บลจ.ชี้ 'กองทุนยุโรป' เงินไหลออก ยันไม่มีนัย

บลจ.ชี้ 'กองทุนยุโรป' เงินไหลออก ยันไม่มีนัย

บลจ.ยันแรงขาย“หุ้นกู้เอทีวัน”ดอยช์แบงก์ ผลกระทบต่อไทยจำกัด  บลจ.กรุงศรี เผยมีเม็ดเงินไหลออกกองทุนยุโรป 0.2-0.65%ของเอ็นเอวี จากปัญหาเครดิตสวิส  ไม่กระทบสภาพคล่อง  “อีสท์สปริง” ชี้แรงขายปรับพอร์ตยังตามปกติ ไม่มีนัยสำคัญ

สิ้นสัปดาห์ก่อน นักลงทุนต่างประเทศ แห่เทขายตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) หรือ AT1 ของดอยช์แบงก์จากความไม่มั่นใจลงทุน ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)ไทย ต่างให้ความเห็นว่า ภาพรวมกองทุนของไทย ไม่มีการลงทุนโดยตรงใน หุ้นดอยช์แบงก์ ทั้งกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ และกองทุนหุ้นยุโรป เป็นการลงทุนผ่านกองทุนหลักต่างประเทศ (มาสเตอร์ฟันด์)

นายศิระ คล่องวิชา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า กองทุนหุ้นยุโรปของ บลจ.กรุงศรี ได้แก่ KFHEUROP, KF-EUROPE และ KFEURORMF ที่มีนโยบายการลงทุนใน กองทุนหลักAllianz Europe Equity Growth Fund นั้น ไม่มีการลงทุนในหุ้นของดอยช์แบงก์

โดยในช่วงที่ครึ่งเดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่มีข่าวเรื่องความเสี่ยงของ Credit Suisse และการ write down AT1 ของ Credit Suisse นั้นกองทุนยุโรป KFHEUROP เจอกับ outflow ราว 0.65% ของขนาด NAV,กอง KF-EUROPE เจอกับ outflow ราว 0.6% ของขนาด NAV และกอง KFEURORMF เจอกับ outflow ราว 0.2% ของขนาด NAV ซึ่งยังไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนหุ้นยุโรป

นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง กล่าวว่า ในส่วนของบลจ.อีสท์สปริงค์มีราว 2 กองทุนที่เกี่ยวข้องกับดอยช์แบงก์ อยู่ระหว่างสอบถามข้อมูลกับมาสเตอร์ฟันด์ คาดผลกระทบจำกัดมากกว่ากรณีเครดิตสวิส อีกทั้งสถานะดอยช์แบงก์เป็นยังแข็งแกร่ง แต่ภายใต้เมื่อมีข่าวดังกล่าวสามารถทำให้เกิดความกังวลของนักลงทุนระยะสั้นเท่านั้น แต่ผลกระทบต่อไทยยังจำกัดมากปัจจุบันยังไม่พบแรงขายของผู้ถือหน่วยอย่างมีนัยสำคัญ

โดยยังเห็นเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในต่างประเทศ ทั้งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและหุ้นกู้เอกชนไทยในระดับลงทุน ให้ผลตอบแทนดีในปีนี้ ส่วนกองทุนหุ้นยุโรปและตราสารหนี้ต่างประเทศ ยังแนะรอดูสถานการณ์ชัดเจนก่อน แต่หากผู้ลงทุนมีจังหวะอาจปรับพอร์ตลดเสี่ยงเช่นกัน

“การปรับพอร์ตของนักลงทุนตอนนี้เป็นการปรับพอร์ตต่อเนื่องจากปีก่อน ไม่ได้ปรับพอร์ตเพราะปัญหาแบงก์ล้มในสหรัฐและยุโรป ”