กูรูแนะจับตาแบงก์ญี่ปุ่น หลังพบลงทุนในบอนด์สหรัฐจำนวนมาก

กูรูแนะจับตาแบงก์ญี่ปุ่น หลังพบลงทุนในบอนด์สหรัฐจำนวนมาก

กูรูกังวลญี่ปุ่นรับผลกระทบจากการล่มสลายของแบงก์สหรัฐ 3 แห่งหนักที่สุดในเอเชีย เหตุลงทุนในบอนด์สหรัฐจำนวนมาก จนวานนี้ ‘Topix Bank Index’ ของญี่ปุ่นย่อตัวลงเกือบ 16% รวมทั้ง 3 ช่วงการเทรด ด้าน ‘Value-at-risk’ เพิ่มแตะ  5.61 แสนล้านบาท จากเดิมอยู่เพียง 2.937 แสนล้านบาท

Key points

  • ช่วงที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นใช้ ‘มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงรุก’ ผลตอบแทนสินทรัพย์ในประเทศอยู่ในระดับต่ำ
  • จากเหตุผลข้างต้น ทางการจึงเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหนี้ต่างประเทศ​รวมทั้งบอนด์สหรัฐ
  • วานนี้ (14 มี.ค.) ดัชนี ‘Topix Bank Index’ ของญี่ปุ่นปิดตลาดย่อลงกว่า 7% ทำให้ภาพรวมทั้ง 3 ช่วงของการเทรด ดัชนีฯ จึงดิ่งรวมเกือบ 16%
  • มูลค่าความเสี่ยงของการถือครองบอนด์ของธนาคารญี่ปุ่น (Value-at-risk) ในรูปสกุลเงินดอลลาร์แตะระดับ 5.61 แสนล้านบาท ช่วงเม.ย. - มิ.ย.ปี 2022  ในขณะที่ต้นปี 2014 อยู่เพียง 2.937 แสนล้านบาท
  • อย่างไรก็ดี กูรูมองว่าธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ในจุดที่น่ากังวลมากขนาดนั้น เพราะสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยแตะระดับ 5% แต่บอนด์ยีลด์ญี่ปุ่นเพิ่มเพียง 0.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

จากการล่มสลายของ Silicon Valley Bank หรือ SVB ธนาคารที่เน้นให้บริการกับกลุ่มสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยี วันนี้ (15 มี.ค.) นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งเริ่มแสดงความกังวลว่าประเทศญี่ปุ่นอาจเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียเหนือที่ได้รับผลกระทบจากการล่มสลายดังกล่าว เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นหลายแห่งลงทุนบอนด์ของสหรัฐจำนวนมาก ส่งผลเชิงลบต่อเนื่องถึงหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญ

การล่มสลายของ SVB ส่วนใหญ่เพราะธนาคาร​ เข้าไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวด้วยเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ เพราะมั่นใจเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย รวมทั้งในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ฝ่ายงานด้านการลงทุนของธนาคาร มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐจะคงที่อยู่ในระดับต่ำศูนย์ต่อไป ในช่วงเวลานั้นเองธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหนี้ต่างประเทศ​ (Foreign Debt) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ท่ามกลาง ‘มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงรุก’ หรือ ‘Aggressive Monetary Easing’ ของ ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่ส่งให้ผลตอบแทนสินทรัพย์ภายในประเทศ (Domestic Yields) อยู่ในระดับต่ำ

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินว่า ปัจจุบันความเป็นไปของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นยังอยู่ในเกณฑ์ปกติเนื่องจากขนาดของการลงทุนในหนี้ต่างประเทศ (Foreign-debt Investment) มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ในประเทศ (Domestic Securities) อย่างไรก็ดี นักลงทุนจำนวนหนึ่งยังคงกังวลว่าท้ายที่สุดอาจเกิดความสูญเสียต่อภาคธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นได้จากเม็ดเงินลงทุนในบอนด์สหรัฐอย่างที่กล่าวไป

โดยเมื่อวานนี้ (14 มี.ค.) ดัชนี ‘Topix Bank Index’ ของญี่ปุ่นปิดตลาดย่อตัวลงมากกว่า 7% ทำให้ภาพรวมทั้ง 3 ช่วงของการซื้อขายของดัชนีดังกล่าวปรับตัวลดลงเกือบ 16% และส่งผลต่อเนื่องให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย และ ‘MSCI Asia Pacific Index’ ดิ่งลง 3% และ 1.3% ตามลำดับ

ไมเคิล มักดัด นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัทหลักทรัพย์ Morningstar สัญชาติอเมริกัน กล่าวว่า “จากการล่มสลายของ SVB และกระทบต่อเนื่องมาที่ภาคธนาคารของญี่ปุ่น ดังนั้นผมจึงมองว่าเป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนในสินทรัพย์ประเภทตราสารทุนจะพิจารณาความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยของการถือครองพันธบัตรของธนาคารในภูมิภาคญี่ปุ่นอีกครั้ง จนมีแรงเทขายออกมาบ้างเมื่อวานนี้”

“อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดว่าเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นจะมีปัญหาคล้ายกับ SVB คือ ประชาชนยังมั่นใจในการฝากเงินกับธนาคารต่อได้ แต่ถ้ากล่าวถึงหุ้นอาจเป็นคนละเรื่องกันเพราะอาจมีแรงเทขายจากความกังวลจากการล่มสลายของ SVB จนทำให้หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ร่วงแรง”

มูลค่าความเสี่ยง (Value-at-risk) ของบอนด์ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ดังภาพด้านล่าง

กูรูแนะจับตาแบงก์ญี่ปุ่น หลังพบลงทุนในบอนด์สหรัฐจำนวนมาก ภาพสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ผ่านสกุลเงินดอลลาร์ และยูโรของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น

จากภาพข้างต้นชี้ชัดว่า มูลค่าความเสี่ยงของการถือครองบอนด์ของธนาคารญี่ปุ่นในรูปสกุลเงินดอลลาร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 2.29 ล้านล้านเยน หรือ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.61 แสนล้านบาท) ในช่วงเดือนเม.ย. ถึง มิ.ย. ปี 2022 ในขณะที่ต้นปี 2014 อยู่เพียง 1.2 ล้านล้านเยน หรือ 8.9 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.937 แสนล้านบาท) โดยในช่วงเวลาเดียวกันธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในบอนด์ธนาคารพาณิชย์สหรัฐ ผ่านสกุลเงินดอลลาร์เป็น 2 เท่า ดังนั้นมาตรวัดข้างต้นจะเป็นตัวบอกว่าธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดหากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นประมาณ 0.2%

ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น กล่าวว่า ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับดี ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 10% ของเงินทุนสําหรับธนาคารขนาดใหญ่ และ 5% สําหรับธนาคารขนาดเล็กในภูมิภาค   

ฮิโรคาซุ มัตสึโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 มี.ค.) ว่า การล่มสลายของ SVB ไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบการเงินและการธนาคารของญี่ปุ่น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นมี “สภาพคล่อง และฐานะทางเงินทุนที่มากพอสมควร”

ทั้งนี้ในปี 2022 ผลตอบแทนตั๋วเงินคลังสหรัฐชนิด 10 ปี ปรับตัวขึ้น 2.36% ท่ามกลางการคุมเข้มของธนาคารกลางสหรัฐที่ต้องการสกัดเงินเฟ้อ โดยอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงใน 2 ช่วงของการซื้อขายที่ผ่านมา หลังจากผันผวนอย่างมากในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า สาเหตุหลักเพราะการล่มสลายของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ จนนักลงทุนมองว่าเฟดอาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 22 มี.ค.นี้

มาซาโอะ มุรากิ นักกลยุทธ์ภาคการเงินโลก จาก SMBC Nikko Securities กล่าวว่า การล่มสลายของ SVB ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอย่างร้อนแรงจนทำให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลที่ SVB ถืออยู่ในระดับที่ไม่น่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนแบบปลอดภัยอื่น ทว่าในส่วนของธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่น ความเสี่ยงด้านดอกเบี้ยจากพอร์ตพันธบัตรในประเทศเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่กว่า โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า ธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นอาจได้รับผลกระทบในวงจำกัดเพราะธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่น่ากล้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเหมือนเฟด

“สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยแตะระดับ 5% ด้านผลตอบแทนบอนด์ญี่ปุ่นเพิ่ม 0.5% ผมมองว่าเป็นตัวเลขที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และผมก็เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ในจุดที่น่ากังวลมากขนาดนั้น”

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์