laurent, Givenchy 
 
นอกจากนี้ยังมีสัญญาณเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงพร้อมกับความหวังที่ว่า เฟด จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยอีก  และด้านการลงทุน ตลาดหุ้นยุโรป มีราคาต่ำมาก PE ที่ระดับ 13 เท่า เมื่อเทียบกับหุ้นโลก PE  ที่ระดับ 16 เท่า แม้ตลาดกังวลเศรษฐกิจถดถอยมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในยุโรป แต่บจ.มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศค่อนข้างมาก ประกอบกับราคาพลังงานมีแนวโน้มปรับตัวลง มองว่า ผลประกอบการของบจ.ในยุโรปน่าจะยังปรับตัวได้ดี 
       

แนะกลยุทธ์ลงทุนหุ้นโรป ยังเน้นการคัดเลือกหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของยุโรปยุคใหม่ ทุกกลุ่มธุรกิจชั้นดี ในยุโรป   สามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับภาวะตลาดปัจจุบัน เช่น กองทุนเปิด ดาโอ ยุโรป ออพพอร์ทูนิตี้ ( DAOL-EUROPE)  มีหลักทรัพย์ที่กองทุนหลักลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ Teleperformance 3.37% ,ASML 2.94%  ,HELLO FRESH 2.81% ,Besi 2.70% ,netcompany 2.68%  ผลตอบแทนเฉลี่ย 8.40% ( ณ 0 พ.ค. 2566)