ออมสินอัดสินเชื่อ BCG หนุนภารกิจ ”โซเชียลแบงก์”

ออมสินอัดสินเชื่อ BCG หนุนภารกิจ ”โซเชียลแบงก์”

บทบาทธนาคารออมสินระยะที่ผ่านมาชัดเจนมากขึ้น ในการเป็นธนาคารเพื่อสังคมเต็มรูปแบบ หรือที่เรียกว่า โซเชียลแบงก์ ลูกค้ากลุ่มหลักที่เข้าไปช่วยเหลือ ผ่านการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำคือ ประชาชนระดับฐานราก และผู้ประกอบการรายย่อย ปัจจุบันมีฐานลูกค้ากลุ่มนี้กว่า 60%

เพื่อเติมเต็มภารกิจโซเชียลแบงก์ ธนาคารออมสินยังให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่มีโมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีการเติบโตที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาช่วยต่อยอดธุรกิจ

 

วีระชัย อมรถกลสุเวช รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลูกค้าธุรกิจ และภาครัฐ หนึ่งในผู้เข้าอบรมหลักสูตร Wealth Of Wisdom : WOW ซึ่งจัดโดย กรุงเทพธุรกิจและฐานเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า ระยะที่ผ่านมา ธนาคารได้สนับสนุนสินเชื่อที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และ การกำกับดูแลที่โปร่งใส หรือที่เรียกว่า ESG ซึ่งย่อมาจาก Environment , Social และ Governance เช่น การปล่อยสินเชื่อโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ เป็นต้น 

 

อย่างไรก็ดี การปล่อยสินเชื่อ ESG ถือเป็นการปล่อยสินเชื่อในภาพใหญ่ แต่ขณะนี้ เรามีโปรเจกต์สินเชื่อที่เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจได้ดูแลสังคมไปด้วย

 

เราทำสินเชื่อตัวนี้ เพื่อธุรกิจที่เติบโตยั่งยืน และดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วย เช่น สมัยก่อนเราเคยเจอถ้วยน้ำกระดาษใช้แรงงานเด็ก เราก็ไม่ให้แล้ว ฉะนั้น เขาก็ต้องไปปรับตัว อะไรก็ตามแต่ เอสเอ็มอีถ้าจะเติบโตยั่งยืนต้องเอาเทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาช่วย"

       โดยเอา BCG เข้ามากำหนดรูปแบบการปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้เขาทำสิ่งใหม่ๆ โดยให้แรงจูงใจด้านอัตราดอกเบี้ย ใครก็ตามที่ใช้โมเดลนี้ นอกจากนี้ เราเอา ESG Score มาใช้ หากใครผ่านเกณฑ์ ก็จะได้ดอกเบี้ยพิเศษที่ลดลง 0.25-0.50% ซึ่งเราก็โฟกัสไปที่บริษัทจดทะเบียน ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา เราปล่อยสินเชื่อ BCG ไปแล้วประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ในปีนี้ตั้งวงเงินที่ 1.2 หมื่นล้านบาท

วีระชัย  กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อธุรกิจ และภาครัฐของธนาคารนั้น ปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นสินเชื่อธุรกิจจำนวน 2.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อรายใหญ่ไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นสินเชื่อเอสเอ็มอีราว 1.7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นสินเชื่อ BCG จำนวนไม่มากหรือหลักหมื่นล้านบาท แต่เราก็พยายามที่จะสนับสนุน เพื่อการเติบโตของธุรกิจที่ยั่งยืน

สินเชื่อ BCG อยู่ใน 2.7 แสนล้านบาท ก็ไม่ได้เยอะ เพราะไส้ใน BCG ต้องมีการปรับตัวเยอะ ไม่ใช่ว่า ทุกธุรกิจที่จะไปทาง BCG ได้ทั้งหมด ซึ่งเราต้องตีความ เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แม้กระทั่งรถไฟฟ้า จะจัดอยู่กลุ่มไหนใน BCG เป็น Green Economy ใช่ไหม เป็นต้น”

ทั้งนี้แม้ธนาคารจะให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อธุรกิจ แต่ก็จะไม่ไปปล่อยสินเชื่อแข่งกับแบงก์พาณิชย์มากนัก แต่จะมุ่งเน้นไปทางสินเชื่อเพื่อธุรกิจSMEs ซึ่งในหลักของการปล่อยสินเชื่อธุรกิจของธนาคาร ก็เพื่อนำกำไรจากสินเชื่อธุรกิจไปสนับสนุนภารกิจโซเซียลแบงก์ โดยโครงสร้างสินเชื่อหลักจะเน้นไปยังกลุ่มฐานราก ขณะเดียวกัน ส่วนหนึ่งของกำไรยังต้องนำส่งเข้ารัฐด้วย ซึ่งระยะกว่า10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารนำส่งรายได้เข้ารัฐกว่า 2 แสนล้านบาท

ในช่วงโควิด เราช่วยคนฐานรากเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อนำไปเป็นสภาพคล่อง นำไปประกอบอาชีพ ผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ขณะเดียวกัน เรายังเข้าไปลดภาระหนี้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ผมว่า เราให้กู้ผ่านโครงการต่างๆ ไปเกือบ  2 แสนล้านบาท ขณะเดียวกัน ก็ให้กู้ตรงผ่านซอฟต์โลนใน 3 ปีที่ผ่านมา หลายแสนล้านบาท โดยในปี 63-65 เราผุดโปรเจกต์ที่มีเงิน เอาคอนเซปต์ คอเลสเตอรอล เบส ที่ไม่ดูความสามารถของลูกหนี้ และไม่ดูรายได้ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเราปล่อยไปได้ 2.5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการเติมลมหายใจให้ผู้ประกอบการ เป็นโครงการที่ประสบสำเร็จ”

สำหรับขณะนี้ เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ การให้ความช่วยเหลือสินเชื่อควรกลับมาอยู่ในภาวะปกติ ดังนั้น สินเชื่อในลักษณะซอฟต์โลนก็ควรสิ้นสุดลง โดยธุรกิจที่มีการเติบโตได้ดี คือ ภาคบริการ และการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี การลงทุนในธุรกิจต่างๆ นับจากนี้จะต้องศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าให้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดโควิด ลูกค้าเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีมากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจให้มากขึ้น

ในส่วนหลักสูตร WOW นั้น เขาเห็นว่า ในหลักสูตรนี้ คิดว่า เป็นตัวจุดประกายไอเดีย เพราะหลักสูตรได้คัดคนเข้ามาเรียน ชื่อโครงการไม่ได้ดูแค่เรื่องของเงิน แต่เป็นเรื่องของขุมทรัพย์ทางปัญญา การที่เราคัดคนมาจากหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะระดับผู้บริหาร ทำให้เกิดการแบ่งปันเกิดการเรียนรู้ สิ่งหนึ่งที่ได้ คือ คอนเนคชั่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชน

นอกจากนี้ ยังมองว่า ระยะเวลาของหลักสูตรไม่ยาวไป เพราะผู้ที่เข้ามาเรียนเป็นระดับผู้บริหารมักจะไม่มีเวลา ส่วนเรื่องเนื้อหาเป็นประเด็นรอง โดยคนที่ถูกคัดเข้ามาเรียนมีความรู้ ความสามารถ ระดับหนึ่ง เพราะคนที่มาเรียนไม่ได้เป็นคนที่เพิ่งเริ่มประกอบธุรกิจ แต่เป็นคนที่ทำธุรกิจสำเร็จมาระดับหนึ่ง ฉะนั้น จึงเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์