กูรู ชี้ ‘รีเซสชั่น - วิกฤติแบงก์' เท่านั้น ที่ทำให้เฟด หั่นดอกเบี้ยก่อนสิ้นปี

กูรู ชี้ ‘รีเซสชั่น - วิกฤติแบงก์' เท่านั้น ที่ทำให้เฟด หั่นดอกเบี้ยก่อนสิ้นปี

“เจพี มอร์แกน” เตือนอย่าพึ่งวางใจว่าเฟดจะหั่นดอกเบี้ยนโยบายลงก่อนสิ้นปี เพราะหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นจริง ล้วนเป็นเพราะสภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มขึ้น หรือวิกฤติในภาคธนาคารพาณิชย์เท่านั้น

Key Points

  • กูรูเตือนรีเซสชั่น และวิกฤติแบงก์เท่านั้นที่จะทำให้เฟดหั่นดอกเบี้ย
  •  ตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงที่เหลือของปี 2566 จะอ่อนตัวลง
  • นักลงทุนต้องเผชิญปัญหาอีก หนึ่งในนั้นคือ วิกฤติเพดานหนี้สาธารณะ

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานคำกล่าวของ มาร์โก โคลาโนวิช (Marko Kolanovic) หัวหน้านักวิเคราะห์ของ เจพี มอร์แกน เชส (JPMorgan Chase) วันนี้ (9 พ.ค.66) ว่า สมมติฐานของบรรดานักลงทุนที่ว่า “ช่วงเวลาที่กดดันมากที่สุด” ของตลาดหุ้นสหรัฐอาจผ่านพ้นไปแล้ว ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากความเสี่ยงที่จะเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังปรากฏขึ้นมาอยู่เป็นระยะ

โคลาโนวิช ย้ำว่า ตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงที่เหลือของปี 2566 จะอ่อนตัวลง ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ส่งผลกระทบอีกทอดหนึ่งต่อเศรษฐกิจ และปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตบางอย่าง เช่น อัตรากำไรขั้นต้นของเอกชน (Corporate Margins) ให้ขยายตัวน้อยลง

ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่เฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อประคองสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไว้ก่อน 

โดยราคาหุ้นในตลาดสหรัฐตอนนี้ (Market Pricing) บ่งชี้ว่านักลงทุนคาดว่าเฟดจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม โคลาโนวิช ระบุผ่านจดหมายถึงลูกค้าเมื่อวานนี้ (8 พ.ค.) ว่า “ประเด็นหนึ่งที่นักลงทุนในตลาดตราสารทุน (Equity) และตลาดการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ไม่ได้ประเมินคือ หากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้จริง นั้นเป็นไปได้สองทางคือ ลดเพราะการเริ่มต้นขึ้นของสภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือจากวิกฤติในภาคการเงิน ”

โดย สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า ตลอดช่วงการเทขายหุ้นครั้งใหญ่ในปี 2565 โคลาโนวิช เป็นหนึ่งในนักวิเคราะห์ที่มองสถานการณ์ในแง่บวกมากที่สุด ตามการยกย่องของวอลล์สตรีท (Wall Stree) ทว่าหลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไป เขาเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองโดยในช่วงกลางเดือนธ.ค. เขาเริ่มจัดพอร์ตการลงทุนใหม่จากลักษณะการจัดพอร์ตเดิมที่จัดตามโมเดลธนาคาร (Bank’s Model Portfolio) เป็นลักษณะอื่น จากนั้นในเดือนม.ค. และ มี.ค. เขาก็ปรับประมาณการแนวโน้มทางเศรษฐกิจปี 2566 ให้ต่ำลง 

โดย อัตราการปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุน (Low Rotation) ในหุ้นที่มีความทนทานในทุกสภาพตลาด (Defensive) ที่อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับการสิ้นสุดของวงจรเศรษฐกิจก่อนหน้า บ่งบอกว่าความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นยังห่างไกลกว่าที่นักลงทุนจะเริ่มสะสมหุ้นเพื่อเก็งกำไรจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งจากวิกฤติในภาคธนาคารของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวดของเฟดตลอดหลายปีที่ผ่านมา อาจทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้ ปรับตัวแย่ลงไปกว่าเดิม

ท้ายที่สุด นอกจากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว นักลงทุนยังต้องเผชิญอุปสรรคอื่นๆ ที่เข้ามาท้าทายการลงทุนอีกจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างระหว่างตลาดตราสารหนี้ ตลาดตราสารทุน และเฟดที่แคบลง รวมถึงความเสี่ยงที่รัฐบาลกลางจะผิดนัดชำระหนี้ เป็นต้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์