ส่องอนาคตค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงในวันที่เศรษฐกิจเริ่มมีปัญหา

ส่องอนาคตค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงในวันที่เศรษฐกิจเริ่มมีปัญหา

นักวิเคราะห์การเงินระบุค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกง ที่ผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐกำลังตกที่นั่งลำบาก โดยระยะสั้นอาจยังพอถูไถไปได้ แต่ระยะยาวน่าจะแก้ปัญหายาก เพราะความเชื่อมั่นนักลงทุนที่มีต่อฮ่องกงลดน้อยลงเรื่อยๆ

“พีท สวีนีย์”นักวิเคราะห์และคอลัมนิสต์ที่วิเคราะห์สถานการณ์การเงินและเศรษฐกิจโลกให้แก่สำนักข่าวรอยเตอร์ นำเสนอรายงานชิ้นนี้ โดยบอกว่า การให้ผลตอบแทนที่กว้างระหว่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและฮ่องกง ที่มีฐานะเทียบเท่าศูนย์กลางการเงินของเอเชียบีบบังคับให้ธนาคารกลางฮ่องกงเข้าแทรกแซงเพื่อป้องกันไม่ให้ค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงอ่อนค่า โดยให้แกว่งตัวอยู่ในกรอบระหว่าง 7.75 และ7.85 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเขามองว่าในระยะสั้น เป็นเรื่องที่สามารถบริหารจัดการได้ แต่สิ่งที่บรรดานักลงทุนวิตกกังวลอย่างมากในขณะนี้คืออนาคตทางเศรษฐกิจของฮ่องกง

ในขั้นตอนของการเดินหน้าปกป้องค่าเงินนั้น งบดุลบัญชีรวม (aggregate balance) ของธนาคารกลางฮ่องกง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สถานะเงินสดในระบบธนาคารปรับตัวลงจาก 458,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง(58,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)แตะระดับต่ำกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง นับตั้งแต่เดือนก.ย. ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2551
 

ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ธนาคารกลางฮ่องกงได้เข้าซื้อดอลลาร์ฮ่องกงเป็นมูลค่า 3.054 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง (389.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากตลาดซื้อขายที่นิวยอร์กเพื่อยับยั้งการอ่อนค่าของดอลลาร์ฮ่องกงลงต่ำกว่าระดับที่ผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐ

โฆษกของธนาคารกลางฮ่องกง เปิดเผยว่า การเข้าซื้อดอลลาร์ฮ่องกงดังกล่าวจะทำให้งบดุลบัญชีรวม ลดลงต่ำกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง และจะลดลงสู่ 9.6977 หมื่นล้านดอลลาร์ในวันที่ 8 พ.ย.

ขณะที่นักวิเคราะห์และฝ่ายต่าง ๆ ในตลาดจับตางบดุลบัญชีที่ลดลงเข้าใกล้ระดับ 1 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มตลาดการเงินที่ตึงตัว ก็ดูเหมือนว่าการที่ธนาคารกลางฮ่องกงเข้าซื้อดอลลาร์ฮ่องกงครั้งล่าสุดส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยในทันที

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ธนาคารกลางฮ่องกงเข้าซื้อดอลลาร์ฮ่องกงเป็นมูลค่าราว 3.07 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจากตลาดผ่านทางการแทรกแซง 40 ครั้งแล้ว นับตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา โดยการแทรกแซงดังกล่าวทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของฮ่องกงปรับตัวขึ้นตามสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดการซื้อขายในวันจันทร์ (24 เม.ย.) ปรับตัวลง 115 จุด โดยนักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์นี้

ดัชนีฮั่งเส็งปิดที่ระดับ 19,959.94 จุด ลดลง 115.79 จุด หรือ -0.58%

ทั้งนี้ ดัชนี PCE เป็นข้อมูลเงินเฟ้อสำคัญตัวสุดท้ายก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะจัดการประชุมนโยบายการเงินในเดือนพ.ค. โดยดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพราะสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว คอลัมนิสต์รายนี้มองว่า ความต้องการดอลลาร์ฮ่องกงจะขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นต่อการดำเนินกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ ขณะที่ประชากรฮ่องกงลดลงอย่างต่อเนื่องและประชากรส่วนใหญ่เป็นประชากรสูงวัยและมีแรงงานอพยพจำนวนมาก อีกทั้งยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าฮ่องกงจะสามารถดึงดูดแรงงานอพยพได้มากพอที่จะชดเชยกับจำนวนประชากรในประเทศที่ลดลงได้หรือไม่ 

ที่ผ่านมา ‘จอห์น ลี’ ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงประกาศเปิดประเทศ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆที่เคยคุมเข้มเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ฮ่องกงยังคงได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัฐบาลสหรัฐและรัฐบาลปักกิ่ง ที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อกระแสเงินทุน ขณะที่อุตสาหกรรมหลักๆ ที่รวมถึง การค้า ,ค้าปลีกและเทคโนโลยีหยุดนิ่งอยู่กับที่ เพราะฉะนั้นจึงพอสรุปได้ว่า การผูกติดค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงไว้กับดอลาร์สหรัฐในตอนนี้เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่ในอนาคตสถานการณ์อาจไม่เป็นแบบนี้