ศึก ‘ค่าเงิน’ ระอุ! ‘หยวน’ จ่อผงาด ท้าชิง ‘ดอลลาร์’ ที่ทยอยเสื่อมมูลค่า

ศึก ‘ค่าเงิน’ ระอุ! ‘หยวน’ จ่อผงาด ท้าชิง ‘ดอลลาร์’ ที่ทยอยเสื่อมมูลค่า

“ดอลลาร์” รั้งอันดับ 1 ในฐานะสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศมากถึง 59.1% ขณะที่ “หยวน” ตามมาห่างๆ ที่ 2.7% แต่ด้วยความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้หยวนเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นท่ามกลางความคิดเห็นกูรูที่แตกต่างว่าหยวนจะแทนที่ดอลลาร์ในระบบการเงินโลกได้หรือไม่

Key Points 

  • ดอลลาร์ยังรั้งอันดับหนึ่งในฐานะสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศมากถึง 59.1% ในขณะที่หยวนอยู่เพียง 2.7%
  • ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาหยวนได้รับความนิยมในการทำธุรกรรมทางการเงินในหลายประเทศ ตั้งแต่ระดับผู้นำไปจนถึงประชาชนธรรมดา
  • ไอเอ็มเอฟเผยสัดส่วนของเงินสำรองทั่วโลกในสกุลเงินดอลลาร์ลดต่ำสุดในรอบ 25 ปี 
  • การประกาศใช้ข้อตกลงทางการค้า “RCEP” นับเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ความนิยมสกุลเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น
  • นักวิชาการเสียงแตกประเด็น หยวนจะแทนที่ดอลลาร์ในระบบการเงินโลกได้หรือไม่

 

 

หากพิจารณาสกุลเงินที่ได้รับความนิยมเพื่อนำมาสะสมไว้เป็น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือ Foreign Exchange Reserves ล่าสุด “สกุลเงินดอลลาร์” ยังคงรั้งอันดับหนึ่งด้วยอัตรา 59.1% ตามมาด้วยสกุลเงินยูโร เงินเยน เงินปอนด์สเตอร์ลิง ในอัตรา 20.5% 5.8% และ 4.8% ตามลำดับ ส่วนสกุลเงินหยวนของประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกและอันดับ 1 ของเอเชีย อย่างจีนยังอยู่ในระดับ 2.7% เท่านั้น 

ศึก ‘ค่าเงิน’ ระอุ! ‘หยวน’ จ่อผงาด ท้าชิง ‘ดอลลาร์’ ที่ทยอยเสื่อมมูลค่า

อย่างไรก็ตาม นอกจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลให้ระบบการเงินโลกแยกขายออกเป็น 2 ส่วนแล้วระหว่างระบบการเงินฝั่งสหรัฐและระบบการเงินฝั่งจีนแล้ว ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาสกุลเงินหยวนคล้ายจะได้รับ “อานิสงส์” จากเหตุการณ์ดังกล่าวในการปรับสถานะมาเป็น “สกุลเงินม้ามืด” ที่อาจเข้ามาแทนที่สกุลเงินดอลลาร์ของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารอย่าง “สหรัฐอเมริกา” ได้

“หยวน” กับบทบาทในฐานะสกุลเงินทางเลือก (?)

- เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2566 สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) รายงานว่า ซินเฉิง กรุ๊ป (Xin Cheng Group) ของจีนและบริษัท ไชน่า นอร์ท อินดัสทรีส์ กรุ๊ป (China Industry Group) ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจหลายฉบับกับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ ซาอุดี อารามโก (Saudi Aramco) หนึ่งในนั้นคือความร่วมมือสร้างโรงกลั่นน้ำมันมูลค่า  83.7 พันล้านหยวน (มากกว่า 4 แสนล้านบาท)

- เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2566 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่าทางการรัสเซียเริ่มกลับมาใช้สกุลเงินรูเบิลและหยวนมากขึ้นหลังจากชาติตะวันตกคว่ำบาตรซึ่งเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน 

- เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2566 สำนักข่าววอลล์ สตรีท เจอร์นัล (The Wall Street Journal) รายงานว่าซาอุดีอาระเบียกำลังพิจารณาการซื้อขายน้ำมันด้วยสกุลเงินหยวน ซึ่งนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งประเมินว่าหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงอาจส่งผลโดยตรงให้สกุลเงินหยวนกลายเป็นอีกหนึ่งสกุลเงินหลักของโลกเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับสกุลเงินดอลลาร์ในช่วงทศวรรษ 70 

- เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 สำนักข่าวนิเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า จีนและบราซิลบรรลุข้อตกลงใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมทางการเงินโดยตรงแบบไม่ต้องใช้สกุลเงินดอลลาร์เป็นตัวกลางอีกต่อไป

- เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2566 “CNOOC” บริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีนบรรลุข้อขายแก๊สธรรมชาติเหลว (LNG) ให้กับ “TotalEnergies” ของฝรั่งเศสด้วยสกุลเงินหยวน โดยสำนักข่าวโกลบอล ไทมส์ (Global Times) สื่อของรัฐบาลจีน ระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการทำธุรกรรมด้านน้ำมันข้ามชาติที่ชำระเป็นสกุลเงินหยวนครั้งแรกในประวัติศาสตร์

จากทั้ง 5 เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นภายในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน ประกอบกับเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2566 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่าสัดส่วนของเงินสำรองทั่วโลกในรูปแบบสกุลเงินดอลลาร์ลดลงต่ำสุดในรอบ 25 ปี จากเดิม 72% ในปี 2542 เป็น  59.1% ในปัจจุบัน อาจเป็นตัวชี้วัดว่าความนิยมในสกุลเงินดอลลาร์กำลังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง  ขณะที่สกุลเงินหยวนอาจเป็น “สกุลเงินม้ามืด” เข้ามาแทนดอลลาร์ได้อย่างแท้จริง

 

สกุลเงินดอลลาร์ส่อ “ศูนย์” มูลค่า (?)

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์จาก ยูไรซอน เอสแอลเจ แคปปิตอล (Eurizon SLJ Capital) บริษัทบริหารสินทรัพย์สัญชาติอังกฤษ  ให้ข้อมูลผ่านบันทึกของงานวิจัยว่า สกุลเงินดอลลาร์มีแนวโน้มเสื่อมมูลค่าลงไปอีก 15% ในอีก 18 เดือนข้างหน้า จากเดิมที่ลดลงไปแล้ว 10% สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์กที่ประเมินว่า“สกุลเงินดอลลาร์อยู่ในแนวโน้มขาลงแล้ว” จนนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่าทั้งหมดอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้สกุลเงินอื่นของโลก (หนึ่งในนั้นคือสกุลเงินหยวน) อาจผงาดขึ้นมาแทนที่สกุลเงินดังกล่าวได้ในเวลาอีกไม่นาน

ศึก ‘ค่าเงิน’ ระอุ! ‘หยวน’ จ่อผงาด ท้าชิง ‘ดอลลาร์’ ที่ทยอยเสื่อมมูลค่า

 

ปัจจัยเกื้อหนุนสกุลเงินหยวน

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินว่า อีกหนึ่งปัจจัยหนุนนำให้สกุลเงินหยวนอาจได้รับความนิยมมากขึ้นคือ “ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” หรือ RCEP ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา

โดยมีสมาชิกทั้งหมด 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 30.2% ของประชากรทั่วโลก และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ 33.6% ของจีดีพีทั้งโลก ซึ่งมีมูลค่าการค้ารวม 30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก

อีกทั้งหากย้อนไปเมื่อเดือน มี.ค. ปี 2565 สวิฟต์ (SWIFT) หรือ สมาคมเพื่อการโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก ตัดการเชื่อมต่อระบบภายในกับธนาคารรายใหญ่ของรัสเซียหลายแห่งจากเหตุผลด้านการทำสงครามจนรัสเซียเข้าถึงสกุลเงินดอลลาร์และยูโรยากขึ้น ทั้งหมดจึงเป็นส่วนสำคัญในการผลักให้รัสเซียหันมาพึ่งพาสกุลเงินหยวน โดยการทำธุรกรรมผ่าน “ระบบการชำระเงินข้ามแดนด้วยสกุลเงินหยวน” หรือ CIPS ของจีนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงแรกที่รัสเซียบุกเข้าประเทศยูเครน ธุรกรรมต่อวันในระบบการชำระเงินดังกล่าวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 50% แตะ 21,000 รายการในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

มุมมองนักวิเคราะห์ต่างชาติ

บทวิเคราะห์ “Can Chinese yuan drub US dollar to become the most dominant currency?” ซึ่งอ้างอิงงานวิจัยของแบร์รี ไอเชนกรีน (Barry Eichengreen) นักเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และ คามิลล์ มาแคร์ (Camille Macaire) นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารกลางฝรั่งเศส ระบุว่า 

“การแทนที่สกุลเงินดอลลาร์ด้วยสกุลเงินหยวนไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ตาม หลายประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนก็ค่อยๆ เพิ่มเงินสำรองในรูปแบบสกุลเงินหยวนขึ้น อีกทั้งในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าสกุลเงินหยวนอาจกลายเป็นสกุลเงินทางเลือก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เป็นประเทศ “หลายขั้วการเมือง” หรือ Multipolar” 

ศึก ‘ค่าเงิน’ ระอุ! ‘หยวน’ จ่อผงาด ท้าชิง ‘ดอลลาร์’ ที่ทยอยเสื่อมมูลค่า

ดร.เอ็มเอ็ม อากาซ (MM Akash) หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธากา (Dhaka) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเดอะบิสซิเนส สแตนดาร์ด (The Business Standard) ของบังกลาเทศ ว่า ที่ผ่านมาจีนได้ช่วยเปิดตัวธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในภูมิภาคเอเชีย นอกเหนือจากธนาคารโลก (The World Bank) โดยหากจีนสามารถลดอิทธิพลของธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟในภูมิภาคเอเชียได้จริงก็อาจเป็นไปได้ที่เงินหยวนจะสามารถแข่งขันกับดอลลาร์ได้ในระยะยาว

นูเรียล รูบินี (Nouriel Roubini) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ แอตลาส แคปิตอล (Atlas Capital) แสดงความคิดเห็นผ่านบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทม์ส (The Financial Times) ในช่วงเดือน ก.พ. ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ส่งผลให้ความน่าสนใจของสกุลเงินดอลลาร์ลดน้อยลง ทั้งสำหรับประเทศพันธมิตรและไม่เป็นพันธมิตร

“การดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ว่านั้นประกอบด้วยการที่สหรัฐคว่ำบาตรคู่แข่งทางการเมือง การจำกัดลงทุนจากต่างชาติ (Inward Investment) ในสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนและบริษัทที่อ่อนไหวต่อความมั่นคงของรัฐ (Security-sensitive Sectors and Firms) หรือแม้กระทั่งการคว่ำบาตรประเทศพันธมิตรที่ละเมิดหลักการที่สหรัฐยึดถือ”

อย่างไรก็ตาม ดร.ซาอิดี ซัตตาร์ (Zaidi Sattar) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบาย (Policy Research Institute) ในบังกลาเทศ ประเมินว่า อุปสรรคส่วนหนึ่งที่ขัดขวางไม่ให้สกุลเงินหยวนชนะสกุลเงินดอลลาร์จนกลายเป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลกได้คือการที่รัฐบาลกลางปักกิ่งมีอำนาจเด็ดขาดในการควบคุมสกุลเงินของตัวเอง (Strict Currency Controls) รวมทั้งความไม่โปร่งใสในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ (Transparency in the Economic Policy) เนื่องจากความไม่เป็นประชาธิปไตย (Undemocratic) ด้วย

ศึก ‘ค่าเงิน’ ระอุ! ‘หยวน’ จ่อผงาด ท้าชิง ‘ดอลลาร์’ ที่ทยอยเสื่อมมูลค่า

ส่วน พอล ครุกแมน (Paul Krugman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล แสดงความคิดเห็นในหน้าออฟ-เอ็ด (Op-ed) ของสำนักข่าวเดอะนิวยอร์ก ไทม์ส (The New York Times) ว่าไม่มีทางที่สกุลเงินหยวนของจีนจะขึ้นมาแทนที่สกุลเงินดอลลาร์ในระบบการเงินโลกได้และ “ผมไม่คิดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันใกล้”

 

มุมมองนักวิเคราะห์ไทย 

ด้าน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ให้สัมภาษณ์กับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า หยวนอาจเข้ามาแทนที่ดอลลาร์ได้ “แต่ไม่ใช่ในอนาคตอันใกล้” เพราะปัจจุบันดอลลาร์ยังเป็นหนึ่งในไม่กี่สกุลเงินของโลกที่ปลอดภัยที่สุด สภาพคล่องมากที่สุด น่าเชื่อถือมากที่สุด และมีความเป็นสากลมากที่สุด

 

ศึก ‘ค่าเงิน’ ระอุ! ‘หยวน’ จ่อผงาด ท้าชิง ‘ดอลลาร์’ ที่ทยอยเสื่อมมูลค่า

 

ทั้งนี้ ในอนาคตหากจีนสามารถยกเลิก “มาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ” (Capital Controls) ได้ และปล่อยให้มูลค่าของเงินปรับตัวขึ้นลงตามหลักการดีมานด์-ซัพพลาย (Flexible Exchange Rate) โดยไม่อิงสกุลเงินหยวนกับสกุลเงินดอลลาร์ก็มีความเป็นไปได้ที่หยวนจะเข้ามาแทนที่ดอลลาร์ในเวทีการเงินระดับโลก 

“ต้องยอมรับว่าเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้วดอลลาร์ก็ไม่ใช่สกุลเงินหลักของโลก แต่คือสกุลเงินปอนด์ แต่เพราะอังกฤษแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจจึงอ่อนแอลง ประชาชนเลยเริ่มหันไปใช้ดอลลาร์มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดก็อาจเป็นแบบเดียวกันสำหรับประเทศจีน หากรัฐบาลกลางปักกิ่งสามารถเพิ่มความโปร่งใส เสรี และไม่อิงค่าเงินกับดอลลาร์ได้ หยวนก็สิทธิ์สู้กับดอลลาร์ได้ในเวทีการเงินโลก แต่ผมก็ยังยืนยันว่าจีนยังต้องพัฒนาค่าเงินของตัวเองอีกมาก”

ส่วน ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจ และการลงทุนสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด แสดงความคิดเห็นกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ปกติแล้วธนาคารกลางในประเทศต่างๆ มักไม่เปลี่ยนแปลงสกุลเงินสำรองเลยเว้นแต่มีเหตุการณ์บางอย่างเข้ามากระตุ้น ซึ่งปัจจุบันมีความเป็นไปได้น้อยมากที่สกุลเงินหยวนจะเข้ามาแทนที่หรือเป็นทางเลือกรองจากสกุลเงินดอลลาร์ หากไม่นับรวมประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และหากมีการเปลี่ยนแปลงจริง “สกุลเงินยูโร” จะเป็นทางเลือกที่ 2 รองจากดอลลาร์ ไม่ใช่หยวนอย่างแน่นอน 

ศึก ‘ค่าเงิน’ ระอุ! ‘หยวน’ จ่อผงาด ท้าชิง ‘ดอลลาร์’ ที่ทยอยเสื่อมมูลค่า

“ขนาดแบงก์ชาติประเทศไทยยังไม่ถือสกุลเงินหยวนเลย เราถืออยู่แค่ 1-2% เอง โอกาสน้อยมากที่ประเทศไทยและประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะเปลี่ยนมาถือสกุลเงินหยวน ในอดีตไทยก็เปลี่ยนสกุลเงินสำรองเพียง 2-3 ครั้งเท่านั้น แต่ที่มีข่าวเรื่องหยวนจะผงาดในปัจจุบันก็อาจเป็นเพียงการออกข่าวทดสอบดีมานด์ของตลาดเท่านั้น”