สรรพสามิตแนะรีบจองรถอีวีในปีนี้ก่อนหมดมาตรการ คาดยอดสะสมพุ่ง5หมื่นคัน

สรรพสามิตแนะรีบจองรถอีวีในปีนี้ก่อนหมดมาตรการ คาดยอดสะสมพุ่ง5หมื่นคัน

สรรพสามิตคาดรถอีวีร่วมมาตรการสะสมปีนี้พุ่ง 5 หมื่นคัน แนะรีบจองและจดทะเบียนเพื่อร่วมมาตรการภายในปีนี้ หากไม่ทันจะไม่ได้รับสิทธิในปีงบนี้ พร้อมเผยบอร์ดอีวีเตรียมปรับรายละเอียดมาตรการส่งเสริมอีวีใหม่ ขณะที่ ค่ายรถยนต์บีวายดีสนใจตั้งโรงงานแบตเตอรี่ในไทยแล้ว

นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยความคืบหน้าของมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ในประเทศไทยว่า ณ สิ้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา มีรถอีวีที่ขอรับมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐสะสมจำนวน 4.2 หมื่นคัน อย่างไรก็ตาม ยอดดังกล่าวยังไม่ได้เป็นยอดที่รับจองในงานมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 44  ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 มี.ค.-2 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับรายงานว่า มีแนวโน้มความสนใจรถอีวีที่ดี คาดว่า หากรวมกันแล้ว จะทำให้ยอดจองรถอีวีที่ขอรับมาตรการส่งเสริมภาครัฐสะสมเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 5 หมื่นคัน

เขาแนะนำว่า ผู้ที่สนใจรถอีวีและประสงค์จะรับเงินส่วนลดค่ารถอุดหนุนตามมาตรการ ขอให้รีบจองรถอีวีและดำเนินการจดทะเบียนรถเข้าตามมาตรการ ก่อนที่จะหมดเขต 31 ธ.ค.2566 นี้ หากดำเนินการไม่ทันอาจจะไม่ได้รับการอุดหนุนจากมาตรการได้ โดยรถยนต์อีวีจะได้รับเงินอุดหนุนสูงสุด 1.5 แสนบาทต่อคันส่วนรถจักรยานยนต์อีวี ได้รับ 1.8 หมื่นบาทต่อคัน

 ทั้งนี้ สำหรับความคืบหน้าการจ่ายเงินชดเชยตามาตรการอีวี ขณะนี้ กรมฯได้จ่ายเงินชดเชย เป็นไตรมาสที่ 3 แล้วหลังจากมีมาตรการ คิดเป็นวงเงินสะสม 806 ล้านบาท จากกรอบงบประมาณ 2.9 พันล้านบาทที่รัฐบาลอนุมัติให้  โดยมีรถอีวีจำนวนกว่า 7.2 พันคัน และรถจักยานยนต์อีวีอีก 1.3 พันคัน ขณะที่ วงเงินที่เหลือคาดว่า จะใช้ชดเชยได้เพียงพอถึงสิ้นสุดปีงบประมาณ 2566 หรือสิ้นเดือนก.ย.นี้  ส่วนปีงบ 2567 ก็จะต้องรอรัฐบาลอนุมัติวงเงินก้อนใหม่ ตามแผนที่ตั้งไว้ตลอดมาตรการ ปี 2565-2568 รวม 4 หมื่นล้านบาท

ส่วนมาตรการอีวีในช่วงปี 2567-2678 นั้น คาดว่า จะมีการปรับรายละเอียดใหม่ ซึ่งจะต้องรอคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลใหม่อีกครั้ง  เช่นเดียวกับ โครงสร้างภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่สำหรับสนับสนุนอุตสาหกรรมรถอีวีด้วย ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มบริษัทผลิตรถยนต์บีวายดี มีความสนใจจะจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ในไทยแล้วจำนวนหนึ่งราย

ปัจจุบันภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่ จัดเก็บในอัตราเดียวคือ 8% ของมูลค่า ซึ่งโครงสร้างที่ปรับปรุงใหม่นี้จะมีเงื่อนไข เฉพาะแบตเตอรี่ริเทียม ที่ใช้ในรถอีวี ที่มีอายุการใช้งานตามกำหนด 8-10 ปี ที่ผลิตในประเทศไทย โดยโรงงานที่เข้าร่วมมาตรการ ก็จะต้องจดทะเบียนกับกรมสรรพสามิต และมีระบบการผลิตไปจนถึงการกำจัดหรือรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่หมดอายุ อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะได้การลด หรือยกเว้นภาษีตามมาตรการสนับสนุนต่อไป