ออมสินเปิดนอนแบงก์ปล่อยสินเชื่อบุคคลผ่านดิจิทัลเลนดิ้งไตรมาส 3

ออมสินเปิดนอนแบงก์ปล่อยสินเชื่อบุคคลผ่านดิจิทัลเลนดิ้งไตรมาส 3

ออมสินเตรียมตั้งนอนแบงก์ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลรายย่อยผ่านดิจิทัลเลนดิ้งในไตรมาส 3 ปีนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้าถึงแหล่งทุนได้ภายใน 1 ชั่วโมง พร้อมช่วยดึงดอกเบี้ยในตลาดลดลงต่ำกว่า 25% โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากธปท.

ธนาคารออมสินได้ก้าวเข้าสู่ธนาคารเพื่อสังคมอย่างเต็มรูปแบบผ่านการเข้าไปดูแลลูกค้ารายย่อยซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ผ่านช่องทางการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ การเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ทั้งของธนาคาร และ รับรีไฟแนนซ์หนี้จากสถาบันการเงินอื่น พร้อมกับการเปิดช่องทางการปล่อยสินเชื่อในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้รายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น

โดยนับตั้งแต่วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินได้เข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี 2553 มีนโยบายที่ชัดเจนต่อการปรับรูปแบบการให้บริการของธนาคารเป็นธนาคารเพื่อสังคมอย่างชัดเจน โดยใช้ฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่เข้ามาช่วยกดอัตราดอกเบี้ยในธุรกิจให้ต่ำลง ในปี 2553 ธนาคารได้ร่วมทุนกับบริษัทเงินสดทันใจออกสินเชื่อจำนำทะเบียนดอกเบี้ยต่ำ 11% ช่วยให้ดอกเบี้ยในตลาดนี้ลดลงมาอยู่ในระดับ19% จาก 28% ในระยะที่ผ่านมา สามารถปล่อยสินเชื่อได้หลายหมื่นล้านบาท 

จากนั้น ในที่เกิดวิกฤตโควิด ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อที่ดินโดยไม่วิเคราะห์รายได้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่อง ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี มียอดสินเชื่อหลักหมื่นล้านบาท ทำให้ธนาคารจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2565 ใช้ชื่อบริษัทมีที่มีเงินร่วมกับกลุ่มบริษัทบางจากและทิพย กรุ๊ป กรณีบุคคลธรรมดาให้กู้สูงถึง 10 ล้านบาท กรณีนิติบุคคลให้กู้ถึง 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำสุดไม่เกิน 9% ปัจจุบันปล่อยสินเชื่อได้หลักพันล้านบาท

 

ล่าสุดในปีนี้ ธนาคารเตรียมจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาอีกแห่ง เพื่อมาประกอบธุรกิจนอนแบงก์ ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลแก่รายย่อยผ่านแอพลิเคชัน หรือที่เรียกว่า ดิจิทัลเลนดิ้ง โดยคณะกรรมการของธนาคารได้ทำการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่าการขอใบอนุญาตการประกอบธุรกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)วิทัยได้เปิดเผยความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทลูกดังกล่าวโดยคาดว่า ธุรกิจนอนแบงก์ของธนาคารจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 66 หลังจากที่คณะกรรมการของธนาคารได้ดำเนินการอนุมัติการจัดตั้ง ขณะนี้ อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนอนแบงก์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จากนั้นจะนำใบอนุญาตไปขออนุมัติกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง

 

สำหรับวัตถุประสงค์การจัดตั้งนอนแบงก์เพื่อประกอบสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น เขากล่าวว่า เพื่อช่วยประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ลูกจ้าง แรงงานหาเช้ากินค่ำ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ง่ายขึ้นโดยการปล่อยสินเชื่อจะทำในรูปแบบดิจิทัล หรือที่เรียกว่า ดิจิทัลเลนดิ้ง ซึ่งสามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้อย่างรวดเร็วหรือภายใน 1 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน ยังต้องการช่วยดึงให้ดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลของตลาดนอนแบงก์โดยรวมลดลง

 

