แกะไส้ใน ‘หนี้ครัวเรือนไทย”น่าห่วงแค่ไหน?

แกะไส้ใน ‘หนี้ครัวเรือนไทย”น่าห่วงแค่ไหน?

เครดิตบูโร เปิดไส้ใน “หนี้ครัวเรือนไทย” พบหนี้เสียบนระบบ 9.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่กำลังจะเสีย 6 แสนล้านบาท มาจากหนี้กลุ่มเจนวาย เจนเอ็กซ์รวมกัน 5 แสนล้านบาท และอยู่ที่แบงก์พาณิชย์ 2.6 แสนล้านบาท แบงก์รัฐ 2.5แสนล้านบาท หนี้รถมากที่สุด 1.9 แสนล้าน

          หากดูสถานการณ์ “หนี้ครัวเรือนไทย” ภายใต้ข้อมูลของ “เครดิตบูโร” ในไตรมาสแรกปี 2566 ที่ผ่านมา  ชี้ให้เห็นว่า แม้สถานการณ์หนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ของลูกหนี้รายย่อย แม้จะลดลงมาอยู่ที่ 7.2%  จากสิ้นปีที่ 7.4 % หรือลดลงใกล้ระดับก่อนโควิด-19

        หรือคิดเป็นมูลค่าเสียคงค้าง ก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 9.5แสนล้านบาท ลดลงจาก สิ้นปีก่อนที่ 9.8แสนล้นบาท และลดลงจากระดับสูงสุดที่เคยไปทะลุ 1ล้านล้านบาท

      แกะไส้ใน ‘หนี้ครัวเรือนไทย”น่าห่วงแค่ไหน?  เหมือนภาพ “หนี้เสีย” จะดูดีขึ้น แต่ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยวันนี้ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะยังมีอีก 2ประเภท ที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญ ถึงทิศทางหนี้เสียในระยะข้างหน้าด้วย หากบริหารจัดการหนี้ไม่ดีเพียงพอ
หนี้ตัวแรก คือ หนี้ที่อยู่ระหว่าง “การปรับโครงสร้างหนี้” และตัวที่สองคือ สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือหนี้ที่เริ่มค้างชำระ ตั้งแต่ 30วัน แต่ไม่เกิน 90วัน หรือที่เรียกว่า ลูกหนี้ในกลุ่ม Stage2 แต่ยังไม่ตกชั้นเป็นหนี้เสีย 
       “หนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้” ล่าสุด ยังอยู่ระดับสูงต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สูงต่อเนื่อง หากเทียบกับ 6 ไตรมาสที่ผ่านมา แม้ปัจจุบันจะมีมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน จากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยเอื้อให้แบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ จากผลกระทบโควิด-19 ที่ผ่านมา

หนี้ค้างชำระสูงสุดเป็นประวัติการณ์
      “หนี้ค้างชำระ” หรือที่เรียกว่า SM (Special mention) ที่ยังค้างชำระไม่เกิน 90 วัน ที่พบว่า เป็นพอร์ตที่น่าห่วงที่สุด เพราะปัจจุบัน SM ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์หากเทียบกับอดีตที่ผ่านมา 

ในหนี้ค้างชำระแบ่งเป็นอะไรบ้าง?
        ใน6 แสนล้านบาท ที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน หากคิดเป็นจำนวนบัญชีอยู่ที่ 2.37 ล้านบัญชี  
         หากนับเป็นจำนวนบัญชี พบว่า Gen Y ที่อายุอยู่ในช่วง 22-40 ปี ที่เป็นวัยหนุ่มสาวที่กำลังทำงาน เป็นกลุ่มที่มีบัญชีค้างชำระมากที่สุด 52% หรือ หากคิดเป็นจำนวนบัญชี เจนวายมีหนี้ค้างชำระสูงถึง 1.23 ล้านบัญชี ซึ่งคิดเป็นครึ่งๆของ บัญชีที่ค้างชำระมากที่สุด 
        ถัดมา Gen X  ที่อยู่ในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่เป็นวัยที่กำลังสร้างครอบครัว กลุ่มนี้มีหนี้ค้างชำระถึง 7.58 แสนบัญชี และ Baby Boomer  ที่อายุตั้งแต่ 50ปีขึ้นไป ที่เริ่มมีชีวิตการทำงาน ชีวิตครอบครัวที่มั่นคงแล้ว กลุ่มนี้ ค้างชำระอยู่ที่ 2.37 แสนล้านบัญชี

       และสุดท้าย  Gen Z ที่อายุระหว่าง 12-26ปี ที่อยู่ในวัยศึกษา และเริ่มทำงาน กลุ่มนี้ค้างชำระอยู่ที่ 1.42แสนบัญชี หากเทียบกับบัญชีที่ค้างชำระทั้งหมด 2.37 แสนบัญชี
        หากนับเป็นยอดหนี้เสียคงค้าง จากยอดค้างชำระทั้งหมด 6 แสนล้านบาท  มาจาก Gen Y 48% คิดเป็น 2.9 แสนล้านบาท Gen X  ที่ 35% หรือ 2.1แสนล้านบาท Baby Boomer  14% หรือ 8.4 แสนล้านบาท

หนี้ค้างชำระอยู่ที่ไหน อยู่กับใครบ้าง?
        หากนับเป็นจำนวนบัญชี  จากทั้งหมด 2.37 ล้านบัญชี เป็นลูกหนี้จาก ธนาคารพาณิชย์ 34% หรือราว 8 แสนบัญชี และอยู่กับแบงก์รัฐ 28% หรือ 6.6แสนบัญชี และอยู่กับธุรกิจเช่าซื้อรถ หรือ Leasing ถึง 21%  4.9 แสนบัญชี 
        และหากนับเป็นยอดเงินค้างชำระ จากทั้งหมด 6 แสนล้านบาท มียอดค้างชำระอยู่กับแบงก์พาณิชย์ 43% หรือ 2.6 แสนล้านบาท แบงก์รัฐ 41% หรือ 2.5 แสนล้านบาท และ เช่าซื้อ 13% ที่ 7.8 หมื่นบัญชี
     และพบว่า หนี้ค้างชำระส่วนใหญ่ หากคิดเฉพาะ มูลค่าค้างชำระ ส่วนใหญ่เป็นหนี้ “หนี้รถ” มากที่สุด 32% คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.9 แสนล้านบาท  “หนี้บ้าน”  27% หรือ 1.6 แสนล้านบาท และ สินเชื่อส่วนบุคคล 26% ที่ 1.6 แสนล้านบาท

แกะพฤติกรรมขอสินเชื่อของ “ครัวเรือนไทย”
     หากดูจาก ฐานข้อมูลประชากรของไทย  สิ้นปี 2564 พบว่าจากประชากรทั้งหมด มี  Gen X อยู่ที่ 15.2ล้านคน และอยู่บนข้อมูลเครดิตบูโต 8.4 ล้านคน 
    Gen Y ทั้งประเทศมีอยู่ 16.2ล้านคน อยู่บนระบบของเครดิตบูโร 11 ล้านคน Gen Z ทั้งประเทศ 11.4 ล้านคน อยู่บนข้อมูลเครดิตบูโร 1.2 ล้านคน 
    และจากข้อมูลของเครดิตบูโร พบว่า คนอายุ 31 ปี เป็นช่วงที่มีจำนวนคนมีสินเชื่อรถยนต์มากที่สุด  หรือ คิดเป็นจำนวนบัญชีถึง 198,830 บัญชี   ขณะที่คนอายุ 32 ปี เป็นช่วงที่มีจำนวนขอขอสินเชื่อบุคคลมากที่สุด ถึง 470,490 บัญชี 
    และคนอายุ 41 ปี เป็นช่วงที่มีจำนวนคนขอสินเชื่อบ้านมากที่สุด 108,056 บัญชี  และคนอายุ 43ปี เป็นช่วงที่มีจำนวนคนที่มีบัตรเครดิตมากที่สุด 243,101 บัญชี และ                 

      สุดท้ายคือ คนอายุ 59ปี เป็นช่วงที่มีจำนวนคน มีสินเชื่อเพื่อการเกษตรมากที่สุด! ถึง 125,355 บัญชี 
 

Gen Y- Gen X เป็นหนี้เสียมากที่สุด       
       หากดูการขอสินเชื่อของ “ครัวเรือนไทย”ที่อยู่บนระบบของเครดิตบูโร พบว่า  การขอสินเชื่อทั้งหมด มาจาก Gen Y  5.7 ล้านล้านบาท   และพบว่า กลุ่มนี้เป็นหนี้เสียถึง 3.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 26% ของสินเชื่อรวมของ Gen Y ทั้งหมด 
    ขณะที่ Gen X  มียอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด 4.1 ล้านล้านบาท  และเป็นหนี้เสียที่ 2.6 แสนล้านบาท หรือ 6.2% ของ Gen Y ทั้งหมด

       ซึ่งทั้งสองกลุ่มรวมกัน พบว่า มีหนี้เสียสูงถึง 6.1 แสนล้านล้านบาท หากเทียบกับ หนี้เสียคงค้างในระบบข้อมูลเครดิตบูโรที่ปัจจุบันอยู่ที่ 9.5 แสนล้านบาท 
       ถัดมา Baby Boomer  มีสินเชื่อรวมในระบบ อยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท  และมียอดเป็นหนี้เสียอยู่ที่ 7.9 หมื่นล้านบาท หรือ 6% หากเทียบกับสินเชื่อคงค้างทั้งหมด  และ Gen Z มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท  และมียอดค้างชำระที่ 1.9 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 9.3% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมดของกลุ่ม Gen Z     
       และข้อมูลเครดิตบูโร ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่า หากนับเฉพาะ คนอายุ 29 ปี พบว่า 100 คน จะมีคนที่เป็นหนี้เสีย 27 คน ที่มีหนี้เสียอย่างน้อย 1 บัญชี 
 

ห่วงลูกหนี้ตกชั้นไหลเป็นหนี้เสีย    
     “สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร)  กล่าวว่า หนี้ที่เป็นห่วงมากที่สุด คือหนี้ที่ค้างชำระ ที่มีอยู่ในระบบข้อมูลของเครดิตบูโร 6 แสนล้านบาท และในนี้ เป็หนี้ รถมากที่สุด 1.9 แสนล้านบาท และหนี้บ้าน 1.6 แสนล้านบาท 
     หนี้เหล่านี้ เป็นหนี้ที่ต้องรีบดำเนินการ เข้าสู่การแก้หนี้ และการรับความช่วยเหลือจากธนาคารต่อเนื่อง เพราะ หากดูพฤติกรรมการค้างชำระ พบว่า หากลูกหนี้ เริ่มมีค้างชำระสินเชื่อบ้าน แปลว่า ลูกหนี้สุดทางในการแก้ปัญหาหนี้สินแล้ว

      เพราะโดยปกติ หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระได้ สิ่งที่จะยอมให้เป็นหนี้เสียก่อน คือ สินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต ถัดมาสินเชื่อรถ หากผ่อนไม่ได้ 4เดือนก็ปล่อยให้ยึด  แต่บ้าน คือที่อยู่อาศัย ที่อาจลูกหนี้จะยอมสละเป็นสิ่งสุดท้าย สะท้อนว่า ลูกหนี้ไม่มีทางออกในการแก้หนี้แล้ว


     "คำถามคือ นอกจากมาตรการแก้หนี้ 9วิธีข้างต้น เพียงพอหรือไม่ ที่จะจัดการปัญหาเหล่านี้ หรือจำเป็นต้องมีมาตรการใหม่ออกมาเพิ่มเติม หรือการทำให้การแก้หนี้แต่ละกลุ่มเข้มข้นมากขึ้น เพราะหากดูการแก้ไขหนี้ที่ผ่านมา พบว่า หนี้เสียลดลงไม่ได้เร็วเหมือนที่คิด  ดูจากหนี้ ในช่วงกลางปี 2565 ที่เคยขึ้นไประดับสูงสุดที่ 1.1ล้านล้านบาท และปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 9.5 แสนล้านบาท หายไปเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ที่ต้องใช้เวลาหลายไตรมาส กว่าจะลดลงได้ ดังนั้นภายใต้ หนี้เสียเก่า ที่มีอยู่แล้ว 9.5 แสนล้านบาท จะกดต่อไปให้อยู่ระดับเดิมได้หรือไม่ และก้อนใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีก 6 แสนล้านบาท ที่กำลังจะเป็นหนี้เสีย จะทำอย่างไร"    

        และโดยปกติแล้ว หากดู หนี้ก้อนที่กำลังจะเสีย ในอดีต พบว่า มักจะไหลไปเป็นหนี้เสียที่ราว 20-30% หากเทียบกับหนี้ค้างชำระทั้งหมด แต่ปัจจุบัน แม้เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่การตัวไม่ทั่วถึง และยังมีกลุ่มเปราะบางจำนวนมาก

   ดังนั้นโอกาสที่จะเห็น “หนี้ที่กำลังจะเสีย” ไหลมาเป็นหนี้เสียอาจมากกว่าคาด กรณีเลวร้าย อาจเห็นการตกชั้นไปเป็นหนี้เสียได้ถึง 50% หรือ 3แสนล้านบาท จากทั้งก้อนที่น่าห่วง 6แสนล้านบาท