วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้เข้าสู่จุดพีคในกลางปี 2566

ธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรปยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสู้กับสงครามเงินเฟ้อที่ยังไม่จบ

แม้ต้องเผชิญกับความตึงเครียดในภาคการธนาคาร เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.75% ซึ่งเป็นการขึ้นต่อเนื่องครั้งที่ 5 นับตั้งแต่เดือนส.ค.2565 

สำหรับในช่วงที่เหลือของปี จากการที่เศรษฐกิจไทยมีโมเมนตัมเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลง ทำให้มีโอกาสที่ กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกอย่างน้อย 1 ครั้งและทำให้วัฏจักรขาขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้มีแนวโน้มสิ้นสุดที่ระดับ 2-2.25% ณ สิ้นปี 2566

วงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเศรษฐกิจหลักมีสัญญาณเข้าใกล้จุดสูงสุด ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายทศวรรษ ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปทั้งหมด 4.25% จากระดับต่ำสุดที่ 0.25% ตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา เพื่อลดความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้อัตราดอกเบี้ยขยับสู่กรอบที่ 4.5-4.75% โดยการประชุมล่าสุดเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา แม้ FED ยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ท่ามกลางความตึงเครียดในภาคการธนาคาร แต่มีการส่งสัญญาณว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้สิ้นสุดลง

สำหรับในระยะต่อไปเริ่มเห็นสัญญาณอัตราเงินเฟ้อชะลอลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 5.0% นับเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี แต่ก็ยังคงสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของ FED กว่า 2 เท่า ทั้งนี้ เมื่อมองแนวโน้มเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปยังคงอยู่ในทิศทางชะลอตัว

รวมถึงนโยบายการกำกับดูแลภาคธนาคารและการให้สินเชื่อที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยที่เข้ามากดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งในส่วนของการบริโภค การลงทุน และการจ้างงาน ให้มีแนวโน้มชะลอตัวลงสอดคล้องกับประมาณการเศรษฐกิจของ FED ซึ่งปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลงเหลือ 0.4% ปี 2566 และ 1.2% ในปี 2567

ขณะที่คาดอัตราเงินเฟ้อปีนี้จะชะลอตัวลงอยู่ที่ร้อยละ 3.3 แม้ยังคงสูงกว่าเป้าระยะยาวที่ร้อยละ 2 แต่ก็เป็นการตอกย้ำวงจรดอกเบี้ยสหรัฐฯ ขาขึ้นเป็นปลายทางแล้ว ทำให้ FED มีพื้นที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี 2566 ในระดับจำกัด และนั่นหมายถึงการสิ้นสุดของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบสงครามเงินเฟ้อที่น่าจะจบลงในปีนี้

ขณะที่ทางฝั่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) แนวทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยมีแนวโน้มเข้มงวดมากกว่า FED โดย ECB ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.50% ติดต่อกัน 6 ครั้งแล้วและมีแนวโน้มที่ปรับขึ้นต่อเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนมีนาคมยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 6.9% และระดับ 5.7% อย่างไรก็ดี ต้องจับตาความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจทำให้วงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องมีข้อจำกัดมากขึ้น

เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทย คาดว่า กนง. มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อได้อีกเล็กน้อย  โดยเส้นทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นจะเริ่มจากระดับต่ำสุดที่ 0.5% ในเดือนสิงหาคม 2565 สู่ระดับ 1.75% ในเดือนมีนาคม 2566 จากแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่สูงถึง 5.86% (เม.ย. 2565 - มี.ค. 2566) ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่กรอบ 1-3% โดยเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงสู่กรอบเป้าหมายที่ระดับ 2.4% ในไตรมาส 2 และต่ำกว่า 2% ในช่วงครึ่งปีหลังตามการคาดการณ์ราคาพลังงานโลกที่ลดลงจากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวจากการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าสามารถทำได้มากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว กอปรกับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่องหนุนด้วยภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งปีหลัง หรืออีกนัยหนึ่งเศรษฐกิจยังเข้มแข็งพอที่จะรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้

 ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% อย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วงปลายเดือนพ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม หากเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังไม่สามารถปรับลดลงตามคาดได้ และหากสูงกว่าระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าของนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยแท้จริงยังติดลบ อาจเป็นเหตุผลให้ กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ระดับ 2.0-2.25% ณ สิ้นปี 2566

นอกจากนี้ ในมุมการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมายังเปรียบเสมือนการเก็บกระสุนไว้หรือรักษา Policy Space เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินสำหรับความเสี่ยงในอนาคต  การสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ในช่วงที่สภาพแวดล้อมเอื้อให้สามารถทำได้จะทำให้มีพื้นที่ดำเนินนโยบายการเงินเมื่อเกิดวิกฤติ

 อาทิ หากมีสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกท่ามกลางผลกระทบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วของธนาคารกลางหลักอย่างธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งอาจส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ตามมาโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับปัญหาธนาคารชาติตะวันตกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น กนง. มีแนวโน้มให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้นและนำไปสู่การปรับทิศทางนโยบายการเงินไปสู่การผ่อนคลาย โดยลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจต่อไป