เศรษฐศาสตร์จุฬาฯ สุดล้ำให้นิสิตส่งการบ้านด้วย ChatGPT ปั้นคนเป็นไอรอนแมน

เศรษฐศาสตร์จุฬาฯ สุดล้ำให้นิสิตส่งการบ้านด้วย ChatGPT ปั้นคนเป็นไอรอนแมน

เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยคอนเซปต์การเรียนรู้ในโลกยุคดิจิทัล เน้นทดลองใช้เทคโนโลยีเพื่อรู้เท่าทัน และค้นพบดีมานด์ใหม่ เปรียบการแข่งขันยุคใหม่เหมือนหนังไอรอนแมน หมดยุคกังวลเรื่อง AI แย่งงานคน แต่กลายเป็นคนต้องรวมพลังกับ AI เพื่อแข่งกันเอง

       รศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของวิชาเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม (Digital and Innovative Economy) ให้สัมภาษณ์ในรายการ Econ Connect ว่าวิชานี้ได้เปิดการเรียนการสอนมา 7-8 ปีแล้ว สอนให้นิสิตรู้จักกับ Digital Economy ซึ่งก็คือ ระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัล และมีผลทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หลักคิดและการคำนวณทางเศรษฐศาสตร์จึงต้องเปลี่ยนตาม

      อาทิ GDP แบบดั้งเดิมไม่สามารถเก็บตัวเลขได้ทั้งหมดอีกต่อไปเนื้อหาที่สอนได้มีการเปลี่ยนทุกปีให้ตามทันเทคโนโลยีใหม่และเชิญวิทยากรภายนอกที่หลากหลายมาอย่างต่อเนื่อง

        ในปีนี้ ได้ให้นิสิตทำการบ้านด้วย ChatGPT ด้วยวัตถุประสงค์หลักคือ การเข้าใจ และเรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยีว่ามีความสามารถและข้อจำกัดอย่างไรโจทย์คือ การเขียนนิยายส่งด้วย AI 

       เช่น ChatGPT และสร้างรูปประกอบโดยใช้ AI เช่น Midjourney, Dall-E เป็นต้น ซึ่งในท้ายที่สุด นิสิตเป็นผู้ค้นพบข้อจำกัดเองว่า หากต้องการทำนิยายต่อเนื่องหลายหน้า ChatGPT จะไม่สามารถทำได้ดี ยังคงต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดนอกกรอบของมนุษย์เข้าไปเติมเต็ม และมีการนำมาถกเถียงร่วมกันต่อในห้องเรียนถึงการใช้งานในโลกจริงที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

       รศ.ดร.วรประภา กล่าวในรายการ Econ Connect ว่า เราเลยจุดที่จะมานั่งกังวลว่า AI จะแย่งงานคน สมัยก่อนเป็นยุคของคนแข่งกัน  ถัดมาเป็น AI แข่งกับ AI จนกระทั่งปัจจุบันเราก้าวสู่ยุค ‘คน+AI’ แข่งกับ ‘คน+AI’ หรือเรียกว่ายกระดับเป็น super human เช่นเดียวกับยุคสมัยที่เครื่องคิดเลขถูกคิดค้นขึ้นมา ทุกคนก็ต้องหัดใช้เครื่องคิดเลขเพราะใครๆ ก็เริ่มใช้ แม้วันนี้เครื่องมือใหม่ๆ อาจจะดูใช้งานยาก แต่คนที่ใช้เป็นก่อนมีโอกาสได้เปรียบเป็นผู้ชนะ

      “ในหนังเรื่อง Iron Man พระเอกจะมี Jarvis ที่เป็น AI คอยเป็นผู้ช่วยประมวลผลตอบคำถาม และมีชุดเกราะสีแดงช่วยให้สะเทินน้ำสะเทินบก นั่นคือ ตัวอย่างของการที่คนเอาเทคโนโลยีมาเพิ่มความสามารถของตนเอง ทำให้ทั้งสมองคิดคำนวณได้ไวขึ้น และร่างกายแข็งแกร่งขึ้น ก้าวข้ามข้อจำกัดของการเสื่อมตามธรรมชาติของมนุษย์”

       รศ.ดร.วรประภา กล่าวต่อว่า หัวใจสำคัญคือ การเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันคือ AI แต่อนาคตอาจเป็นอย่างอื่นได้อีก ควอนตัมเทคโนโลยีอาจมาแทนที่ก็เป็นได้ เราจึงต้องเปิดใจพร้อมเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา ส่วนตัวไม่มีความกลัวเรื่องดิสรัปชั่น กลับรู้สึกว่ามันจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจเกิดประสิทธิภาพดีขึ้น นั่นหมายถึงผลผลิตที่มากขึ้นท่ามกลางประชากรโลกลดลง 

       อีกทั้งเมื่อมีดิสรัปชั่นใหม่เข้ามา จะทำให้เกิดความต้องการใหม่ๆ (New Demand) ยกตัวอย่างเช่น การแอบใช้ ChatGPT ในการเขียนรายงานหรือข้อสอบที่มีกติกาว่าห้ามใช้ AI ฝั่งสถาบันการศึกษาก็ต้องหาเครื่องมือมาตรวจสอบงานที่ถูกเขียนโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI Detection Tool) นักธุรกิจที่เห็นโอกาส ก็สร้างเครื่องมือเหล่านี้ออกขายสู่ท้องตลาด 

     อย่างไรก็ตาม แม้ฝั่งสถาบันการศึกษาจะเตรียมความพร้อมเด็กรุ่นใหม่ให้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยี และเปิดสถาบันการศึกษาเพื่อให้คนทำงานเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น ในจุฬาฯ มีการเก็บสะสมวิชาเรียนแบบ Credit Bank แต่ในโลกจริง ยังต้องการคนช่วยกันใช้เทคโนโลยีให้มากพอ เพื่อพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีที่ออกมาใหม่สามารถทำอะไรได้บ้าง แล้วสังคมจะพบว่าหลายปัญหาไม่สามารถแก้ด้วยเทคโนโลยีชนิดเดียว ซึ่งจะมีคนหาโอกาสพัฒนาต่อเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดอย่างนี้เรื่อยไป

      สำหรับคลิปฉบับเต็ม รับชมได้ทางยูทูบ และพอดแคสต์ในรายการ Econ Connect โดยศิษย์เก่า และอาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันนำความรู้ และมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์มาสื่อสารกับสังคม

      อาทิ บรรยง พงษ์พานิช, ธนา เธียรอัจฉริยะ, รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม, รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์