สึนามิการเงินโลกกระทบไทยอย่างไร | พงศ์นคร โภชากรณ์ 

สึนามิการเงินโลกกระทบไทยอย่างไร | พงศ์นคร โภชากรณ์ 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลกขณะนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องระบบการเงินโลกเข้าทำนอง “ความวัวยังไม่ทันหาย (เงินเฟ้อ โควิด-19) ความควายก็เข้ามาแทรก (ธนาคารล้มในสหรัฐ)”

แม้ว่าสถานการณ์การต่อสู้กับเงินเฟ้อของสหรัฐและยุโรป กำลังไปได้ด้วยดี เงินเฟ้อเริ่มลดลงตามลำดับ อาวุธที่ใช้ต่อสู้กับเงินเฟ้อก็คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เกือบจะชนะอยู่แล้ว

แต่ผลข้างเคียงของอาวุธร้ายแรงชนิดนี้ ย้อนกลับมาทำลายระบบการเงิน ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปอย่างเจ็บปวด

วันที่ 10 มี.ค.2566 ทางการสหรัฐสั่งปิดธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley Bank : SVB)

svb ก่อตั้งในปี 2526 ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ช่วยสนับสนุนพวกบริษัทสตาร์ตอัปและบริษัทกองทุนร่วมทุน (VC) หลายแห่งทั่วโลก เริ่มส่งสัญญาณไม่ดี

เมื่อธนาคารระบุว่า มีความจำเป็นที่จะต้องระดมทุนจำนวน 2.25 พันล้านดอลลาร์ เพื่อนำมาใช้ในการพยุงงบดุลของธนาคาร 

โดยบริษัทกองทุนร่วมทุนเหล่านั้น ได้บอกให้บริษัทในเครือข่ายถอนเงินออกจากธนาคาร ทำให้ลูกค้าที่มีเงินฝากกับธนาคารต่างแห่ถอนเงินฝากออกจากธนาคาร นี่คือเหยื่อรายแรกของสึนามิการเงินโลก

ต่อมาเพียง 2 วัน ในวันที่ 12 มี.ค.2566 ก็ปรากฏเหยื่อรายที่สอง ได้แก่ ธนาคารซิกเนเจอร์ (Signature Bank) ก่อตั้งในปี 2520 เน้นปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี

เหตุที่ต้องปิดตัวลงเนื่องจากลูกค้าของธนาคารได้แห่เข้าถอนเงินจากธนาคารซิกเนเจอร์ รวมกันมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ 

สึนามิการเงินโลกกระทบไทยอย่างไร | พงศ์นคร โภชากรณ์ 

จากความวิตกกังวลต่อกรณีของการปิดธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ส่งผลให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เข้ามาดูแลและระบุว่าผู้ฝากเงินทั้งหมดของทั้งสองธนาคารนี้จะได้รับการคุ้มครอง

ต่อมาไม่กี่ชั่วโมง ก็ปรากฏชื่อเหยื่อรายที่สาม ซึ่งถูกปิดไปก่อนธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ไม่กี่วัน แต่ชื่อเพิ่งโผล่มา ได้แก่ ธนาคารซิลเวอร์เกต (Silvergate Bank) ก่อตั้งในปี 2531

ธนาคารนี้ล้มลงหลัง Silvergate Capital Corp ประกาศยุติการดำเนินงานและขายสินทรัพย์ของธนาคารออกไป 

เนื่องจากประสบปัญหาด้านการเงินอย่างรุนแรง ราคาหุ้นของบริษัทลดลงไปถึง 99% เดิมทีธนาคารนี้ปล่อยกู้ด้านอสังหาริมทรัพย์และศูนย์การค้า ต่อมาในปี 2556 เริ่มปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี

กลางดึกวันที่ 15 มี.ค.2566 ก็ปรากฏชื่อของเป้าหมาย ร่างใหญ่ ชื่อคุ้นหู รายถัดไปของสึนามิ คือ เครดิตสวิส (Credit Suisse) ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ รองจากธนาคารยูบีเอส (UBS)

เครดิตสวิสก่อตั้งในปี 2399 อายุยาวนานถึง 167 ปี มีขนาดทางการเงินใหญ่กว่า 3 ธนาคารแรกมาก มีความเชื่อมโยงกับธนาคารใหญ่ๆ ทั้งในยุโรปและสหรัฐ 

นักการเงินทั่วโลกมองว่าเป้าหมายรายนี้ใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้ม ถ้าล้มขึ้นมา ธนาคารที่เล็กกว่าคงรอดยาก และส่งผลกระทบทั่วโลกแน่นอน

แต่ภายใต้ความใหญ่ของเครดิตสวิสยังมีความเปราะบางให้เห็น เพราะธนาคารแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย (Saudi National Bank) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญเกือบร้อยละ 10 จะไม่ลงทุนถือหุ้นเพิ่ม 

สึนามิการเงินโลกกระทบไทยอย่างไร | พงศ์นคร โภชากรณ์ 

ส่งผลให้ตลาดทุนในยุโรปเกิดความกังวลและทรุดตัวลงอย่างมาก เฉพาะตัวเครดิตสวิสเองร่วงลงถึง 30% ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลของสวิสให้คำมั่นว่า จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคารเครดิตสวิส

โดยธนาคารจะกู้ยืมเงินจากธนาคารแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์ราวๆ 5 หมื่นล้านฟรังก์สวิส หรือประมาณ 1.86 ล้านล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง

ปัญหาของภาคการเงินในสหรัฐและยุโรป ทำให้เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2566 ตลาดหุ้นสหรัฐ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ ร่วงตามกันไป

เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงอย่างมากทั้งดูไบ เบรนต์ และเวสต์เท็กซัส มาอยู่ที่ 77.9, 73.7 และ 67.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยเฉพาะเบรนต์และเวสต์เท็กซัสเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 450 และ 467 วัน ตามลำดับ 

สึนามิการเงินโลกกระทบไทยอย่างไร | พงศ์นคร โภชากรณ์ 

ความกังวลในภาคการเงินดังกล่าวกลับส่งผลให้ราคาทองปรับตัวสูงขึ้นอยู่ในช่วง 1,900-1,950 ต่อออนซ์ จะเห็นว่า มีความผันผวนซ่อนอยู่ในตลาดทุน ตลาดน้ำมัน และตลาดทอง

แล้วผลกระทบที่มายังไทยจะเป็นอย่างไร อันดับแรกเลยก็คงเป็นเรื่องของความตื่นตระหนก ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนในระยะแรก ตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่อาจจะลดลง

ฉะนั้น ในระยะแรกจำเป็นต้องจับตาอย่างใกล้ชิดมากๆ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เนื่องจากธนาคารกลางของประเทศใหญ่ในยุโรปต้องรีบทำลายสึนามิลูกนี้ลงก่อนจะสายเกินไป

ถัดมาคงต้องจับตาว่า ธนาคารกลางของสหรัฐและประเทศในยุโรปจะเอาอย่างไรกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย “จะไปต่อหรือพอแค่นี้” ไปต่อ หมายถึง ยังคงแนวทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเอาไว้เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่ยังไม่ลดลงถึงระดับที่ต้องการพอแค่นี้ 

หมายถึงไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว แต่หันกลับมาดูแลระบบการเงินให้แข็งแรงก่อน ฉะนั้น การขึ้นหรือไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ย่อมส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและค่าเงินของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ด่านต่อมาจะเป็นผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงของไทย (Real sector) ซึ่งผมเชื่อว่าปรากฏการณ์ระบบการเงินโลกนี้ น่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากนัก

เพราะเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคและระบบการเงินของไทยยังมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง แต่ถ้าลุกลามขยายวงมากขึ้นก็จะส่งผลมากขึ้น

แรกสุดที่จะโดนผลกระทบ คือ 1) ภาคการส่งออก เพราะผูกโยงอยู่กับอุปสงค์ของเศรษฐกิจโลก หากเศรษฐกิจโลกนิ่งรอดูสถานการณ์ ปริมาณการค้าก็อาจจะไม่เฟื่องฟูเหมือนที่วาดภาพไว้ตอนต้นปี

หากการส่งออกสินค้าหวังพึ่งไม่ได้ก็ลำบากเพราะนี่เป็นเครื่องยนต์ใหญ่สุดใน GDP ของไทย และมีผลเชื่อมโยงไปข้างหลัง (Backward linkage) ไปยังผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีคำสั่งซื้อของผู้จัดการ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม

สึนามิการเงินโลกกระทบไทยอย่างไร | พงศ์นคร โภชากรณ์ 

2) ตัวถัดมาผสมปัจจัยด้านจิตวิทยาหน่อยๆ คือ การบริโภคภาคเอกชน ที่มีขนาดเครื่องยนต์เล็กกว่าส่งออกแต่ก็เป็นครึ่งหนึ่งของ GDP ตัวสะท้อน คือ การจับจ่ายใช้สอยที่เกิดขึ้นจริงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

แม้หลายเดือนที่ผ่านมา ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีวันดีคืน แต่ให้จับตาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค.2566 ที่น่าจะออกมาต้นเดือน เม.ย2566 ว่าจะลดลงหรือไม่เพียงใด เพราะเมื่อคนกังวลก็จะเก็บเงินไว้กับตัว 

และ 3) ตัวที่อาจจะชะลอการตัดสินใจ คือ การลงทุนภาคเอกชน เพื่อรอดูสถานการณ์ก่อนสักระยะ

อย่างไรก็ตาม ตัวช่วยสนับสนุนหรือประคับประคองเศรษฐกิจ คือ การใช้จ่ายภาครัฐ ที่เป็นพระเอกเสมอยามเกิดวิกฤติ สามารถผันเงินไปช่วยผ่านการบริโภคภาคเอกชนได้

ส่วนอีกตัวที่เป็นความหวังของหมู่บ้านก็คือ การท่องเที่ยวที่กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่น่าจะได้รับผลกระทบแต่อย่างใด 

บวกกับการดำเนินมาตรการที่ดุดันและรวดเร็วของธนาคารกลางสหรัฐและสวิตเซอร์แลนด์ น่าจะเปลี่ยนจากหนักเป็นเบาได้ ฉะนั้น ผลกระทบที่มาถึงไทยก็น่าจะอยู่ในวงจำกัด แต่เราต้องจับตาสึนามิการเงินโลกรอบนี้ดีๆ ครับ เพราะหลายคนเชื่อว่ายังไม่จบ

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด.