KKP Research เปิด “8 โจทย์” พลิกเศรษฐกิจไทย

KKP Research เปิด “8 โจทย์” พลิกเศรษฐกิจไทย

KKP ชี้ เศรษฐกิจไทยโตช้าลง ไม่สามารถแก้ได้ โดยนโยบายกระตุ้นอุปสงค์ระยะสั้น แนะเร่งแก้ 8 โจทย์ใหญ่ประเทศ หวังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโตแกร่ง

 Key points

  • KKP Research มองเศรษฐกิจไทยโตช้าลงเรื่อยๆ ต่อเนื่องมานับ10ปี ช้ากว่าในภูมิภาค ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยนโยบายกระตุ้นอุปสงค์ระยะสั้น
  • ภาคส่งออก ที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักอ่อนแรง เริ่มสูญเสียความสามารถแข่งขัน ภาคท่องเที่ยวก้าวขึ้นมาเป็นเครื่องยนต์หลัก แต่อาจไม่สามารถเป็นกำลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้ดีเท่าอดีต
  • ชู 8โจทย์ใหญ่ ของเศรษฐกิจไทย ที่กำลังเผชิญปัญหาและกำลังทวีความรุนแรงขึ้น จำนวนแรงงานไทยกำลังหายไป 3 ล้านคน โลกกำลังเผชิญกับการทวนของโลกาภิวัตน์ การเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี 
  • ผลลัพท์ หากไม่เร่งแก้ปัญหา คนไทยอาจเผชิญความมั่นคงด้านรายได้ เป็นหนี้เรื้อรัง ความสามารถแข่งขันไทยลดลง ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพ และข้อจำกัดในชีวิตเพิ่มขึ้น จากปัญหามลพิษของไทยที่เร่งตัวขึ้น 
     

     
KKP Research เปิด “8 โจทย์” พลิกเศรษฐกิจไทย

  KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ภาพรวมนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองในปัจจุบันมุ่งเน้นตัวเลขการให้เงินสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินสวัสดิการ เงินอุดหนุน การแจกเงิน หรือการพักหนี้ โดยอาจหย่อนการพิจารณาด้านความเป็นไปได้ และต้นทุนของนโยบายทั้งในมิติของค่าเสียโอกาส และผลที่จะตามมาจากการบิดเบือนแรงจูงใจ และกลไกตลาดอย่างจริงจัง และเพียงพอ

         ตรงกันข้าม นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ต้นตอเชิงโครงสร้าง และยกระดับรายได้ในระยะยาวที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพลิกประเทศกลับยังไม่ถูกหยิบยกมาอภิปรายอย่างเด่นชัด

       เศรษฐกิจไทยกำลังจะโตช้าลงเรื่อยๆ ต่อเนื่องมานับ 10 ปี และช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค โดยเกิดจากความสามารถในการสร้างผลผลิตของไทยที่มีแนวโน้มแย่ลงในหลายมิติ ซึ่งชัดเจนว่าเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วย เฉพาะนโยบายกระตุ้นอุปสงค์ระยะสั้น เห็นได้จาก 

    1) การส่งออกที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยเริ่มอ่อนแรงลงจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน 

    2) ภาคการท่องเที่ยวที่ก้าวขึ้นมาเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจสำคัญตั้งแต่ปี 2012 ถึงแม้จะฟื้นตัวได้หลังโควิด แต่ในอนาคตอาจไม่สามารถเป็นกำลังขับเคลื่อนหลักได้ดีเท่าในช่วงที่ผ่านมา 

      และ 3) ภาคเกษตรไทยที่มีสัดส่วนแรงงานถึง 1 ใน 3 ของประเทศ ประสบกับปัญหาผลิตภาพที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเหมาะสม 

    KKP Research เปิด “8 โจทย์” พลิกเศรษฐกิจไทย

   KKP Research ต้องการนำเสนอโจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ที่เราต้องช่วยกันตอบ ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศไทยกำลังเผชิญในปัจจุบัน และกำลังทวีความรุนแรงขึ้นในหลายด้าน คือ 

       1) จำนวนแรงงานไทยที่กำลังจะหายไปอีก 3 ล้านคนภายในปี 2030 และ 11 ล้านคนภายในปี 2050

       2) โลกที่กำลังเผชิญกับการทวนกลับของโลกาภิวัตน์(deglobalization) และการดึงกลับของฐานการผลิต (reshoring) ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศเริ่มลดลง 

      3) การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี (Technology Disruption) ความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมเก่า 

       4) การแข่งขันในตลาดที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ธุรกิจไทยขาดแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรม เกิดการกระจุกตัวของรายได้ และกำไรของบริษัท 

        5) คุณภาพการศึกษาไทยที่ด้อยลง ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่สูงขึ้น 

        6) การก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มขั้น (super aged society) ของไทย ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาด้านการคลัง ระบบสาธารณสุข และภาระสวัสดิการของภาครัฐ 

       7) ความมั่นคงทางพลังงาน และการขาดดุลด้านพลังงานกำลังรุนแรงขึ้น จากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังลดลง และ 

       8) ปัญหามลพิษและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และการขาดมาตรการรับมือที่เหมาะสมของไทย

     ทั้งนี้ หากยังไม่มีการดำเนินนโยบายที่ตอบโจทย์ใหญ่ข้างต้น หรือนโยบายยังเป็นไปในแบบที่เกิดขึ้นในอดีตมีแนวโน้มที่จะเกิดผลลัพธ์ดังต่อไปนี้

       ผลลัพธ์ที่ 1 คนไทยขาดความมั่นคงในรายได้ รายรับโตไม่ทันกับรายจ่าย เป็นหนี้เรื้อรัง ความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลงทั้งในภาคการผลิต การส่งออก การท่องเที่ยว และภาคการเกษตร จะเป็นปัจจัยที่ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยโตช้าลงเรื่อยๆ 

      ในขณะที่รายจ่ายของคนไทยมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเร็ว จากทั้งเงินเฟ้อที่อาจอยู่ในระดับสูงกว่าในอดีตจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจและการค้าโลก ค่าใช้จ่ายราคาพลังงาน และค่าไฟฟ้าในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการพึ่งพาการนำเข้า LNG เพื่อผลิตไฟฟ้ามากขึ้น

      ผลลัพธ์ที่ 2 โอกาสคนที่เกิดมาจนจะถีบตัวเองขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางหรือคนรวย (economic mobility) จะเป็นไปได้ยากขึ้นมาก ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และสินทรัพย์รุนแรงเป็นลำดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว 

      โดยกลุ่มคนรวยมีรายได้ที่เติบโตเร็วกว่ากลุ่มคนรายได้น้อยมาโดยตลอด การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มโตได้ช้าลงในอนาคต  ปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านคุณภาพการศึกษา การผูกขาดทางธุรกิจของทุนใหญ่ จะทำให้โอกาสของคนรายได้น้อยในการเติบโต และสร้างความมั่นคงในชีวิต ครอบครองสินทรัพย์พื้นฐาน เช่น ที่ดิน ที่อยู่อาศัย เป็นไปได้ยากขึ้นมากในอนาคต

       ผลลัพธ์ที่ 3 คนไทยต้องแบกรับภาระภาษีมากขึ้น สวัสดิการจากภาครัฐอาจต้องลดลง จากภาระการคลังของภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการ เบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ และค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ 

       ในขณะที่รายรับภาครัฐจะลดลงจากฐานภาษีที่แคบลงตามการลดลงของคนวัยทำงาน ระดับหนี้สาธารณะที่อาจแตะขอบบนของเพดานได้ จะทำให้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายภาครัฐอาจจำเป็นต้องลดสวัสดิการของประชาชนลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย หรือเก็บภาษีเพิ่มขึ้นกับผู้จ่ายภาษีในระบบเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้ของภาครัฐให้ทันกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

       ผลลัพธ์ 4 ชีวิตเปื้อนฝุ่น ปัญหาสุขภาพ และข้อจำกัดในการใช้ชีวิต ปัญหามลพิษของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากฝุ่น PM 2.5 ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากจะสร้างข้อจำกัดในการใช้ชีวิตของผู้คนแล้ว ยังเป็นสาเหตุให้คนไทยเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 14% กระทบต่อพัฒนาการของเด็กในหลายมิติ 

        และมีแนวโน้มส่งผลกระทบกับอาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น หาบเร่แผงลอย ก่อสร้าง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรายได้น้อย จะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากฝุ่นได้ยาก เป็นอีกหนึ่งปัจจัยซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

      หากโจทย์ใหญ่เชิงโครงสร้าง 8 ด้าน ยังเป็นเหมือน “คำถามที่ยังไม่มีใครตอบ” จะนับเป็นการเสียโอกาส โดยเฉพาะในเมื่อนโยบายที่อาจแก้ปัญหาได้ตรงจุด บ่อยครั้งก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินภาครัฐมากเท่ากับวิสัยทัศน์ การมีเป้าหมายที่ชัดเจน และความกล้าทางการเมือง ตัวอย่างเช่น การปฏิรูปกฎหมายแรงงาน การแก้กฎหมายเพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและลดการผูกขาด การให้ความคุ้มครองด้านสิทธิทางปัญญาที่ได้มาตรฐานสากล การปฏิรูประบบการศึกษา การปฏิรูปโครงสร้างภาษี เป็นต้น

     ดังนั้น การมีส่วนร่วมของประชาชนที่สำคัญคือ การตั้งคำถามต่อนโยบายโดยเฉพาะในมิติที่ว่า 1) ทำได้จริงไหม 2) มีต้นทุนเท่าไร และจะจ่ายอย่างไร 3) คุ้มค่าหรือไม่ 4) ผลข้างเคียงคืออะไรจะเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร 

      และ 5) แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ เพื่อให้พรรคการเมืองมีความรับผิดชอบต่อการนำเสนอนโยบาย อันจะสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการทำนโยบายที่คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนบนวิถีของประชาธิปไตย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์