เครดิตบูโรห่วงวัยทำงาน ‘หนี้พุ่ง’ 5 แสนล้าน

“ลูกหนี้รายย่อย”น่าห่วง เครดิตบูโร ชี้ “เจนวาย-เอ็กซ์” หนี้ค้างชำระพุ่ง รวมกัน5แสนล้าน หวั่นลามเป็นหนี้เสีย ห่วงหนี้รถ-บ้านจ่อเสียพุ่ง 3.5 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่แบงก์รัฐ “ธปท.”ชี้หนี้เสียบ้านขยับ เร่งแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ ทำสัญญาลูกหนี้ใหม่

“หนี้ภาคครัวเรือนไทย”ในปัจจุบันจากข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาส 4 ที่ผ่านมา พบว่า หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 86.9% หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้คงค้างรวมที่ 15 ล้านล้านบาท แต่หนี้ที่เริ่มน่าห่วงมากขึ้น คือหนี้ที่เกิดจาก การอุปโภคบริโภค ที่มีสัดส่วนถึง 28% หรือคิดเป็นยอดหนี้คงค้างเกือบ 3 ล้านล้านบาท

นายสุรพล โอภาสเสถียร  ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า หากดูภาพรวมคุณภาพหนี้ครัวเรือนบนข้อมูลของเครดิตบูโร พบว่า แม้โดยภาพรวม “หนี้เสีย” หรือเอ็นพีแอล ของสินเชื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อบัตรเครดิตจะลดลง โดยมาอยู่ 7.2% หรือ 9.5 แสนล้านบาท จากที่เคยทะลุสูงสุด 1.1ล้านล้านบาท ในไตรมาส 2ปี 2565 ตอนเผชิญกับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรง ส่วนหนึ่งลดลงมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ การขายหนี้ของสถาบันการเงิน

สำหรับประเด็น “ห่วง”คือ “หนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ และหนี้ที่กำลังเสีย ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง โดยหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างมีสูงถึง 8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 6%ของสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้  เช่นเดียวกันกับหนี้ที่กำลังจะเสีย หรือค้างชำระไม่เกิน90วัน ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 6แสนล้านบาท หรือ 4.5%

ทั้งนี้หากดูจากลูกหนี้ในฐานข้อมูลของเครดิตบูโรพบว่า มีลูกหนี้ในกลุ่มเจนวายถึง 11 ล้านคน เจนเอ็กซ์ 8.4 ล้านคน และเจนแซด 1.2 ล้านคน หนี้ที่น่าห่วง คือ หนี้ที่กำลังค้างชำระ แต่ยังไม่เกิน 90% เพราะหากไม่สามารถแก้ไขหนี้ก้อนหนี้ทัน โอกาสที่หนี้ก้อนนี้ จะไหลมาสมทบกับหนี้เสียที่มีอยู่ในระบบอยู่แล้ว จะยิ่งทำให้การแก้หนี้เสียยากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามหากดูจากไส้ในของหนี้ก้อนที่กำลังจะเสีย 6 แสนล้านบาท มีทั้งหมด 2.37 ล้านบัญชี มาจากหนี้ กลุ่มเจนวาย 52% เจนเอ็กซ์ 32% เบบี้บูมเมอร์ 10% และเจนแซด 6% หรือหากดูจากมิติของมูลค่าหนี้ค้างชำระ เจนวาย ก็ยังเป็นกลุ่มที่ค้างชำระสูงสุดที่ 48% หรือคิดเป็นยอดหนี้ที่กำลังจะเสียถึง 2.9 แสนล้านบาท เจนเอ็กซ์ 35% หรือ 2.1 แสนล้านบาท โดย 2 ก้อนนี้รวมกัน 5แสนล้านบาทที่กำลังจะเสีย 

นายสุรพล กล่าวว่า หนี้ที่น่าห่วงก้อนนี้ มาจากธนาคารพาณิชย์ 43% หนี้จากแบงก์รัฐ 41% และธุรกิจเช่าซื้อ 13% แยกย่อยไปกว่านั้น พบว่า หนี้ค้างชำระหลักๆมาจาก สินเชื่อเช่าซื้อก้อนใหญ่ที่สุด 32% ถัดมาคือ สินเชื่อบ้าน 27% สินเชื่อพีโลน 26% สินเชื่อเพื่อธุรกิจ 8% ฯลฯ

โดยยังไม่นับรวมกับหนี้ที่เสีย หรือเป็นเอ็นพีแอลไปแล้ว ที่ปัจจุบันมีสูงถึง 9.5แสนล้านบาท ในนี้แบ่งเป็นหนี้เสียจาก เจนวาย 3.5 แสนล้านบาท จากสินเชื่อคงค้างทั้งหมดที่ 5.7ล้านล้านบาท และเจนเอ็กซ์ 2.6 แสนล้านบาท จากยอดคงค้างรวมที่ 4.1ล้านล้านบาท และเบบี้บูมเมอร์ที่เป็นหนี้เสียแล้ว 7.9 หมื่นล้านบาท จากยอดคงค้างทั้งหมดที่ 1.3ล้านล้านบาท

“หนี้ที่เป็นห่วงที่สุด คือหนี้บ้าน วันนี้หนี้บ้านอยู่ที่ราว 27% หรือราว 1.6แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ เป็นหนี้ที่อยู่กับแบงก์รัฐ และหนี้รถ ดังนั้นคำถามคือจะหยุดหนี้ที่กำลังจะเสียเหล่านี้อย่างไร ไม่ให้เพิ่มขึ้น ในภาวะที่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ส่วนใหญ่หนี้เสียมาจากกลุ่มเจนวาย ที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว กำลังสร้างตัว ดังนั้นคำถามคือ9วิธีในการแก้หนี้ปัจจุบัน เหมาะกับหนี้ที่กำลังจะเสียหรือไม่ หนี้ที่กำลังจะเสียจำเป็นต้องมีวิธีการแก้หนี้อื่นๆหรือไม่"

นางสาวสุวรรณีเจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า แม้หนี้เสียของระบบลดลง แต่ยังคงต้องติดตาม ความสามารถชำระหนี้ของกลุ่มครัวเรือนในกลุ่มเปราะบาง ที่รายได้ฟื้นตัวช้า และมีหนี้สูง 

ทั้งนี้หากเจาะไปดู “หนี้เสีย”พบว่า สินเชื่อบ้าน “หนี้เสีย”ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.16% ปรับเพิ่มขึ้น จากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 3.01% ส่วนหนึ่งมาจาก ดอกเบี้ยที่ขยับเพิ่มขึ้นด้วย แม้โดยปกติ สินเชื่อบ้านมักจะมีการเก็บ “บัฟเฟอร์” Buffer ไว้แล้ว เพื่อรองรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

สำหรับปัจจุบันจะเห็นว่า ตัวที่บัฟเฟอร์ที่มีไม่เพียงพอ ดังนั้นสิ่งที่ธปท.หารือกับสถาบันการเงิน คือให้เร่งเข้าไปดูแลลูกค้า โดยเฉพาะเงินงวดเดิมที่กำหนดไว้ อาจไม่เพียงพอชำระ อาจต้องเร่งเจรจาในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือปรับระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวออกไป*