‘ยูโร’ แข็งขึ้น 13% กระทบส่งออกยุโรปหนัก กูรูฟันธง ‘กำไรต่อหุ้น’ ส่อฮวบ 2-3%

‘ยูโร’ แข็งขึ้น 13% กระทบส่งออกยุโรปหนัก กูรูฟันธง ‘กำไรต่อหุ้น’ ส่อฮวบ 2-3%

“ภาคการส่งออก” ของยุโรปได้รับผลกระทบหนัก จากสกุลเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้น โดย “ยูโร” แข็งขึ้น 13% ส่วนกูรูประเมินหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น “กำไรต่อหุ้น” ส่อลด 2-3%

Key Points

  • สกุลเงินในทวีปยุโรปแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางดอลลาร์ที่เสื่อมค่า
  • สกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้น 13% 
  • กำไรบริษัทที่อยู่ใน “ดัชนี Stoxx 60” ของยุโรป ราว 1/3 มาจากทวีปอเมริกาเหนือ
  • ส่วนบริษัทในสวิตเซอร์แลนด์ อาจกระทบน้อยสุด เหตุสกุลเงินผันผวนต่ำ

ท่ามกลางฉากหลังของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของยุโรปที่ทำกำไรได้มากกว่าที่เหล่านักวิเคราะห์คาดการณ์ ทว่า “รอยแตกร้าว” เริ่มปรากฏออกมาให้เห็นเพราะกลุ่มผู้ส่งออกเริ่มรับรู้ถึง “แรงเสียดทาน” จากอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินในภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์

โดยเหล่านักวิเคราะห์ประเมินว่า ยูโร ฟรังก์สวิส และปอนด์ สเตอร์ลิง จะแข็งค่าขึ้นอีกเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันดัชนี Stoxx 60 ของยุโรปขณะนี้ 

นอกจากนี้ข้อมูลซึ่งรวบรวมโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ระบุว่า ยอดขายของบริษัทราว 1 ใน 3 ที่คำนวณอยู่ในดัชนีดังกล่าวมาจากทวีปอเมริกาเหนือ 

จนถึงตอนนี้ แม้ผลกระทบจากการแข็งค่าของสกุลเงินในยุโรป โดยเฉพาะสกุลเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น 13% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ตั้งแต่จุดต่ำสุดในเดือน ก.ย. ทว่ากลุ่มบริษัทที่พึ่งพิงการส่งออก อย่าBayer AG และ Roche AG สองบริษัทยาสัญชาติเยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ ก็เริ่มรับรู้ถึงแรงเสียดทานจากการแข็งค่าของสกุลเงินในภูมิภาคแล้ว

‘ยูโร’ แข็งขึ้น 13% กระทบส่งออกยุโรปหนัก กูรูฟันธง ‘กำไรต่อหุ้น’ ส่อฮวบ 2-3%

บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ประเมินว่า การแข็งค่าของสกุลเงินในยุโรปอาจทำให้สถานการณ์ในภาคการส่งออกร้ายแรงมากขึ้น หากอานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีนลดลง การเติบโตอย่างยืดหยุ่นของเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว รวมทั้งสหรัฐเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

ด้าน ชารอน เบลล์ (Sharon Bell) นักกลยุทธ์ของหุ้นยุโรปอาวุโส จากโกลด์แมน แซคส์ กล่าวว่า

“การเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจยุโรปทำให้หลายคนลืมนึกถึงแรงเสียดทานจากการแข็งค่าของสกุลเงิน” พร้อมเสริมว่า “แต่ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจยุโรปจะรับรู้แรงเสียดทานนั้นในอนาคตอันใกล้ และผลกระทบจะชัดมากขึ้นในไตรมาสสองและสามปีนี้”

เบลล์กล่าวต่อ ตามหลักการทั่วไปแล้ว อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียนฯ จะลดลงประมาณ 2-3% เมื่อสกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้น 10% และผลกระทบจะชัดเจนและหลีกเลี่ยงยากขึ้นเมื่อราคาต่ำสุดของอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว “กลายไปเป็น” ตัวกําหนดมาตรฐานที่สูง ในการเปรียบเทียบแบบปีต่อปี

โดย นักวิเคราะห์จาก บลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ (Bloomberg Intelligence) ประเมินว่า ภายในสิ้นปีนี้ ยูโรจะปรับตัวแข็งขึ้นแตะระดับ 1.2 ดอลลาร์ ต่อหนึ่งยูโร ขณะที่ปอนด์ สเตอร์ลิงและฟรังก์สวิส มีแนวโน้มที่จะปรับตัวไปในทิศทางแข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกัน โดยบริษัทจำนวนน้อยกว่า 40% เท่านั้น มีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว ซึ่งลดลงจากไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 60%

ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ

ตามการวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก พบว่า บริษัทโทรคมนาคม การดูแลสุขภาพ สื่อ และสินค้าอุปโภคบริโภคของยุโรปมีรายได้จากทวีปอเมริกาเหนือ ในอัตราส่วนที่มากที่สุด 3 อันดับแรก 

‘ยูโร’ แข็งขึ้น 13% กระทบส่งออกยุโรปหนัก กูรูฟันธง ‘กำไรต่อหุ้น’ ส่อฮวบ 2-3%

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินในทวีปยุโรปนับเป็น “ดาบสองคม” สำหรับกลุ่มประเทศเหล่านั้น 

ด้านหนึ่งคือช่วยให้อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากการเสื่อมค่าของสกุลเงินของแต่ละประเทศ (Imported Inflation) ต่ำลง ซึ่งมีความสำคัญสำหรับบริษัทที่กำลังฟื้นตัวจากต้นทุนการผลิตที่สูง ทว่าอีกด้านหนึ่ง คือรายได้จากต่างประเทศมีมูลค่าน้อยลงเมื่อแปลเป็นสกุลเงินท้องถิ่น

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Bayer AG ของเยอรมนี ประเมินว่าอาจได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 1.7 พันล้านยูโร หรือประมาณ 1.8 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.94 หมื่นล้านบาท) รวมทั้ง ยอดขายทั้งปีอาจต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ในช่วงก่อนหน้า 

ขณะที่บริษัท Roche AG ของสวิตเซอร์แลนด์ ได้รับกำไรกว่าครึ่งหนึ่งมาจากตลาดในสหรัฐ โดย อลัน ฮิปเป (Alan Hippe) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน กล่าวว่า ยอดขายในไตรมาสแรกลดลง 3% ภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ แต่หากนำอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันแปรไป จะได้รับผลกระทบถึง 7%

การแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินในภูมิภาค

ขณะที่บรรดาบริษัทในยุโรปจำนวนหนึ่งกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการแข็งค่าของสกุลเงินในยุโรป ทว่านักลงทุนชาวอเมริกัน ที่ซื้อขายด้วยสกุลเงินดอลลาร์เป็นหลักก็กำลังฉลองกับผลตอบแทนจำนวนมากที่พวกเขาสร้างได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากช่องว่างอัตราแลกเปลี่ยน

โดย FTSE Europe ETF ซึ่งเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ที่ไม่มีการป้องกันความเสี่ยงและลงทุนในหุ้นยุโรปโดยเฉพาะได้รับเงินมากกว่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ (6.27 แสนล้านบาท) จากสถานการณ์ดังกล่าว

อเลสซิโอ เด ลองกิ (Alessio de Longis) ผู้จัดการกองทุนในนิวยอร์ก ของอินเวสโค (Invesco) กล่าวว่า “ความแข็งแกร่งของสกุลเงินเป็นรากฐานสําคัญ สำหรับการคาดการณ์ที่เป็นกลาง และมุมมองตลาดหุ้นในขาขึ้นของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข็งค่าของสกุลเงินยุโรปเมื่อเทียบกับดอลลาร์”

ทั้งนี้ เด ลองกิ มองว่า เงินยูโรจะแข็งค่าขึ้นเป็น 1.20-1.30 ดอลลาร์ต่อหนึ่งยูโร ได้ในอนาคต ทว่าอาจไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกำไรของบรรดาบริษัทในระยะสั้น “การประเมินมูลค่าสกุลเงินส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารทุน ด้วยกรอบเวลาที่แตกต่างกัน”

โดยบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ประเมินว่า ผู้จัดการกองทุนในยุโรปบางคนอยู่ในช่วงปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อรับกับสถานการณ์ด้านสกุลเงินที่เปลี่ยนไป โดย อเล็กซานดรา แจ็คสัน (Alexandra Jackson) ผู้จัดการกองทุน “Rathbone UK Opportunities Fund” ให้ความสนใจดัชนี FTSE 250 ที่เน้นลงทุนในประเทศมากกว่า FTSE 100 ที่ลงทุนในระดับสากล

ด้าน เอเลนอร์ เทย์เลอร์-โจลิดอน (Eleanor Taylor-Jolidon) ผู้จัดการพอร์ตการลงทุนที่ ยูเนียน บันแคร์ พรีวี (Union Bancaire Privee) ในเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า บรรดาบริษัทในสวิสอาจอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าบริษัทอื่นๆ เนื่องจากประวัติการดำเนินงานภายใต้ความผันผวนของสกุลเงินฟรังก์ที่อยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ เทย์เลอร์-โจลิดอน ตั้งข้อสงสัยกับความสามารถในการทำกำไรของหุ้นในทวีปยุโรปในภาพรวมต่อแรงกดดันด้านสกุลเงิน โดยเธอตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของเงินยูโรเมื่อเร็ว ๆ นี้

"เป็นผลมาจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ มากกว่าปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง"