‘PMI’ จีนเดือน มี.ค. ส่งสัญญาณชัด ‘เศรษฐกิจเริ่มฟื้น’ แม้เจอมรสุมรุมเร้า

‘PMI’ จีนเดือน มี.ค. ส่งสัญญาณชัด ‘เศรษฐกิจเริ่มฟื้น’ แม้เจอมรสุมรุมเร้า

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สำหรับภาคธุรกิจนอกภาคการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ชี้ชัดเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวดี แม้กูรูหวั่นว่างงานสูง-ภาคอสังหาฯ ส่อแววผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่

Key Points

  • ดัชนี PMI จีนสำหรับภาคธุรกิจนอกภาคการผลิตปรับตัวสูงขึ้น 58.2 จุด ในเดือน มี.ค.
  • นักวิเคราะห์มองว่า จีดีพีจีนปี 2566 อาจโตได้ถึง 6% แต่อุปสงค์สำหรับสินค้าที่ผลิตในจีนทั่วโลกยังคงอ่อนแอซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโต
  • การจ้างงานในภาคการผลิตและนอกภาคการผลิตเดือน มี.ค. หดตัว ส่งผลให้จ้างงานอ่อนแอ
  • แม้ PMI ภาคการก่อสร้างปรับตัวดี แต่ภาคอสังหาฯ ยังอยู่ในความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานวันที่ 31 มี.ค. 2566 ว่า สภาวะเศรษฐกิจจีนในเดือน มี.ค. ปรับตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการเติบโตของภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคการก่อสร้างยังปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งส่งผลให้แนวโน้มการเติบโตของตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนปีนี้ยังคงสดใส

ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สำหรับภาคธุรกิจนอกภาคการผลิตในเดือน มี.ค. ปรับตัวสูงขึ้น 58.2 จุดซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2554 ซึ่งดัชนี PMI ของภาคการก่อสร้างเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ดึงดัชนีดังกล่าวให้พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

ด้านตัวเลข PMI ของภาคการผลิตในเดือน มี.ค. ปรับตัวสูงขึ้นเหนือการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ 51.9 จุด แม้ตัวเลขดังกล่าวจะลดลงเล็กน้อยจากระดับก่อนหน้าในเดือน ก.พ. 

ทั้งนี้ ตัวเลข PMI เป็นมาตรวัดทางเศรษฐกิจตัวแรกที่ประกาศออกมาสำหรับเดือน มี.ค. ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างแข็งแกร่งหลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) 

บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคจะดีดตัวขึ้นและการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่แข็งแกร่งจะช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2566 ให้เติบโตอยู่ในระดับ 5.3% จากปีก่อนหน้าที่อยู่เพียง 3%

ด้านตลาดหุ้นในจีนและฮ่องกงปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับดัชนีตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย โดยดัชนีหุ้นจีนที่จดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ในศูนย์กลางการเงินพุ่งสูง 2.4% ซึ่งนับเป็นการเคลื่อนไหวที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค 

นอกจากนี้ สกุลเงินหยวนแข็งค่าขึ้น โดยค่าเงินหยวนในตลาดต่างประเทศ (Offshore Market) แข็งค่าขึ้น 0.2% สู่ระดับ 6.8603 หยวนต่อดอลลาร์ (ประมาณ 34.04 บาท ) ณ เวลา 11.38 น. ตามเวลาท้องถิ่นจีน หรือ 10.38 น. ตามเวลาวันนี้ของประเทศไทย

ด้านจื้อเว่ย จาง (Zhiwei Zhang) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่พินพอยต์ แอสเสท แมเนจเมนท์ (Pinpoint Asset Management) กล่าวว่า

“ดัชนี PMI ชี้ชัดว่าเศรษฐกิจจีนกำลังกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ และโมเมนตัมเชิงบวกเช่นนี้ก็จะยังอยู่ในเดือนถัด ๆ ไป โดยเรามองว่าจีดีพีปี 2566 น่าจะโตมากกว่า 6%”

ส่วนสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ให้ข้อมูลว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคบริการปรับตัวสูงขึ้น “เนื่องจากผลของมาตรการส่งเสริมการบริโภคจากรัฐบาลท้องถิ่น” และภาคประชาชนแสดงความเต็มใจที่จะใช้จ่ายและเดินทางท่องเที่ยว ประกอบสภาพอากาศที่อุ่นขึ้นยังช่วยให้โครงการก่อสร้างดำเนินต่อไปได้ทั่วประเทศ

หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวในระหว่างการประชุมโป๋อ่าว (Boao Forum) ในมณฑลไห่หนาน ทางภาคใต้ของประเทศ (Hainan) กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในเดือน มี.ค. แข็งแกร่งขึ้นจาก 2 เดือนแรกของปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการบริโภคและการลงทุนฟื้นตัวขึ้น ส่วนการจ้างงานและเงินเฟ้ออยู่ในลักษณะทรงตัว โดยคาดว่าตลาดหุ้นจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ หลี่ พยายามคลายความกังวลของนักลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับการลงทุนในจีนท่ามกลางความตึงเครียดกับสหรัฐที่ทวีความรุนแรงขึ้น และให้คำมั่นว่าจีนจะเป็น “เสาหลักแห่งสันติภาพของโลก” พร้อมระบุว่าจะออกมาตรการใหม่เพื่อขยายการเข้าถึงตลาดและปรับปรุงปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจด้วย

ด้าน เหยา เว่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้านเอเชียแปซิฟิกและจีนจาก โซซิเอเต้ เจเนเรล เอสเอ (Societe Generale SA) กลุ่มธนาคารสัญชาติฝรั่งเศส กล่าวว่า หากรัฐบาลกลางสามารถทำให้ภาคบริการและภาคการบริโภคกลับมาเป็นปกติและมีเสถียรภาพได้ ปีนี้เศรษฐกิจจีนอาจโตได้ถึง 5.5% หรือมากกว่า

“รัฐบาลไม่จำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นอะไรมากมาย เพราะสิ่งที่ส่งผลเชิงบวกมากกว่ามาตรการกระตุ้นต่าง ๆ คือท่าทีของรัฐบาลกลางที่เป็นมิตรกับภาคเอกชนมากขึ้น”

ส่วน โฮ เวย เฉิน นักเศรษฐศาสตร์ที่ยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ แบงก์ (United Overseas Bank) หรือ UOB ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะหยุดขึ้นชั่วคราว แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอัตราส่วนเงินสำรอง (The Reserve Requirement Ratio) ลงอีกก็ตาม

อย่างไรก็ดี บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า แม้กิจการทางเศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการจับจ่ายใช้สอยและภาคการก่อสร้างจะปรับตัวเป็นบวกมากขึ้น แต่ความต้องการสินค้าที่ผลิตในจีนทั่วโลกยังคงอ่อนแอ ซึ่งส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตในประเทศด้วย

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลบ่งชี้การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ในเดือน มี.ค. เศรษฐกิจจีนเติบโตแบบผสมผสาน แต่ยอดขายรถยนต์และการปฏิสัมพันธ์ทางการค้าโลก (Global Trade) อ่อนแอลง

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์จีนยังอยู่ในความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ ท่ามกลางวิกฤติฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ และการประกาศนโยบาย “สามเส้นแดง” ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีสัญญาณว่าราคาและยอดขายในภาคอสังหาฯ จะอยู่ในสภาวะทรงตัวก็ตาม 

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

เปิดสาเหตุ วิกฤติอสังหาฯ จีน หวั่นจีดีพี 66 โตช้ากว่าคาด เหตุผิดนัดชำระหนี้

 

ท้ายที่สุด การสำรวจตัวเลข PMI ของจีน แสดงให้เห็นว่า การจ้างงานในภาคการผลิตและนอกภาคการผลิตในเดือน มี.ค. อยู่ในแนวโน้มหดตัว ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้การว่างงานเพิ่มสูงขึ้น จนกระทบต่อการฟื้นตัวของผู้บริโภค

ด้าน บรูซ ปัง (Bruce Pang) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนแผ่นดินใหญ่จาก โจนส์ แลง ลาซาลล์  (Jones Lang LaSalle) กล่าวว่า

“จากภาพรวมเศรษฐกิจจีนทั้งในภาคการผลิตและนอกการผลิต ส่งผลให้อัตราการจ้างงานอ่อนแอลง ดังนั้นรัฐบาลต้องดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการจ้างงานมากขึ้น”