บลจ.กรุงศรี ปี66 สานต่อแผนธุรกิจ 'Krungsri One Retail' ดัน AUM แตะ 6 แสนล้าน

บลจ.กรุงศรี ปี66 สานต่อแผนธุรกิจ 'Krungsri One Retail' ดัน AUM แตะ 6 แสนล้าน

บลจ.กรุงศรี ตั้งเป้า AUM ปี 66 แตะ 6 แสนล้าน โต 10% จากปี 65 ที่ 5.4 แสนล้านบาท พร้อมสานต่อแผนธุรกิจ ขับเคลื่อนภายใต้ One Retail ผสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มกรุงศรี นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทุกความต้องการ เน้นขยายฐานลูกค้าใหม่ควบคู่กับการพัฒนาระบบออนไลน์

นางสุภาพร  ลีนะบรรจง  กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงศรี เปิดเผยว่า สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปี 2566 บริษัทตั้งเป้ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ที่ 600,000 ล้านบาท  เติบโต 10% จากปี 2565 ที่ 540,000 ล้านบาท และยังคงรักษาอันดับและส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ โดยมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของกองทุนรวม และกองทุนส่วนบุคคล (ข้อมูล : AIMC ณ  30 ธ.ค. 65)  หากพิจารณาด้านผลการดำเนินงานกองทุนปี 2565 พบว่ากองทุนของ บลจ.กรุงศรี มีผลงานที่โดดเด่นครอบคลุมทั้งกองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้น กองทุนต่างประเทศ

สำหรับกลยุทธ์ในปีนี้ บริษัทพร้อมสานต่อแผนธุรกิจซึ่งขับเคลื่อนภายใต้ One Retail  ซึ่งเป็นการผสานความร่วมมือระหว่างบริษัทในกลุ่มกรุงศรี  มุ่งมั่นนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม

พร้อมสร้างผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ลงทุน  ให้ความสำคัญกับการขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในวงกว้าง  พร้อมเพิ่มตัวแทนจำหน่ายและการหาช่องทางการขายใหม่ๆที่มีศักยภาพ  รวมทั้งการพัฒนาบริการในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้การลงทุนเป็นเรื่องง่ายและมอบประสบการณ์การลงทุนที่ดีให้กับลูกค้า

นายศิระ  คล่องวิชา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงเนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น และภาคธนาคารมีแนวโน้มที่จะมีความเข้มงวดในการปล่อยกู้มากขึ้น  

 

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะยังคงตัวอยู่ในระดับสูงไปอีกระยะหนึ่งและมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลังจากผลของฐานสูงในปีที่แล้ว ตัวเลขที่แข็งแกร่งของตลาดแรงงานบ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่าย และการบริโภคจะเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป รวมทั้งส่งผลดีต่อการเติบโตของภาคการผลิตเช่นกัน  

นอกจากนี้ การเปิดประเทศของจีนเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และรัฐบาลจีนมีแนวโน้มที่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง


“ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เช่น การใช้จ่ายของผู้บริโภคและตลาดแรงงานของสหรัฐที่ยังคงแข็งแกร่ง  การเปิดประเทศและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน  การชะลอตัวของเงินเฟ้อ  การคลี่คลายของปัญหาในภาคอุปทาน  การยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น  ด้านปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบอื่นๆจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก การกีดกันการค้า  ความผันผวนของค่าเงิน  สงคราม เป็นต้น”

นายศิระ กล่าวว่า บลจ.กรุงศรี ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นต่างประเทศที่ได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับไม่แพง ขณะที่แรงกดดันจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดมีแนวโน้มลดลงหลังจากเงินเฟ้อเริ่มมีทิศทางชะลอตัวลง และโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐทำให้ภาคธนาคารพาณิชย์ทั้งในฝั่งสหรัฐและยุโรปมีสเถียรภาพมากยิ่งขึ้น และส่งผลบวกต่อหุ้นโดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นเทคโนโลยี  

สำหรับการลงทุนในตลาดประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะฝั่งเอเชียที่เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นนั้นมีความน่าสนใจมากกว่าตลาดประเทศพัฒนาแล้ว  เนื่องจากสหรัฐและยุโรปยังมีความผันผวนสูงจากภาคธนาคารพาณิชย์ สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของ ECB และ FED ยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาดอยู่


นอกจากนี้ยังมีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อตราสารหนี้ต่างประเทศ โดยธนาคารกลางสหรัฐเข้าใกล้การยุติการขึ้นดอกเบี้ยและอาจจะกลับมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า (2567) อย่างไรก็ตาม ความเห็นของนักลงทุนบางส่วนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจจำเป็นต้องเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ปีนี้เป็นต้นไป เนื่องจากความตึงเครียดในภาคสถาบันการเงิน ซึ่งหากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จะช่วยหนุนผลตอบแทนของตราสารหนี้ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยผลตอบแทนของตราสารหนี้ต่างประเทศ ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับน่าดึงดูดใจ (ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 US Investment grade corporate bond index ให้ Yield to maturity อยู่ที่ราว 5.45% ต่อปี)


ด้านเศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มเติบโตดีกว่าที่คาดจากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ การท่องเที่ยว ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้นตามภาคการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปี 2566 คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ระดับอย่างน้อย 1.75%-2.00% ในปี 2566 ขึ้นกับภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย

การลงทุนหุ้นไทยในระยะสั้นจะยังคงมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกประเทศ จนกว่านักลงทุนจะคลายความกังวลต่อวิกฤติการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นได้  ส่วนในระยะกลางและระยะยาวตลาดหุ้นไทยจะตอบรับปัจจัยพื้นฐานที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ได้รับประโยชน์ตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการเลือกตั้งทั่วไป  สำหรับแนวโน้มของดัชนี SET Index ยังคงขึ้นอยู่กับบรรยากาศการลงทุนโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าปัญหาของภาคธนาคารในประเทศตะวันตกจะไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพสถาบันการเงินไทยก็ตาม ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นผู้ขายสุทธิในตลาดไทยกว่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้

ตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2566 ยังคงมีความผันผวนของผลตอบแทนในช่วงดอกเบี้ยไทยเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับขอบบนของเงินเฟ้อเป้าหมายที่ธปท.กำหนดไว้ที่ 3.00%

 ทั้งนี้ กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้เอกชนจะช่วยลดความผันผวนของตลาดได้  และการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านอายุคงเหลือเฉลี่ยกองทุนเชิงรุกจะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างอัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มในกับกองทุนได้จากความผันผวนของตลาดตลอดทั้งปี

ธีมการลงทุนที่น่าสนใจในปี2566 ได้แก่ การลงทุนในหุ้นจีนเนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่ง และตลาดหุ้นจีนมักไม่เคลื่อนไหวไปตามการปรับตัวของตลาดหุ้นอื่นๆ  และการลงทุนในหุ้นคุณภาพสูงที่มีแบรนด์แข็งแกร่งเนื่องจากมีแนวโน้มการเติบโตของรายได้และกำไรที่สมํ่าเสมอ ซึ่งมีความเหมาะสมในภาวะที่ตลาดมีความผันผวนสูง  รวมทั้งการลงทุนในกลุ่มพลังงานสะอาดซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐทั่วโลก

นอกจากนี้ นโยบายการเงินที่กลับทิศ (Policy U-turn) ซึ่งรวมถึงการหยุดขึ้นดอกเบี้ยและความน่าจะเป็นที่สูงขึ้นในการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มส่งผลให้หุ้นเติบโตและหุ้นเทคโนโลยีกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง หลังจากที่เผชิญแรงกดดันจากอัตราคิดลด (Discount rate) และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นในปีที่ผ่านมา จนปรับตัวลดลงมาซื้อขายในระดับไม่แพง

ปัจจัยเสี่ยงหลักในปี 2566 ได้แก่ ความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอยจากการใช้นโยบายการเงินเข้มงวดมาเป็นระยะเวลานาน ต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงาน และการชะลอตัวของภาคการบริโภค