‘กองทุน’ แนะตัวช่วยคัดเลือก ‘หุ้นกู้’ ลดความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

‘กองทุน’ แนะตัวช่วยคัดเลือก ‘หุ้นกู้’ ลดความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

ในปัจจุบันการลงทุนใน “หุ้นกู้” ที่ออกโดยภาคเอกชน ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก”หุ้นกู้เอกชน” มักจะเสนอให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารซึ่งยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ แม้จะเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาบ้างแล้วก็ตาม

ขณะที่บริษัทเอกชนหลายแห่งซึ่งเป็นผู้ออกหุ้นกู้ก็มีความสนใจอยากกระจายเพิ่มแหล่งระดมทุนใหม่ๆ ไปยังนักลงทุนกลุ่มที่ไม่ใช่สถาบัน เราจึงได้เห็นการเสนอขายหุ้นกู้ให้กับนักลงทุนรายบุคคลเพิ่มมากขึ้น 

แต่อย่างไรก็ดีเนื่องจากการ "ลงทุนในหุ้นกู้” มีความแตกต่างจากการ ฝากเงินในธนาคาร ดังนั้นก่อนตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้ นักลงทุนควรทำความเข้าใจและพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องให้รอบด้าน เพื่อคัดเลือกหุ้นกู้ที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุดในการเลือกลงทุน 

4 ตัวช่วยคัดเลือกหุ้นกู้ลดความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

 

ทั้งนี้ “นักลงทุน” สามารถใช้แนวทางอย่าง “ผู้จัดการกองทุน” ประกอบการตัดสินใจลงทุนหุ้นกู้อย่างปลอดภัยมากขึ้น 

“ศิระ คล่องวิชา”  ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี แนะนำว่า นักลงทุนส่วนมากมักเริ่มต้นจากการดูอัตราดอกเบี้ยที่จะได้รับจากหุ้นกู้เป็นหลัก ซึ่งตามหลักการปกติหุ้นกู้ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงมักมาพร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งในด้านของอายุตราสารและความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ 

โดยการจะพิจารณาว่า “ดอกเบี้ยที่ได้รับมีความคุ้มค่าเหมาะสมหรือไม่”  จริงๆ ก็สามารถดูได้จากการเทียบเคียงกับหุ้นกู้อื่นที่มีลักษณะคล้ายกันทั้งในด้านของอายุคงเหลือและอันดับความน่าเชื่อถือ หรือสามารถเทียบเคียงดูจากเส้นอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond Yield Curve) จากสมาคมตราสารหนี้ไทยได้ 

“ถ้าหุ้นกู้ใดที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงแตกต่างจากหุ้นกู้อื่นที่มีลักษณะคล้ายกันอย่างมีนัยสำคัญ นักลงทุนควรเพิ่มความระมัดระวังและศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจ” 

ขณะที่ความเสี่ยงหลักที่สำคัญจากการลงทุนในหุ้นกู้ แน่นอนว่า คือ “ความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้” ที่ทำให้ผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยคืนครบตามจำนวน ภายในเวลาที่กำหนด 

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น 4 ตัวช่วยที่ดีในการคัดเลือกหุ้นกู้ คือ

1. การดูอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้หรือของผู้ออกหุ้นกู้รายนั้นๆซึ่งบริษัทที่เป็นผู้จัดอันดับความน่าเชื่อถือจะมีทีมนักวิเคราะห์และกระบวนการประเมินความเสี่ยงที่รอบด้าน โดยอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงจะสะท้อนถึงความมั่นคงและความสามารถในการชำระหนี้ที่ดี ส่วนอันดับเครดิตที่ต่ำลดหลั่นลงมาก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ 

นอกจากการดูอันดับความน่าเชื่อถือแล้วนักลงทุนที่มีความสนใจอาจประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองเพิ่มเติมได้ จากการ 

2.ศึกษาข้อมูลของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ อาทิเช่น แนวโน้มการประกอบธุรกิจ แนวโน้มอุตสาหกรรม หรือประเด็นความเรื่องความน่าเชื่อถือของผู้บริหารและกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ เป็นต้น นอกจากความเสี่ยงด้านเครดิตแล้ว นักลงทุนควร

3.พิจารณาเรื่องระยะเวลาลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงินของตัวเอง ทั้งนี้แม้ว่าโดยปกติหุ้นกู้ที่มีอายุคงเหลือนาน มักดูจูงใจจากการให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นกู้ที่มีอายุคงเหลือไม่มาก แต่เนื่องจากหุ้นกู้เอกชนไม่ค่อยมีสภาพคล่องในตลาดรอง จึงทำให้นักลงทุนส่วนมากต้องถือครองการลงทุนไปจนครบอายุไถ่ถอน จึงจะได้รับเงินต้นคืน  ดังนั้น การเลือกลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงินของตนเองจึงมีความสำคัญ 

4. หลักการสำคัญในการเลือกหุ้นกู้ข้อสุดท้าย คือ อย่าลืมแบ่งกระจายการลงทุน โดยอย่าทุ่มเงินทั้งหมดลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง หรือลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใดมากเกินไป เพราะแม้เราจะทำการบ้านและวิเคราะห์ความเสี่ยงต่างๆ มาอย่างรอบคอบ แต่ภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินของโลกมีความผันผวนสูง อาจเกิดกรณีที่เราคาดการณ์ไม่ถึงได้เสมอ ดังนั้นการกระจายความเสี่ยงที่เพียงพอจะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการปกป้องเงินลงทุนของเราได้ในระยะยาว

 

"ชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์" รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า ความเสี่ยงในการบริการกองทุนเปิดตราสารหนี้ที่บลจ.กสิกรไทยให้ความสำคัญ ได้แก่ 

  • ความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้(default risk)
  • ความเสี่ยงเรื่องราคาตราสารจากความผันผวนของอัตราผลตอบแทนในตลาด(market / interest rate risk) 
  • สภาพคล่องของกองทุน(liquidity risk)  
  • การบริหารจัดการจึงให้ความสำคัญมากกับการคัดเลือกตราสารเข้ามาอยู่ใน investment universe 

มีการวิเคราะห์และประเมินความสามารถของผู้ออกตราสารหนี้ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ  และกำหนดอายุตราสารหนี้โดยเฉลี่ยของกองทุนให้เหมาะสมกับประเภทของกองทุน เพื่อให้สอดคล้องกับความคาดหวังผลตอบแทนและการรับความผันผวนเรื่องการเปลี่ยนแปลงราคาได้ของผู้ถือหน่วย  

นอกจากนี้ยังสำรองสภาพคล่องของกองทุนให้สอดคล้องกับประเภทของกองทุนและสัดส่วนประเภทของผู้ถือหน่วยลงทุน(ใหญ่,กลาง,เล็ก)ในแต่ละขณะ