"เราจะเข้าไปทำธุรกิจนอนแบงก์ โดยจะจัดตั้งบริษัทใหม่และทำแอพลิเคชันขึ้นมาใหม่ แยกจากแอฟมายโมของธนาคาร เพื่อดำเนินธุรกิจ พลีโลนดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งวันนี้ในตลาดอัตราดอกเบี้ยสูงมาก แต่เราจะทำดอกเบี้ยให้ต่ำลง เพื่อดึงคนเข้ามาอยู่ในระบบ"

 

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนที่จะเปิดให้กู้สินเชื่อรายย่อย เพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับหรือนาโนไฟแนนซ์ด้วย โดยคาดหวังจะช่วยดึงดอกเบี้ยในตลาดลงมาได้อีก 5% เช่น ปัจจุบันดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลในตลาดมีเพดานที่ต้องไม่เกิน 25% นอนแบงก์ของธนาคารก็อาจเหลือไม่เกิน 20% ขณะที่ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์มีเพดานดอกเบี้ยอยู่ที่ไม่เกิน 33% ในส่วนของออมสินจะอยู่ที่ไม่เกิน 28%

 

“ในช่วงเริ่มต้น เรากำหนดวงเงินสินเชื่อไว้ที่ 1-3 หมื่นต่อราย อัตราดอกเบี้ยเดือนละ 1-1.5% โดยกลุ่มนี้จะเป็นฐานลูกค้าเดิม ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าทั้งสิ้น 13 ล้านราย โดยคาดว่า จะปล่อยสินเชื่อในช่วงแรกได้ประมาณ 1 แสนราย

 

ส่วนรูปแบบการถือหุ้นในนอนแบงก์แห่งใหม่นั้น ธนาคารออมสินจะเข้าไปเป็นถือหุ้นสัดส่วน 49% ส่วนที่เหลือจะให้บริษัท มีที่มีเงิน ซึ่งมีออมสินถือหุ้นอยู่ 49% เข้ามาร่วมถือหุ้นในนอนแบงก์อีก 51% ทำให้ออมสินจะมีการถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมรวมกว่า 80% ซึ่งถือว่า สามารถทำได้โดยไม่ผิดระเบียบเพราะเกณฑ์กำหนดสั่งห้ามให้ถือหุ้นทางตรงเกินกึ่งหนึ่งเท่านั้น

 

นายวิทัยกล่าวว่า การทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยผ่านนอนแบงก์ จะทำควบคู่ไปกับการปล่อยกู้ของธนาคารออมสิน โดยไม่แย่งลูกค้ากัน โดยเบื้องต้นลูกค้าที่สนใจอยากขอสินเชื่อ สามารถติดต่อได้ที่ออมสินก่อนหากเป็นลูกค้าชั้นดี ที่มีข้อมูลเครดิตดี อยู่ในเกณฑ์ที่แบงก์ให้สินเชื่อได้ ก็จะรับเป็นลูกค้าของออมสิน แต่หากพิจารณาแล้ว ลูกค้าไม่ผ่านเกณฑ์ ก็จะส่งต่อไปให้บริษัทลูกแห่งใหม่นี้ ซึ่งสามารถรับความเสี่ยงได้สูงกว่า ซึ่งจะเป็นการปล่อยกู้ผ่านช่องทางดิจิทัล และเลือกใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้

 

ส่วนการทำธุรกิจจำนำทะเบียนรถยนต์ ซึ่งธนาคารได้ร่วมมือกับบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ผ่านบริษัทเงินสดทันใจนั้น ประสบความสำเร็จ สามารถช่วยให้ดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบจำนำทะเบียนรถยนต์ ปรับลดลงได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในการร่วมมือนี้ ออมสินได้กำหนดเงื่อนไขว่าสามารถขายหุ้นคืนในราคาทุนได้ภายในสองปี แต่ถ้าออมสินขายหุ้นแล้ว จะต้องดูว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้ดอกเบี้ยกลับไปแพงขึ้นเหมือนเดิม ดังนั้น จึงต้องดูความเหมาะสมของสถานการณ์ และยืนยันว่าไม่ได้เป็นเพราะมีปัญหากับ ศรีสวัสดิ์