'ภาษี' หนีไม่พ้น! เปิด 7 ช่องทาง 'สรรพากร' ใช้เช็กรายได้เรา

'ภาษี' หนีไม่พ้น! เปิด 7 ช่องทาง 'สรรพากร' ใช้เช็กรายได้เรา

ในทุกครั้งที่ "ยื่นภาษี" สงสัยกันไหม.. กรมสรรพากรรู้ได้อย่างไรว่า คุณมีรายได้เท่าไร หรือจากช่องทางไหนบ้าง? โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มิจฉาชีพระบาดหนัก และมักแอบอ้างเป็นกรมสรรพากร หลอกให้กดลิงก์​ กรอกข้อมูล สุดท้ายดูดเงินไปหมด เราจะป้องกันตัวเองได้อย่างไร

ผู้มีรายได้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อย่าลืมยื่นแบบภาษีก่อนหมดเวลา ซึ่งสามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ถึงวันที่ 10 เมษายน 2566 นี้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการยื่นภาษีนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงที่ต้องระวังที่สุด เพราะพวกมิจฉาชีพมักจะฉวยจังหวะนี้พยายามหาช่องทางเพื่อดูดเงินในบัญชีผ่านระบบแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือของเรานั่นเอง โดยก่อนหน้านี้มีมิจฉาชีพพยายามโทร. และส่ง SMS เข้าหาเบอร์โทรศัพท์มือถือของผู้มีรายได้ แอบอ้างเป็นกรมสรรพากรแจ้งเตือนให้ไปยื่นภาษี และหว่านล้อมให้กดลิงก์บ้าง กรอกข้อมูลต่างๆ บ้าง สุดท้ายก็จะดูดเงินจากแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือไปจนหมดเกลี้ยง

ดังนั้น เพื่อรู้ทันมิจฉาชีพ และแยกให้ออกระหว่าง สรรพากรจริง กับ สรรพากรเก๊ อันดับแรก คือ ผู้มีรายได้ในนามบุคคลธรรมดาทั้งหลาย อย่าเพิ่งนอนใจว่ากรมสรรพากรไม่มีทางรู้รายได้ของตนเองอย่างแน่นอน จึงไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงที่จะถูกหลอกดูดเงินในบัญชี หากยังไม่ได้อ่านบทความนี้ ว่ามีช่องทางไหนบ้างที่กรมสรรพากรสามารถเช็กรายได้ของคุณได้ และขั้นตอนป้องกันไม่ให้ถูกหลอกดูดเงินในบัญชี

  • "7 ช่องทาง" ที่กรมสรรพากรสามารถเช็กรายได้ของคุณได้

1. มีเงินโอนเข้าบัญชีหลายครั้ง และจำนวนมาก

หากผู้มีรายได้มีเงินเข้าบัญชี ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการฝากหรือโอนเงินเข้าบัญชี ผ่านช่องทางสมาร์ทโฟน บัตรเครดิตต่างๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลให้สรรพากร ซึ่งได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารภาครัฐ รวมถึงผู้ให้บริการด้านการเงินอื่นๆ อย่าง Payment Gateway, e-Wallet เช่น ทรูมันนี่ เอ็มเพย์ แรบบิทไลน์ เพย์ มีหน้าที่รายงานธุรกรรมการฝากหรือรับโอนเงินนี้ให้กับกรมสรรพากร โดยมีเงื่อนไขในการส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร ดังนี้

- มีเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้งต่อปี โดยไม่ดูจำนวนเงินว่าแต่ละครั้งจะมีมูลค่าเท่าไร

- มีเงินเข้าบัญชี 400 ครั้งต่อปี และ จำนวนเงิน (นับเฉพาะฝั่งเงินรับฝากเข้า) รวมเกิน 2 ล้านบาท

ทั้งนี้ จะนับรวมเป็นรายปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม ของปีนั้นๆ โดยข้อมูลที่ส่งให้กับกรมสรรพากร จะทำให้กรมสรรพากรรู้ข้อมูลรายได้ของผู้มีรายได้ แต่ยังไม่สามารถนำมาเก็บภาษีได้ ต้องนำไปประมวลผลร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ด้วย ว่าถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษีและเสียภาษีแล้วหรือไม่

\'ภาษี\' หนีไม่พ้น! เปิด 7 ช่องทาง \'สรรพากร\' ใช้เช็กรายได้เรา

2. ข้อมูลการรับเงิน (ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ใบกำกับภาษี)

ในกรณีที่ผู้มีรายได้ได้รับเป็นเงินสดไม่ผ่านธนาคาร แต่ผู้จ้างเป็นนิติบุคคลได้ทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ผู้ประกอบการจะต้องนำส่งเงินภาษีที่หักให้แก่กรมสรรพากร รวมถึงแจ้งข้อมูลผู้ได้รับเงิน ทั้งชื่อ เลขบัตรประชาชนไปในแบบนำส่งภาษีที่หักไว้ดังกล่าวด้วย

และถ้าหากบริษัทผู้จ่ายเงินถูกสรรพากรตรวจสอบเอกสาร ผู้ประกอบการจะต้องมีการนำส่งรายการบันทึกค่าใช้จ่ายของบริษัทให้กรมสรรพากร ซึ่งในบันทึกนั้นจะต้องมีการระบุค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้โดยละเอียด ส่งพร้อมเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง เช่น ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน

ดังนั้น จึงยังมีโอกาสที่กรมสรรพากรจะเห็นข้อมูลรายได้ของผู้มีรายได้นั่นเอง

3. รับรู้รายได้ผ่านช่องทาง www.rd.go.th

วิธีการนี้ทางกรมสรรพากรจะใช้เว็บไซต์ของตนเอง คือ www.rd.go.th เป็นช่องทางการสืบค้นข้อมูลรายได้ โดยเปิดเมนู “การแจ้งเบาะแส/ข้อมูลแหล่งภาษี” ขึ้น เพื่อให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบกิจการหรือธุรกิจที่เสียภาษีไม่ถูกต้อง

4. สุ่มตรวจ

การสุ่มตรวจเป็นวิธีที่กรมสรรพากรสุ่มจากหน้าเว็บต่างๆ เช่น facebook ที่มีการโพสต์โชว์เงินโอนเข้า รายได้จากการขายสินค้าจำนวนมาก หรือไลฟ์สดขายของ สรรพากรจะสุ่มตรวจบุคคลเหล่านี้ว่ามีรายได้แล้วได้มีการยื่นแบบฯ เสียภาษีบ้างหรือไม่ หากพบว่าไม่มีการยื่นแบบฯ หรือไม่เสียภาษีเลย อาจถูกเรียกพบได้  

\'ภาษี\' หนีไม่พ้น! เปิด 7 ช่องทาง \'สรรพากร\' ใช้เช็กรายได้เรา

5. ดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ หรือ Web Scraping

สรรพากรนำเทคโนโลยีดึงข้อมูลจากเว็บเพจต่างๆ หรือ Web Scraping เข้ามาช่วยตรวจสอบกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ ทั้งในรูปแบบที่ค้าขายปกติ และรูปแบบไลฟ์สดเพื่อขายสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น สรรพากรจะดึงข้อมูล ราคา และจำนวนสินค้าที่ขายได้ตามเว็บ e-commerce ทั้งหลาย เช่น Shopee, Lazada   

หรือรู้ข้อมูลของผู้จ่ายเงินได้ให้เรา อย่างเช่น เราขายของผ่านเว็บ e-commerce เช่น Shopee, Lazada  ทางเว็บ e-commerce จะหักค่าบริการในอัตราที่กำหนดจากยอดขายของเรา เช่น 20% หรือ 30% ของยอดขาย พร้อมกันนั้นทางเว็บ e-commerce ก็จะส่งใบกำกับภาษีให้กับเราและส่งให้สรรพากรด้วย

6. เข้าร่วมโครงการของรัฐ

ปัจจุบันรัฐบาลได้ออกมาตรการโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้ที่ประกอบอาชีพค้าขายและบริการ หากเข้าร่วมโครงการของรัฐบาล เช่น โครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เราชนะ ชิมช้อปใช้ รายได้เหล่านี้จะถูกส่งให้กับกรมสรรพากร และเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับการตรวจสอบรายได้ของสรรพากร

7. พนักงานประจำ

กรณีที่เป็นพนักงานประจำที่ทางบริษัทมีการจ่ายเงินเดือนผ่านธนาคาร นอกจากผู้มีรายได้จะต้องเป็นคนนำข้อมูลจากใบ 50 ทวิ (หนังสือรับรองเงินได้หัก ณ ที่จ่าย) ซึ่งเป็นใบแจ้งรายได้ทั้งปีที่ทางบริษัทออกให้ไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว ทางบริษัทก็จะมีเอกสารชี้แจงเงินได้ของเราส่งทางกรมสรรพากรด้วยอีกทางหนึ่ง (ภงด.1, ภงด.1ก) จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สรรพากรสามารถตรวจสอบรายได้ของเราได้

  •  7 ขั้นตอนป้องกันเงินหายจากสรรพากร (ปลอม) เรียกเก็บภาษี

เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ใครเป็นกลุ่มที่กรมสรรพากรตรวจสอบรายได้ได้ และพบว่าถึงเกณฑ์ต้องยื่นภาษี ก็จะมีการส่งจดหมายแจ้งเตือนยื่นภาษีประจำปีไปให้เท่านั้น ซึ่งจึงเกิดเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาเพื่อหลอกเงินจากผู้มีรายได้ได้โดยง่าย ด้วยวิธีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการโทร.หา หรือส่ง SMS เตือนให้ยื่นแบบ / ให้ชำระภาษี

\'ภาษี\' หนีไม่พ้น! เปิด 7 ช่องทาง \'สรรพากร\' ใช้เช็กรายได้เรา

ดังนั้น ตำรวจไซเบอร์จึงออกมาเตือนว่า! อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด พร้อมแนะ 7 ขั้นตอนป้องกันสรรพากรปลอมหลอกยื่นภาษีประจำปี ดังนี้

1. ตั้งสติ ตรวจสอบ ให้ดีว่าเป็นกรมสรรพากร หรือเจ้าหน้าที่สรรพากรจริงหรือไม่ โดยการโทร. 1161 เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง

2. กรมสรรพากรไม่มีนโยบายติดต่อประชาชนทางโทรศัพท์ หรือส่ง SMS หากมีการติดต่อให้ขอรายละเอียดไว้ และติดต่อสำนักงานสรรพากรด้วยตนเอง

3. ไม่กดลิงก์ หรือติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด หากต้องการใช้งานให้ติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น

4. ไม่ติดตั้งโปรแกรมจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่กดโฆษณา หรือหน้าต่าง (Pop-up) ปลอม (Adware) บนเว็บไซต์ที่เข้าเยี่ยมชม เพราะเสี่ยงต่อการฝัง หรือติดตั้งมัลแวร์จากมิจฉาชีพโดยไม่รู้ตัว

5. ไม่กดลิงก์ที่ส่งต่อกันมาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และให้ตรวจสอบทุกครั้งก่อนที่จะติดตั้ง

6. ไม่โอนเงิน หรือทำธุรกรรมใดๆ ผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านลิงก์ หรือคิวอาร์โค้ด (QR Code) โดยเฉพาะอย่ายิ่งบัญชีธนาคารที่ใช้ชื่อของบุคคลธรรมดา

7. ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลทางการเงินลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันที่เข้ามาในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด

หรือแม้แต่ผู้ที่คาดว่าตนเองมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษี หรือไม่ต้องเสียภาษีก็ตาม แต่หากมีโทรศัพท์หรือข้อความแปลกๆ เข้ามา ก็ควรทำตามคำแนะนำของตำรวจไซเบอร์อย่างเคร่งครัด เพราะกันไว้ย่อมดีกว่าแก้อย่างแน่นอน

----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่