ยื่นภาษีออนไลน์เกินกำหนด หรือไม่ยื่นภาษี ระวัง! เสียค่าปรับและเงินเพิ่ม

ยื่นภาษีออนไลน์เกินกำหนด หรือไม่ยื่นภาษี ระวัง! เสียค่าปรับและเงินเพิ่ม

ยื่นภาษีปี 65 หมดเขตยื่นออนไลน์ได้ถึงวันที่ 10 เม.ย.66 สำหรับผู้มีเงินได้ มีหน้าที่ยื่นภาษีแล้วไม่ได้ยื่น โดยเฉพาะคำนวณแล้วพบว่าต้องเสียภาษี ระวังกรมสรรพากรตรวจสอบจะโดนทั้งภาษีย้อนหลัง และเสียค่าปรับอีกหลายเท่า

การยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2565 จะหมดเขตการยื่นภาษีแบบออนไลน์ผ่านระบบ e-filing ในวันที่ 10 เมษายน 2566 สำหรับใครที่มีรายได้แต่ยังไม่ยื่นภาษีบ้าง ยกมือขึ้น!

เชื่อว่าหลายคนเริ่มเอะใจว่า เราหรือเปล่าที่ยังไม่ได้ยื่นภาษี หรือเราต้องยื่นภาษีหรือเปล่านะ เพราะตามกฎหมายผู้ที่มีรายได้จากเงินเดือน โบนัส ค่าครองชีพ หรือรายได้ตามมาตรา 40(1) เกิน 120,000 บาท มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี ภ.ง.ด.91 และยื่น ภ.ง.ด.90 เมื่อมีรายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือนเกิน 60,000 บาท โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่ต้องเสียภาษี แต่ในกรณีที่มีรายได้เกินเกณฑ์ที่กำหนดจะต้องเสียภาษีนั่นเอง

และยิ่งเข้าเดือนเมษายนแบบนี้ เรียกว่าหมดเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วด้วย ใครที่มีหน้าที่ยื่นภาษีแล้วไม่ได้ยื่น โดยเฉพาะคำนวณแล้วพบว่าต้องเสียภาษี ระวังกรมสรรพากรตรวจสอบจะโดนทั้งภาษีย้อนหลัง และเสียค่าปรับอีกหลายเท่า

ดังนั้น หากผู้มีรายได้ไม่ยื่นแบบแสดงรายได้เพื่อเสียภาษีภายในกำหนด ยื่นแบบฯ ล่าช้า หรือจงใจไม่ชำระภาษี ชำระภาษีไม่ครบถ้วน จะต้องเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามกฎหมายกำหนด และหากฝ่าฝืนไม่ยอมชำระภาษี จะต้องรับโทษทางอาญาด้วย โดยแบ่งตามกรณีต่างๆ ดังนี้

  • ไม่ยื่นแบบฯ ภาษี มีโทษปรับ

1.ยื่นภาษีไม่ทันเวลา

กรณียื่นภาษีไม่ทันเวลา หรือไม่ยื่นแบบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งสามารถขอลดค่าปรับได้ ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 200 บาท และเสียเบี้ยปรับ 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระ

รวมถึงต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ ตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี โดยเศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน เช่น ชำระภาษีล่าช้าไป 1 เดือน 10 วัน จะนับเป็น 2 เดือนทันที

2.จงใจละเลยไม่ยื่นแบบฯ ภาษี

กรณีตั้งใจละเลยไม่ยื่นแบบฯ ภาษีเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระ รวมถึงต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ ตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี โดยเศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน

  • มีภาษีที่ต้องเสีย แต่ไม่ชำระภาษี มีโทษปรับและเสียเงินเพิ่ม

1.ไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา

กรณีที่ผู้มีรายได้ยื่นภาษีแล้วมีภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม แต่ไม่ได้ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นภาษีจนถึงวันชำระภาษี โดยเศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน

2.ชำระภาษีไม่ครบ

กรณีที่ผู้มีรายได้ไม่ยื่นแบบฯ ภาษี หรือยื่นแบบฯ ภาษีแต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป เมื่อกรมสรรพากรออกหมายเรียก นอกจากจะต้องชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดชอบเบี้ยปรับอีก 1 เท่า หรือ 2 เท่า ของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี ซึ่งเงินเบี้ยปรับอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

และต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ ตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี โดยเศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน

3.จงใจแจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จ หรือฉ้อโกง

กรณีที่ผู้มีรายได้ได้ยื่นแบบฯ ภาษี และจงใจแจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จ หรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษี จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท และเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระ

และต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ ตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี โดยเศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน

  • ชำระภาษีเกิน แต่ไม่ได้ขอคืนเงิน หรือได้รับเงินคืนเกิน

กรณีที่ผู้มีรายได้ยื่นแบบฯ ภาษี ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91 และมีภาษีที่ชำระไว้เกิน แต่ไม่ได้แจ้งความประสงค์ขอคืนเงิน ทั้งการยื่นแบบฯ ภาษีผ่านอินเตอร์เน็ต หรือยื่นแบบฯ ภาษีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา สามารถยื่นคำร้องขอเงินภาษีคืนได้ตามแบบ ค.10 ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่ ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายที่กำหนดเวลายื่นแบบฯ ภาษี พร้อมกับแนบเอกสารแล้วแต่กรณี ดังนี้

1.หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

2.แบบ ล.ย.03 (ถ้ามี)

3.ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา/มารดา (ถ้ามี)

4.ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองค่าเบี้ยประกันชีวิตของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)

5.หนังสือรับรองการจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)

6.ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ/กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (ถ้ามี)

7.หนังสือรับรองการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัยของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)

8.หนังสือรับรองการจ่ายเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม (ถ้ามี)

9.ใบเสร็จรับเงินบริจาคการกุศลของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)

10.สำเนาทะเบียนบ้าน

11.ใบสำคัญการสมรส (ถ้ามี)

12.หนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)

13.ใบเสร็จรับเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

14.หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นขอคืน

ในทางตรงกันข้าม ในกรณีที่ผู้ยื่นแบบฯ ภาษีได้รับคืนเงินภาษีเกินไป และได้รับหนังสือทวงถามให้นำเงินคืน ให้ผู้ขอคืนนำเงินคืนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม หากผู้ขอคืนไม่นำเงินที่ได้รับเกินไปส่งคืนภายในกำหนดเวลา ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยนับตั้งแต่วันที่เริ่มผิดนัด

 

สรุป

เพราะภาษีเป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ ควรทำหน้าที่ของตนเองให้ถูกต้องเมื่อถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทั้งการยื่นภาษีและการเสียภาษี เมื่อคำนวณแล้วพบว่ามีภาษีที่ต้องเสีย ก็ควรชำระให้ทันกำหนดเวลา เพื่อตัดปัญหาที่จะตามมาแบบไม่ทันตั้งตัว ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม ค่าปรับ และหากเจตนา จงใจ อาจร้ายแรงถึงขั้นจำคุก เรียกว่าไม่คุ้มอย่างแน่นอน

----------------------------------
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting