คลังเผยยอดหนี้เสียพิโกไฟแนนซ์ยังทรงตัวสูง20%

คลังเผยยอดหนี้เสียพิโกไฟแนนซ์ยังทรงตัวสูง20%

คลังเผยยอดหนี้เสียพิโกไฟแนนซ์ยังทรงตัวในระดับสูงที่ 20% ของสินเชื่อคงค้างกว่า 6.39 พันล้านบาท มียอดหนี้ที่กำลังตกชั้นเป็นหนี้เสียอีกกว่า 4.72 หมื่นบัญชี เป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท ขณะที่ จำนวนผู้ให้บริการสินเชื่อดังกล่าวทรงตัวที่กว่า 1 พันราย

รายงานข่าวจาก กระทรวงการคลัง เปิดเผยสถานการณ์การค้างชำระหนี้ของลูกหนี้รายย่อยที่ใช้บริการทางการเงินพิโกไฟแนนซ์ ว่า จากข้อมูลทั้งหนี้ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน และ หนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน(หนี้เสีย) ล่าสุด ในเดือนม.ค.2566 ยังคงทรงตัวในระดับสูง โดยหนี้ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน มียอดค้างชำระเฉลี่ยประมาณ 14% ของสินเชื่อคงค้าง ส่วนหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน มียอดค้างชำระเฉลี่ยประมาณ 20% ของสินเชื่อคงค้าง

ทั้งนี้ หนี้ค้างชำระ ระหว่าง 1-3 เดือนในเดือนม.ค.2566 มีจำนวน 4.72 หมื่นบัญชี เป็นเงิน 888 ล้านบาทคิดเป็น 13.90% ของสินเชื่อคงค้าง ส่วนหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน มีจำนวน 6.21 หมื่นบัญชี เป็นเงิน 1.27 พันล้านบาท คิดเป็น 19.87% ของสินเชื่อคงค้าง โดยสินเชื่อคงค้าง อยู่ที่ 3.27 แสนบัญชี ลดลง 1.5% เทียบกับเดือนก่อนหน้า มียอดสินเชื่อ 6.39 พันล้านบาท ลดลง 3.03% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม มีจำนวน 2.9 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 4.27% เทียบกับเดือนก่อนหน้า มีวงเงินสินเชื่ออนุมัติ 2.96 หมื่นล้านบาท หรือ 2.37% เทียบกับเดือนก่อนหน้า ในจำนวนนี้ เป็นสินเชื่อแบบมีหลักประกัน 4.17 แสนบัญชี  เป็นเงิน 1.16 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน 2.49 ล้านบัญชี  เป็นเงิน 1.79 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ นับตั้งแต่พิโกไฟแนนซ์เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันมีผู้ให้บริการแล้วจำนวนกว่า 1 พันราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้ให้บริการพิโกไฟแนนซ์ 888 ราย และ พิโกไฟแนนซ์พลัส 211 ราย

สำหรับพิโกไฟแนนซ์ คือ ธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับกระทรวงการคลังที่เปิดให้ประชาชนสามารถดำเนินธุรกิจสินเชื่ออย่างถูกกฎหมายในพื้นที่ ที่ผู้ให้กู้กับผู้กู้มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน โดยบริษัทที่ผ่านการอนุญาตจากกระทรวงการคลังถือว่าเป็นสถาบันทางการเงินที่สามารถดำเนินธุรกิจสินเชื่อได้อย่างถูกกฎหมาย

สาเหตุที่ กระทรวงการคลัง ต้องเปิดให้ธุรกิจเข้ามาให้บริการสินเชื่อดังกล่าว เนื่องจากปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาซึ่งนำมาถึงการกระทำผิดกฏหมาย โดยเกิดจากลูกหนี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเงินกู้ในระบบได้ เนื่องด้วยอาชีพ รายได้ หรือ สภาพทางการเงินที่ธนาคารไม่อนุมัติให้กู้ จึงทำให้ต้องกู้กับเจ้าหนี้นอกระบบ หรือ เจ้าหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันทางการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีนโยบายเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่ายขึ้น โดยผ่านการจัดตั้ง พิโกไฟแนนซ์ ซึ่งเปลี่ยนเจ้าหนี้นอกระบบให้สามารถดำเนินธุรกิจเป็นสถาบันทางการเงินได้ เพื่อกำกับให้อยู่ภายใต้กฏหมาย 

พิโกไฟแนนซ์ให้บริการสินเชื่อที่มีลักษณะเป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ ทั้งแบบมีหรือไม่มีหลักประกัน มีการพิจารณาสินเชื่อที่ยืดหยุ่นกว่าธุรกิจสถาบันทางการเงินประเภทธนาคาร โดยมีนโยบายเหมือนกับ ไมโครไฟแนนซ์ และ นาโนไฟแนนซ์ แต่พิโกไฟแนนซ์จำกัดอยู่ที่พื้นที่ให้บริการสินเชื่อโดยผู้ให้กู้กับผู้กู้มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันเท่านั้น โดยวงเงินที่ให้จะอยู่ที่ไม่เกิน 5 หมื่นบาทสำหรับพิโกไฟแนนซ์ และไม่เกิน 1 แสนบาทสำหรับพิโกไฟแนนซ์พลัส อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36%ต่อปี