แนวทางเพื่อดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง

ภาคธุรกิจทั่วโลกต่างตอบสนองและฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์โควิด 19 โดยมี M&A เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญ ในปี 2564 ธุรกรรม M&A มีมูลค่าสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นมูลค่าสูงสุดในประวัติการณ์

ในขณะที่ปี 2565 ท่ามกลางความท้าทายในหลากหลายด้าน ธุรกรรม M&A ยังคงมีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตลาด M&A ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน มีปัจจัยสนับสนุนหลักคือ หลายธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีเงินสดสำรองในระดับที่สูง และภาพรวมตลาดตราสารหนี้ที่เอื้ออำนวย

M&A สนับสนุนการสร้างเสถียรภาพของภาคธุรกิจได้อย่างไร

การใช้กลยุทธ์ M&A ได้แสดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ในการรักษามูลค่าและสร้างการเติบโตของธุรกิจ  ตลาด M&A ในปัจจุบันมีความสามารถในการตอบสนองและฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติ (Resilience)ในระดับสูง จากการวิเคราะห์ข้อมูลช่วงเวลา 40 ปีของดีลอยท์พบว่าผลกระทบในเชิงลบจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สั้นลง และการฟื้นตัวของ M&A มีแนวโน้มที่รวดเร็วขึ้น

จากอดีตสู่ปัจจุบัน.....M&A เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรักษาธุรกิจให้ยังคงดำเนินต่อไป จากการศึกษาพบว่าการฟื้นตัวของธุรกิจมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหมายถึงแผนการปฏิรูปองค์กรเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ย่อมต้องแตกต่างเช่นเดียวกัน

มองย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2551 ภาคธุรกิจต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีในการฟื้นฟู ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากผลกระทบด้านการเงินเกิดขึ้นกับทุกอุตสาหกรรม การฟื้นตัวจึงเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปและใช้เวลานาน

 

ในขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด 19 มีผลกระทบแตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือการท่องเที่ยวและการบิน ด้วยเหตุนี้การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมย่อมแตกต่างกันขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและความสามารถในการตอบสนองและฟื้นตัวของแต่ละบริษัท

จากรายงานของดีลอยท์ “Charting New Horizons” พบว่าการขับเคลื่อนองค์กรมี 2 แนวทาง ได้แก่

1การมุ่งเน้นการสร้าง Resilience ของธรุกิจ ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์ M&A แบบเชิงรับ (Defensive)

  • เร่งการสร้างประโยชน์จากการทำงานร่วมกันจากการควบรวมและซื้อธุรกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ประเมินประสิทธิผลของพอร์ตโฟลิโอและจำหน่ายสินทรัพย์ที่ไม่สอดคล้องตามแผนการเติบโตในระยะยาวของธุรกิจ
  • ปรับพอร์ตโฟลิโอการลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจหลัก ด้วยการเข้าซื้อธุรกิจของคู่แข่งขันเพื่อการควบรวมตลาด
  • พิจารณาโอกาสการลงทุนในระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) รักษาฐานลูกค้า และขยายขอบเขตตำแหน่งทางการตลาด

ความหมายของ Resilience ครอบคลุมทั้งความสามารถในการปรับตัวได้ (Adaptibility) และความสามารถในการปรับตัวอย่างรวดเร็ว (Agility) การเลือกใช้กลยุทธ์ M&A แบบเชิงรับจะช่วยธุรกิจในการสร้าง Resilience ในหลากลายมิติ เช่น การสร้างมูลค่าและการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจ และการสร้างพอร์ตโฟลิโอที่ให้ประโยชนฺสูงสุด 

กรณีศึกษาของการใช้กลยุทธ์ M&A แบบเชิงรับ เช่น ในภาวการณ์ที่ระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตชิพรายใหญ่ของโลกจึงตัดสินใจเข้าซื้อบริษัทผู้รับจ้างผลิต เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและรักษาฐานลูกค้า 

นอกจากนี้ บริษัทอาจมองหาโอกาสจากพันธมิตรทางธุรกิจกับคู่ค้า การเข้าร่วมลงทุน รวมถึง Private equity firm ความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ เช่น การแบ่งใช้ทรัพยากรบุคคลและความรู้ความเชี่ยวชาญที่มีร่วมกันจะช่วยยกระดับและเสริมสร้าง Resilience ให้กับบริษัท

2.การมุ่งเน้นการเสริมสร้างกลไกขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจ (Transformative Growth) ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์ M&A แบบเชิงรุก (Offensive)

  • เร่งการปฏิรูปโมเดลทางธุรกิจด้วยการซื้อกิจการที่สามารถเพิ่มคุณค่าด้านผลิตภัณฑ์และศักยภาพในการแข่งขัน และการขยายตลาดผ่านการเข้าซื้อธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและธุรกิจที่มีแนวคิดในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG)
  • ค้นหาโอกาสการเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจที่มีจุดมุ่งหมายในการนำพาองค์กร (Purpose-led) พันธมิตรทางธุรกิจ และธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตจากระบบนิเวศทางธุรกิจ
  • การลงทุนในธรุกิจที่ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งแตกต่างไปจากการดำเนินการทางธุรกิจแบบเดิม (Disruptive Innovation)

M&A แบบเชิงรุกเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการสร้างโมเมนตัม มากกว่า Resilience ธุรกิจสามารถดำเนินการด้วยการปฏิรูปโมเดลทางธุรกิจ ประสานความร่วมมือเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงกันระหว่างภาคอุตสาหกรรม

ธุรกิจควรพิจารณาโอกาสในการสร้าง ซื้อ หรือประสานความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นแรงผลักดันและช่วยขยายกรอบ M&A ในรูปแบบเดิมสู่รูปแบบการประสานความร่วมมือทางธุรกิจ การร่วมลงทุน และรูปแบบอื่น

กรณีศึกษาของการใช้กลยุทธ์ M&A แบบเชิงรุก เช่น บ่อยครั้งที่พบว่าธุรกิจที่มีแนวคิดการดำเนินงานแบบยั่งยืน (ESG)จะไม่สามารถประสบผลสำเร็จหากดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียว เช่น โครงการลดคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคอุตสาหกรรมการบินจะประสบผลสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งผู้ผลิตเครื่องบิน ผู้ผลิตเชื้อเพลิง และผู้ประกอบการสายการบินในการสนับสนุนการใช้ไฮโดนเจนทดแทน

อ้างอิง :  “The path to thrive: M&A strategies for a brave new world”, Deloitte 2023