เงินบาทอ่อนค่ารอบล่าสุด ประเมินความผันผวนแบบ worst case scenario

เงินบาทอ่อนค่ารอบล่าสุด ประเมินความผันผวนแบบ worst case scenario

ในสถานการณ์การอ่อนค่าของเงินบาท ที่กำลังดูล่อแหลมในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ถือเป็นหนังภาคต่อจากความผันผวนในปีก่อนหน้า นั่นคือสงครามเงินเฟ้อสหรัฐยืดเยื้อกว่าคาด อาการจึงออกมาคล้ายๆ เดิม

คือผู้เล่นในตลาดเทขายสินทรัพย์เสี่ยง ถือเงินสดเพื่อรักษาสภาพคล่อง และต้องเป็นเงินสดสกุลดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัย เราจึงได้เห็นค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าต่อสกุลเงินส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แข็งค่าต่อสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ อันเป็นลักษณะเฉพาะในสถานการณ์ global risk-off

๐ ปีนี้ควรจะรุนแรงและเสียหายน้อยกว่าปี 2022

เมื่อพิจารณาระดับความรุนแรง ปีนี้ควรจะรุนแรงน้อยกว่าที่เคยเกิดขึ้นในปีที่แล้ว เนื่องจากปี 2022 Fed fund rate เริ่มต้นขึ้นจาก 0.25% ไปจบที่ 4.5% หรือปรับขึ้น 425 bp. ขณะที่ปี 2023 เริ่มขึ้นจาก 4.5% การขึ้นในปีนี้ก็น่าจะน้อยกว่าปีที่แล้วอย่างมาก

นอกจากนี้ CPI ของสหรัฐในปีที่แล้วเป็นขาขึ้น โดยไปแตะจุดสูงสุดที่ 9.1% เมื่อกลางปี ก่อนปรับลดลงในครึ่งหลัง สำหรับปี 2023 CPI ควรจะเป็นขาลงตลอดทั้งปี

อย่างไรก็ตาม CPI ที่ลดลงนี้ยังไม่เพียงพอจะสร้างความสงบได้ การปรับลดช้ากว่าที่คาด ก็ทำให้ตลาดผิดหวังและเกิดความผันผวนได้เช่นกัน

ดังนั้น หากปีที่แล้วเป็นแผ่นดินไหว ปีนี้ควรจะเป็นเพียงอาฟเตอร์ช็อก คำถามมีอยู่ว่า อาฟเตอร์ช็อกครั้งนี้จะรุนแรงที่สุดได้แค่ไหน (worst case) และปัจจัยใดน่าจะเป็นสัญญาณการคลี่คลายของ global risk-off ในครั้งนี้

ข้อมูลชุดที่ 1 พิจารณาราคา FX Options ของ USDTHB ที่ระดับ 10% หมายความว่า ระดับราคาจะเปลี่ยนแปลง 10% ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ถ้าเงินบาทมีมุมมองในด้านอ่อนค่า สามารถอ่อนไปได้อีกราว 3-3.5 บาท

เงินบาทอ่อนค่ารอบล่าสุด ประเมินความผันผวนแบบ worst case scenario

ข้อมูลชุดที่ 2 พิจารณาข้อมูลย้อนหลัง 10-15 ปี พิสัยการเคลื่อนไหว (ค่าสูงสุดลบค่าต่ำสุด) ของค่าเงินบาทเฉลี่ยในแต่ละปีปฏิทินอยู่ที่ราว 3 บาท (ก็ราวๆ 10% เช่นกัน)

หากเชื่อว่าในปีนี้ เราได้เห็นจุดที่ต่ำที่สุดของ USDTHB ไปแล้วที่ 32.70 ดังนั้น ในอีกสิบเดือนข้างหน้า เงินบาทอาจจะอ่อนไปได้ถึง 35.70 แต่นั่นคือการประเมินในสถานการณ์ปีปกติ

เทียบกับปี 2022 ที่มีความผันผวนรุนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี เงินบาทมีพิสัยการเคลื่อนไหวถึง 6 บาท หรือเกือบ 20% และแน่นอนว่า ปีนี้ก็ยังไม่น่าเป็นสถานการณ์ปกติ

ดังนั้น ถ้าเราบวกค่าความเป็นอาฟเตอร์ช็อก ปี 2023 จึงขอประเมินหยาบๆ เอาเองว่า ควรมีพิสัยการเคลื่อนไหวราว 12-14%

ด้วยข้อมูลสถิติทั้งหมดนี้ อาจกล่าวได้ว่าในระยะสิบเดือนข้างหน้า 36.50-37.25 เป็น worst case ที่เหมาะสม ถ้าไม่ถึงก็ดีไป แต่ถ้าถึงก็ไม่น่าเกินไปกว่าระดับนี้แล้ว หรืออาจจะเรียกว่าเป็นเพดานของปีนี้ก็พอจะกล่าวได้

เงินบาทอ่อนค่ารอบล่าสุด ประเมินความผันผวนแบบ worst case scenario

คำถามต่อไปคือ ระดับจุดสูงสุดหรือจุดกลับข้างต้นนี้ ถ้าจะเกิดจริงน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด ผู้เขียนเห็นว่ามี 5 ปัจจัยที่น่าติดตาม ดังนี้

1.ช่วงเวลานั้นๆ CPI ตัวเลขจริงควรจะต้องออกมาไม่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์

2.Dot Plot ที่จะออกมาในเดือนมีนาคม จะต้องแสดงให้เห็นว่า ออกมาไม่ต่างกับระดับที่ implied โดย Fed fund futures มากนัก

3.ประเมินผลกระทบในฤดูกาลจ่ายปันผล ซึ่งจะมีคลื่นการซื้อดอลลาร์ราว 4-5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม

4.Fed fund rate กับ CPI เริ่มเข้าสู่ระดับเท่าๆ กัน หรือ Fed fund rate อาจจะเริ่มสูงกว่าเล็กน้อย น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

เงินบาทอ่อนค่ารอบล่าสุด ประเมินความผันผวนแบบ worst case scenario

5.หากราคา FX Options 3 เดือน ปรับขึ้นจนไปแตะระดับที่สูงที่สุดในปีที่แล้วที่ 11% น่าจะเป็นสัญญาณการกลับตัวได้

ประมวลจังหวะของการเกิด 4-5 เหตุการณ์ข้างต้น จุดสูงสุดของปีมีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ดังนั้น จึงน่าจะประเมินว่า

ตลาดการเงินยังน่ามีความผันผวนตลอดไตรมาสแรก แรงกดดันเดิมๆ จะกลับมาส่งเสียงดังอีกครั้ง ไม่ว่าเรื่องของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย เงินทุนสำรองลดลง หรือเสียงเรียกร้องให้มีการเร่งขึ้นดอกเบี้ย เป็นต้น ก่อนที่ตลาดจะมีโอกาสกลับคืนสู่เสถียรภาพในช่วงครึ่งหลังของปี

การประเมินข้างต้น มุ่งเน้นสถานการณ์ตลาดการเงินโลกเป็นหลัก ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ เช่น ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด การเคลื่อนไหวของเงินทุน ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน เป็นต้น จะเป็นตัวกำหนดว่าค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับค่าเงินตลาดเกิดใหม่อื่นๆ 

เงินบาทอ่อนค่ารอบล่าสุด ประเมินความผันผวนแบบ worst case scenario

ขณะที่ธีมการเปิดประเทศได้ปลดปล่อยพลังไปจนหมดแล้ว และเราเริ่มเห็นแล้วว่า ลำพังการท่องเที่ยวอย่างเดียวอาจไม่สามารถแบกรับภาระทั้งหมดได้

ขออนุญาตปิดท้ายด้วยข้อสังเกตในตลาดหุ้น หากเศรษฐกิจเราขาดพลังการเติบโตแบบใหม่ๆ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไม่มีความน่าสนใจ การซื้อสุทธิหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศเกือบสองแสนล้านบาทในปีที่แล้ว อาจเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงปีเดียว และจะไม่เกิดอีกเลยก็เป็นได้

 

ทัศนะ World of Rates 
สงวน จุงสกุล
ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย 
ทีม Investment and Markets Research
สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน 
ธนาคารกรุงไทย