สิ่งที่ตามมาหลังปัญหาธนาคารในสหรัฐฯ กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของหุ้นสหรัฐฯ

สิ่งที่ตามมาหลังปัญหาธนาคารในสหรัฐฯ กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของหุ้นสหรัฐฯ

ผ่านมาแล้วกว่า 1 เดือนนับจากปัญหาการล้มละลายของธนาคารในสหรัฐฯ และปัญหาขาดความเชื่อมั่นของธนาคารในยุโรป ซึ่งดูเหมือนว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่ลุกลามไปยังธนาคารอื่นๆ ณ ปัจจุบัน ส่วนหนึ่งอาจต้องให้เป็นผลงานของภาครัฐฯ ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

โดย ณ ปัจจุบันตลาดหุ้นสหรัฐฯ เองก็ดูเหมือนจะตอบรับในเชิงบวก สะท้อนจากภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ที่ยังคงทำได้ดี โดยนับจากต้นเดือน มี.ค. เป็นต้นมา ดัชนี S&P500 ให้ผลตอบแทน 4.1% (ข้อมูลสิ้นสุด ณ วันที่ 21 เม.ย. 66) โดยที่อุตสาหกรรมที่ได้รับแรงกดดันและให้ผลตอบแทนต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ คือ กลุ่มการเงิน (Financial)

ในขณะที่กลุ่มเทคโนโลยี (Information Technology) ให้ผลตอบแทนสูงสุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนมองว่าผลกระทบจะมีเฉพาะกลุ่มและไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวม และให้น้ำหนักกับโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดดอกเบี้ยลงมากกว่า

อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องความตึงตัวของสินเชื่อเริ่มได้รับการพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลัง จากความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่เพิ่มขึ้น โดยความเข้มงวดขึ้นของการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อาจจะเห็นได้ชัดในรายงานผลสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อ (Senior Loan Officer Survey) ของธนาคากลางสหรัฐฯ รายไตรมาสที่คาดว่าจะออกในช่วงต้นเดือน พ.ค. นี้

ซึ่งจะทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่ามาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ นั้นเข้มงวดมากขึ้นแค่ไหน เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลประกอบอื่นๆ ดูเหมือนว่าการปล่อยสินเชื่อน่าจะเข้มงวดขึ้นไม่น้อย ทำให้สภาพคล่องในเศรษฐกิจตึงตัวขึ้น

โดยข้อมูลในสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมี.ค.แสดงให้เห็นว่ามีการปล่อยสินเชื่อ (Bank Lending) ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ ลดลงเป็นจำนวน 1 แสน 5 พันล้านดอลลาร์ เป็นจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ย้อนไปตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลในปี 1973

นอกจากนั้นธนาคารพาณิชย์ยังเร่งขายสินทรัพย์ในกลุ่มพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (Mortgage-backed Securities) เป็นจำนวนมากเพื่อเพิ่มสถาพคล่องหลังจากยังคงต้องเผชิญกับการไหลออกของเงินฝากอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้จากการสำรวจผู้ประกอบการขนาดเล็กในสหรัฐฯ (Small Business Survey) ก็แสดงให้เห็นว่าระดับของการปล่อยสินเชื่อนั้นลดลงต่ำที่สุดในรอบ 20 ปีแม้ว่าดอกเบี้ยจะสูงที่สุดในรอบ 15 ปีก็ตาม

นอกจากนี้การที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ตามปกติสภาพคล่องในตลาดการเงินก็มีแนวโน้มที่จะตึงตัวขึ้นอยู่แล้ว โดยคาดว่านับตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงต้นปี 2022 สภาพคล่องในตลาดการเงินสหรัฐฯ ก็หดหายไปแล้วกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ 

โดยความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อความตึงตัวของตลาดการเงิน และสภาพคล่องที่ลดลงก็จะทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น ซึ่งจะสวนทางกับภาพรวมของเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้าที่หลายฝ่ายเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่งสะท้อนจากภาคการจ้างงานที่ยังดี และการเร่งตัวของค่าแรง ทำให้ปัจจุบันดูเหมือนว่าตลาดเงินยังไม่สะท้อนข้อมูลในส่วนนี้อย่างชัดเจนนัก

โดยหากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยก็จะตามมาด้วยการปรับตัวลดลงของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ หากนับช่วงที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ สูงที่สุดในไตรมาสสอง ปี 2565 นั้น จะพบว่า ณ ระดับปัจจุบัน ต่ำกว่าระดับดังกล่าวเพียงแค่ 8-9% เท่านั้น ซึ่งอาจจะยังไม่เพียงพอเมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น

ในขณะที่น้ำหนักของการลดดอกเบี้ยดูจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของตลาดหลักทรัพย์ในช่วงสั้น แต่ในระยะยาวแนวโน้มของราคาย่อมต้องปรับตามแนวโน้มของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยหลายครั้งหากพิจารณาย้อนไปในอดีตจะพบว่าหุ้นมีแนวโน้มทำจุดต่ำสุดในช่วงท้ายๆ ของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง

แต่ในรอบนี้ปัจจัยแวดล้อมดูจะต่างออกไปมากพอสมควร เนื่องจากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมาจากนโยบายการคลังอันเป็นผลมาจากความพยายามในการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของรัฐบาล แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ที่เศรษฐกิจนั้นดูจะถดถอยแล้วในช่วงท้ายของการปรับขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้นในรอบนี้ดูเหมือนว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจริงๆ นั้นอาจจะกำลังมาถึงก็เป็นได้

ม้แต่รายงานเสถียรภาพการเงิน (Global Financial Stability Report) ขององค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เองก็ยังพูดถึงประเด็นในเรื่องของความสามารถในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ลดลงจากงบดุลที่อ่อนแอลง และเรื่องของมาตรการที่เข้มงวดขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงว่าอาจจะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลดลงได้ 0.44% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากหากพิจารณาว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะเติบโตได้เพียง 0.8% - 1.1% ในปีนี้และปีหน้า (ข้อมูลจาก Bloomberg)

ดังนั้นในฐานะนักลงทุนสิ่งที่ทำได้ในปัจจุบันที่ดูเหมือนว่าราคาหุ้นสหรัฐฯ ดูจะสวนทางกับแนวโน้มที่เกิดขึ้น คือ การพยายามรักษาระดับความเสี่ยงและน้ำหนักของการลงทุนให้เหมาะสม การปรับสัดส่วนและการ Rebalance Portfolio ให้เหมาะสมกับแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้น ความเสี่ยงที่ดูเหมือนจะมากขึ้นนั้น อาจจะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนได้ในช่วงข้างหน้าที่ความไม่แน่นอนยังมีอยู่ครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด