อเมริกันติดหนี้ ‘บัตรเครดิต’ สูงสุดทุบสถิติ หวั่นเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ 

อเมริกันติดหนี้ ‘บัตรเครดิต’ สูงสุดทุบสถิติ หวั่นเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ 

ข้อมูลล่าสุดชี้ คนอเมริกันติดหนี้ “บัตรเครดิต” สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทะลุ 9.3 แสนล้านดอลลาร์ในปี 65 ด้านกูรูหวั่น เป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ หากผู้ถือบัตรไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้

Key Points

  • สิ้นปี 2565 ยอดหนี้บัตรเครดิตทั้งหมดในสหรัฐ เพิ่มขึ้นแตะ 9.306 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 30.7 ล้านล้านบาท)
  • สถานการณ์อาจถึง “จุดแตกหัก” ถ้าชาวอเมริกันไม่มีเงินจ่ายหนี้
  • อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ประมาณ 20% จากสภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่อยู่ท่ามกลางเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยสูง
  • ปัจจุบัน 46% ของผู้ถือบัตรเครดิตชาวอเมริกันติดหนี้บัตร เพิ่มขึ้นจาก 39% ในปีที่แล้ว

เปิดศักราชใหม่ปี 2566 เพียงไม่กี่เดือน เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐก็มีเรื่องถาโถมเข้ามาแบบไม่ขาดสาย เริ่มต้นตั้งแต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่ปีที่แล้ว อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบไม่ยั้ง ลามไปกระทบภาคธนาคารพาณิชย์สหรัฐ จนธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (SVB) และธนาคารอีกจำนวนหนึ่งล้มครืนตามกันไป รวมทั้งเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีข่าวว่าบริษัทในภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ของสหรัฐก็ “มีกลิ่น” ว่าจะผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ 

ความปั่นป่วนของเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา เฟดสาขานิวยอร์ก ออกมาเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนรายไตรมาสให้ข้อมูลว่า ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ยอดคงค้างบัตรเครดิต (Credit Card Balance) ในสหรัฐเพิ่มขึ้น 6.1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.013 ล้านล้านบาท) มาเป็น 9.86 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 32.5 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แซงหน้าสถิติเดิมซึ่งอยู่ที่ 9.27 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 30.6 ล้านล้านบาท) ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไตรมาส 4 ปี 2562

อเมริกันติดหนี้ ‘บัตรเครดิต’ สูงสุดทุบสถิติ หวั่นเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ 

หากอ้างอิงตามรายงานดังกล่าว ในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เปอร์เซ็นต์ผู้ใช้บัตรเครดิตที่ชำระยอดการรูดบัตร ล่าช้าอย่างน้อย 30 วัน พุ่งขึ้นแตะระดับ 5.9% จากช่วงก่อนหน้าที่ 5.2% ขณะที่เปอร์เซ็นต์ผู้ค้างชำระบัตรเครดิตขั้นรุนแรง หรือล่าช้า 90 วันขึ้นไป เพิ่มขึ้นแตะระดับ 4% ในไตรมาสเดียวกัน จาก 3.7% ในไตรมาสก่อนหน้า 

ทั้งนี้ แม้อัตราส่วนดังกล่าวจะยังน้อยกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทว่าเฟดสาขานิวยอร์กเผยว่า “อัตราส่วนการผิดนัดชำระหนี้อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2566”

จากรายงานรายไตรมาสของทรานส์ยูเนียน (TransUnion) หน่วยงานรายงานเครดิตผู้บริโภคของอเมริกา ระบุว่า ณ สิ้นปี 2565 หนี้บัตรเครดิต (Credit Card Debt) ทั้งหมดในสหรัฐเพิ่มขึ้นแตะระดับ 9.306 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 30.7 ล้านล้านบาท) หรือขยายตัว 18.5% จากในปีก่อนหน้า ส่วนยอดคงค้างบัตรเครดิตเฉลี่ยต่อประชากร 1 คนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 5,805 ดอลลาร์ต่อคน (ประมาณ 191,565 บาท) ในช่วงเวลาเดียวกัน

นักวิเคราะห์ประเมินว่า จากอัตราส่วนหนี้บัตรเครดิตระดับนี้ ถือว่าใกล้ “จุดแตกหัก” แล้ว 

จิลล์ กอนซาเลซ (Jill Gonzalez) นักวิเคราะห์จากวอลเล็ตฮับ (WalletHub) เว็บไซต์ให้คำปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล กล่าวว่า หากใช้เหตุการณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ช่วงปี 2550-2552 เป็นเกณฑ์ “จุดแตกหัก” จะเกิดขึ้นเมื่อระดับหนี้บัตรเครดิตในครัวเรือนอยู่ในจุดที่ประชาชนไม่สามารถจ่ายหนี้เหล่านั้นคืนได้ และสหรัฐก็เข้าใกล้จุดนั้นมากขึ้นทุกที 

อย่างไรก็ตาม แมตต์ ชูลซ์ (Matt Schulz) หัวหน้านักวิเคราะห์เครดิตจากเลนดิงทรี (LendingTree) บริษัทให้บริการออนไลน์มาร์เก็ตเพลสของสหรัฐ ระบุว่า ผู้ถือบัตรเครดิตยังเหลือทางเลือกในการแก้ปัญหาหนี้บัตรอยู่ หนึ่งในนั้นคือ “Zero-percent Balance Transfer” หรือแคมเปญที่รวบหนี้บัตรเครดิตของลูกค้าเป็นก้อนเดียวโดยไม่มีดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำมาก ซึ่งวิธีการนี้เป็น “อาวุธ” ที่ดีที่สุดที่ชาวอเมริกันมีเพื่อต่อสู้กับหนี้บัตรเครดิต

“ผู้กู้ยังสามารถรีไฟแนนซ์เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่าได้ แม้ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะปรับตัวขึ้น แต่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10% ซึ่งยังต่ำกว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่พวกคุณถืออยู่ในปัจจุบัน”

ขณะนี้ อัตราเงินเฟ้อกระตุ้นต้นทุนของทุกอย่างตั้งแต่อาหารไปจนถึงพลังงานปรับตัวสูงขึ้นตามกัน และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงถึงเกือบ 20% ในปัจจุบัน

ด้าน เท็ด รอสส์แมน (Ted Rossman) นักวิเคราะห์อาวุโสจากแบงก์เรท (Bankrate) บริษัทให้บริการทางการเงินสัญชาติอเมริกัน กล่าวว่า ประชาชนที่ถือบัตรเครดิตเหมือนกำลังเจอวิกฤติซ้อน 3 ชั้น คือ ระดับหนี้บัตรเครดิตคงค้างเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยสูงขึ้น และคนจำนวนมากขึ้นเป็นหนี้บัตรเครดิต จากสถิติพบว่า ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรเครดิตชาวอเมริกันเป็นหนี้บัตรถึง 46% เพิ่มขึ้นจาก 39% ในปี 2565

นอกจากนี้ นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ ให้ความเห็นว่า สหรัฐมีระเบิดเวลาหลายลูกไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องเพดานหนี้สาธารณะ, สภาวการณ์ที่ธนาคารพาณิชย์สหรัฐปล่อยสินเชื่อยากขึ้น และความเสี่ยงจากภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ โดยทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น 

“หากธนาคารปล่อยสินเชื่อยากขึ้น ก็มีโอกาสเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยส่งผลให้การจ้างงานน้อยลง คนก็ไปรูดปรื๊ดมากขึ้นแต่ไม่มีงานทำ สุดท้ายก็อาจเกิดหนี้เสีย (NPL) จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องยอมรับว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้นมาทั้งหมด เศรษฐกิจสหรัฐยังคงเเข็งแกร่งอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการจ้างงานยังแกร่งมาก จึงไม่แปลกที่คนจะกล้ารูดบัตรเครดิต”

นายประกิต เสริมว่า “พูดง่ายๆ คือ ประชาชนยังมีงาน ยังมั่นใจว่าตัวเองมีความสามารถในการจ่ายหนี้บัตรเครดิตได้”

เอกสารประกอบการเขียน

1. https://www.newyorkfed.org/microeconomics/hhdc

2. https://www.cnbc.com/2023/03/09/as-credit-card-debt-hits-new-high-households-near-a-breaking-point.html

3. https://www.usatoday.com/story/money/economy/2023/02/16/credit-card-debt-record-high-and-delinquencies-rising/11271305002/

4. https://www.bankrate.com/finance/credit-cards/current-interest-rates/

5. Credit Card Debt: Americans Have Racked Up Nearly $1 Trillion in Balances - Bloomberg

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์