‘หนี้ท้องถิ่นจีน’ พุ่ง 760 ล้านล้านบาท ส่อระเบิด พบหุ้นกู้ใกล้ครบดีลอื้อ

‘หนี้ท้องถิ่นจีน’ พุ่ง 760 ล้านล้านบาท ส่อระเบิด พบหุ้นกู้ใกล้ครบดีลอื้อ

“LGFVs” เครื่องมือก่อหนี้ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในจีน แผลงฤทธิ์ ทำหนี้ท่องถิ่นจีนพุ่ง 760 ล้านล้านบาท กูรูประเมินเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ และทำ ระดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรจีนลดฮวบ

Key Points

  • LGFVs ระเบิดเวลาลูกใหม่เศรษฐกิจจีน
  • หนี้ค้างชำระจาก LGFVs ท้องถิ่นจีนพุ่งสูงแตะระดับ 23 ล้านล้านดอลลาร์ (759 ล้านล้านบาท)
  • พันธบัตรที่ออกโดยท้องถิ่นจีนจ่อผิดนัดชำระหนี้ในปี 2566 อื้อ

เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์จำนวนมากต่างมองในทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจอันดับ 2 ของโลกอย่างจีนจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) พุ่งสูงขึ้นมากกว่าที่รัฐบาลกลางปักกิ่งคาดการณ์ไว้ที่ 5% 

อย่างไรก็ตามเวลาผ่านมาเกือบครึ่งปี หลายสถาบันทางการเงินเริ่มปรับลดประมาณการ ว่า เศรษฐกิจจีนอาจโตได้เพียงไม่เกิน 5% จากตัวเลขเศรษฐกิจจำนวนหนึ่งที่ไม่เป็นไปตามคาดการณ์

โดยหนึ่งใน “ต้นตอ” ของปัญหาที่คล้ายเป็นเหมือน “ระเบิดเวลา” ที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจจีนไว้คือ การที่รัฐบาลท้องถิ่นจีนใช้วิธี จัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อออกหุ้นกู้ (China Local Government Financing Vehicles : LGFVs) จำนวนมาก ซึ่ง LGFVs นับเป็น “เครื่องมือในการหาเงินของรัฐบาลท้องถิ่น” 

หน่วยงานท้องถิ่นใช้เครื่องมือทางการเงินดังกล่าวจนทำให้ ณ สิ้นปี 2565 “หนี้ท้องถิ่นของจีน” พุ่งสูงขึ้นไปแตะระดับ 23 ล้านล้านดอลลาร์ (759 ล้านล้านบาท) ตามการประเมินของนักวิเคราะห์จากโกลด์ แมนแซกส์ 

ขณะที่ เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P Global Ratings) ระบุว่า ณ สิ้นปี 2565 หนี้รวมของ LGFVs อยู่ที่มากกว่า 46 ล้านล้านหยวน หรือราว 6.5 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 214.5 ล้านล้านบาท) ในจํานวนข้างต้นมี พันธบัตรในประเทศ ที่จะครบกําหนดในปี 2566 อยู่ที่ 4.3 ล้านล้านหยวน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณ

หนี้คงค้างจาก LGFVs ของจีน

ส่วน คาร์ล หลิว (Carl Liu) นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ บริษัท ซีเค ซีเคียวริตี้ส์ (KGI Securities) ในไทเป ให้ความเห็นว่า ความเพิกเฉยของรัฐบาลจีนต่อหนี้ท้องถิ่นจะเพิ่ม ความเปราะบางทางการเงิน ของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งเป็นอันตรายต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ 

“ความสามารถในการชําระหนี้จาก LGFVs ค่อนข้างน้อย และดูเหมือนว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะพยายามระดมเงินทุนใหม่เพื่อนำมาชำระหนี้จากการใช้เครื่องมือทางการเงินดังกล่าว ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้อย่างมาก”

ด้านบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า ภาระหนี้จากเครื่องมือทางการเงินดังกล่าวสร้างแรงกดดันให้เศรษฐกิจจีนอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะ พันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลท้องถิ่นจาก LGFVs ใกล้ถึงวันไถ่ถอนเข้ามาทุกขณะ โดยบรรดานักวิเคราะห์คาดว่าการเกิด การผิดนัดชำระหนี้ หรือ เลื่อนการชำระหนี้ ในจำนวนที่สูงมากกว่าปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทรัพยากรของท้องถิ่นจีนหลายแห่งร่อยหรอ

ทั้งนี้ จากข้อมูลซึ่งรวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลด์บอล เรทติ้งส์ ระบุว่า ผลกระทบจากการใช้เครื่องมือทางการเงินดังกล่าวกระทบ “ตลาดตราสารหนี้” เรียบร้อยแล้ว โดยต้นทุนทางการเงินของ LGFVs ในมนฑล กุ้ยโจว กวางสี และยูนนาน มี อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วเฉลี่ย (Coupon Rate) ในปี 2565 สูงกว่า 5% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในการระดมทุนจากตลาดทุน 

ทั้งนี้ สิ่งที่บรรดานักวิเคราะห์กังวล คือการผิดนัดชําระหนี้ของหุ้นกู้ที่ออกโดยธนาคารเงา (Shadow Bank) อาจนําไปสู่ การลดคุณภาพของพันธบัตรที่ซื้อขายในที่สาธารณะ (Souring of Publicly Traded Bonds) ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจจีนที่อยู่ในภาวะซบเซาอยู่แล้ว

“LGFVs” คืออะไร

LGFVs คือเครื่องมือทางการเงินที่ “รัฐบาลท้องถิ่นจีน” ตั้งขึ้นมาเพื่อขอทุนเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ  ของพื้นที่โดย LGFVs เข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศจีนในช่วงวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ปี 2008 ที่รัฐบาลกลางพยายามตั้ง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ผ่านการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่น แต่สุดท้ายก็ไม่บรรลุผล เนื่องจากติดปัญหาเพดานหนี้

ระบบการทำงานของเครื่องมือทางการเงินดังกล่าวคือ รัฐบาลท้องถิ่นจะสามารถขอสินเชื่อจากธนาคารหรือขายพันธบัตรรัฐบาลผ่าน LGFVs และเมื่อได้เงินแล้วจึงนำไปสร้างเมือง สร้างถนน ระบบทางด่วน อสังหาเชิงพาณิชย์ต่าง แล้วจึงนำส่วนต่างกำไรมาจ่ายหนี้ให้กับนักลงทุน 

ปัญหาของ LGFVs

นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่าเครื่องมือทางการเงินของรัฐบาลจีนนี้นับเป็น “แหล่งเงินทุนสำคัญ” ของรัฐบาลท้องถิ่น แต่ท้ายที่สุดก็นำมาซึ่ง หนี้สินจำนวนมหาศาล 

รวมทั้งยังเปิดช่องทางให้รัฐบาลท้องถิ่นกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายได้โดยไม่ติดขัดเรื่อง “สัดส่วนหนี้เกินกำหนด” เนื่องจากหนี้สินที่เกิดจากเครื่องมือทางการเงินนี้จะไม่ได้รับการบันทึกไว้ในบัญชีของรัฐบาล

ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลให้รัฐบาลท้องถิ่นของจีนสามารถดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้มากขึ้น จนบางครั้งก็มี ปัญหาเรื่องการทุจริต ตามมา เพราะหลายโครงการคิดมาเพียงเพื่อระดมทุนให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ท้ายที่สุด นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินว่า หลานคนอาจเข้าใจว่าโครงการกู้ยืมเงินจาก LGFVs  เป็นการลงทุนที่ปลอดภัย เพราะเป็นโครงการที่ตั้งโดยรัฐบาลท้องถิ่น ทว่ารัฐบาลท้องถิ่นไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกันโครงการต่าง ๆ แต่โครงการดังกล่าวมีรูปแบบคล้าย “การระดมทุนของเอกชน” ซึ่งนักลงทุนต้องรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง แม้ว่าหลายครั้งทางการท้องถิ่นจะเข้ามาแทรกแซงเพื่อให้ความช่วยเหลือจากความเสี่ยงล้มละลาย หรือความเสี่ยงทางระบบอื่นก็ตาม 

อ้างอิง

1. Bloomberg

2. Reuters

3. Bottomliner