การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ กับ ปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินโลก

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ กับ ปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินโลก

ข่าวใหญ่ในวงการตลาดเงินตลาดทุนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่พ้นข่าวทางการสหรัฐเข้าควบคุมกิจการธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ในช่วงข้ามคืนวันศุกร์ที่ 10 มี.ค.2566 ตามเวลาในประเทศไทย

SVB นับเป็นเหยื่อรายล่าสุด ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร็วและแรงของธนาคารกลางทั่วโลก เพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ

ตอกย้ำว่าปัจจัยหลักที่กดดันเสถียรภาพระบบการเงินโลกในปัจจุบันไม่ใช่การระบาดของโควิด-19 อีกต่อไป แต่เป็นการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลัก

ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ กองทุนบำเหน็จบำนาญหลายกองทุนของอังกฤษ และสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารหลายแห่งในเกาหลีใต้เกือบจะต้องผิดนัดชำระหนี้เป็นวงกว้าง ถ้าภาครัฐของทั้งสองประเทศไม่ได้เข้าไปดูแลสถานการณ์ด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องปริมาณมากเข้าไปในตลาดการเงิน

เนื่องจากประเมินว่าถ้าปล่อยไปตามยถากรรมจะเกิดเป็นความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic risk) ที่ทำให้ระบบการเงินของประเทศมีปัญหารุนแรงได้ 

ในกรณีอังกฤษ การอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการประกาศรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลในปริมาณที่ไม่จำกัดนั้น ไม่เพียงพอที่จะเรียกความเชื่อมั่น จึงต้องมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีด้วย

กรณี SVB แม้จะได้ชื่อว่าเป็นธนาคารที่ใหญ่ลำดับสองในสหรัฐ ที่ถูกสั่งปิดตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกในปี 2551 แต่ด้วยขนาดสินทรัพย์ประมาณ 7 ล้านล้านบาท (209 พันล้านดอลลาร์) ถือว่าเล็กมากที่ตัวของมันเองจะทำให้เกิดปัญหาเสถียรภาพในระบบธนาคารของสหรัฐ

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ กับ ปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินโลก

สาเหตุสำคัญ ที่ทางการสหรัฐประกาศอุ้มผู้ฝากเงินทุกรายของ SVB (ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะเงินฝากของ SVB ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากมูลค่าสูงที่ไม่ได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน) มาจากการที่ SVB เป็นธนาคารหลักของบริษัทเทคโนโลยีและบริษัทคริปโทฯ

เช่น บริษัท Circle ผู้ออกเหรียญ USDC stablecoin มีเงินฝากถึง 3,300 ล้านดอลลาร์กับ SVB หากการล้มของ SVB ฉุดผู้เล่นรายใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินลงไปด้วย อาจกระทบเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอย่างรุนแรงได้

ทั้งนี้ กรณี SVB ต้องถือว่าไม่ใช่กรณีปกติสำหรับธุรกิจธนาคาร เพราะโดยทั่วไปแล้ว ธุรกิจธนาคารได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net interest margin) ที่เพิ่มสูงขึ้น จากต้นทุนเงินฝากที่ปรับขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าผลตอบแทนเงินกู้ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น

SVB เป็นเพียงหนึ่งในธนาคารจำนวนหยิบมือของสหรัฐ ที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลงในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว

กรณีของ SVB ค่อนข้างเป็นกรณีเฉพาะ ด้วยมาจากการที่ SVB มีสินทรัพย์จำนวนมาก (ร้อยละ 56 ของสินทรัพย์รวม) ในรูปของตราสารหนี้ เทียบกับธนาคารทั่วไปที่สินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นเงินให้กู้ยืม

ซึ่งอัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ที่ปรับสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หมายความว่าราคาของตราสารหนี้ที่ SVB ถือครองปรับลดลง

กระนั้นก็ตาม การลดลงของมูลค่าตราสารหนี้ที่ SVB ถือครองเป็นแค่ Unrealized loss ซึ่งไม่ควรถึงกับทำให้ธนาคารล้ม ปัจจัยเฉพาะที่สองของ SVB คือ ฐานเงินฝากส่วนใหญ่กระจุกตัวที่บริษัทเทคโนโลยีและบริษัทคริปโทฯ ที่ไหลออกมาก เพราะในระยะหลังทั้งสองอุตสาหกรรมค่อนข้างมีปัญหา

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ กับ ปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินโลก

ทำให้ SVB ต้องขายขาดทุนตราสารหนี้ที่ถือครองออกมา เพื่อนำเงินสดมาให้กับคนถอนเงิน ซึ่งพอเป็นข่าวว่า SVB ขาดทุนมากจนต้องขายหุ้นเพิ่มทุน ยิ่งทำให้เกิดการแห่ถอนเงินฝาก จนที่สุดแล้วทางการต้องเข้ามาควบคุม

บทเรียนสำคัญของกรณี SVB และของสองกรณีก่อนหน้าในอังกฤษและเกาหลีใต้ คือ พัฒนาการของปัญหา “น้ำลด ตอผุด” เกิดขึ้นได้แทบทุกที่ในโลก และเลวร้ายลงได้เร็วมาก (กรณี SVB เป็นข่าวก่อนถูกปิดเพียง 2 วัน)

ผู้ดำเนินนโยบายจึงต้องติดตามประเมินความเสี่ยงในจุดต่างๆ โดยเฉพาะในจุดที่รูปแบบการดำเนินธุรกิจอ่อนไหวกับการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีแผนรองรับเพื่อดูแลสถานการณ์อย่างทันท่วงทีในกรณีเลวร้าย

สำหรับธนาคารกลางสหรัฐ กรณี SVB น่าจะมีผลต่อการตัดสินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยล่าสุด ตลาดการเงินได้ปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐในสัปดาห์หน้าจากเดิมที่คาดว่าอาจจะขึ้นถึงร้อยละ 0.50 ต่อปี ลงเป็นร้อยละ 0.25 ต่อปี หรือกระทั่งไม่ขึ้นเลย

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ กับ ปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินโลก

 ขณะที่มองไปข้างหน้า แม้ตลาดจะมองว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐยังจะขึ้นต่อ (แม้รายที่มองว่าธนาคารกลางสหรัฐจะไม่ขึ้นรอบนี้ ก็มองว่าจะเป็นการหยุดเพียงชั่วคราว เพื่อรอดูสถานการณ์) แต่น่าจะไปหยุดที่ร้อยละ 5.00-5.25 ต่อปี (จากปัจจุบันที่ร้อยละ 4.50-4.75 ต่อปี) 

หากเป็นไปตามที่ตลาดคาด โอกาสที่จะเห็นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐปรับขึ้นไปที่ร้อยละ 6-7 ต่อปี ตามที่บางฝ่ายกังวลกันก่อนหน้านี้ ซึ่งจะมีผลให้เศรษฐกิจสหรัฐ (และเศรษฐกิจโลก) ถดถอยรุนแรง คงจะลดลงไปพอสมควร

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุน เนื่องจากตลาดไม่ใช่คนตัดสินนโยบายดอกเบี้ย ความไม่แน่นอนของทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ น่าจะส่งผลให้ตลาดเงินและตลาดทุนในระยะต่อไปยังมีความผันผวนสูง

และที่สำคัญ กรณี SVB คงไม่ใช่กรณีสุดท้าย ตราบเท่าที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐยังเป็นขาขึ้น ซึ่งจะกดดันให้ธนาคารกลางอื่นปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม 

ต่อให้ธนาคารกลางสหรัฐหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถ้าอัตราดอกเบี้ยยังทรงตัวในระดับสูงเป็นเวลานาน คงหลีกเลี่ยงปัญหา “น้ำลด ตอผุด” จากสภาพคล่องในระบบการเงินที่ตึงตัวขึ้นได้ยากครับ 

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด