4 แบงก์ใหญ่ ปรับทัพสู้ Talent War เร่งเพิ่มสปีด - ปรับองค์กร “ดึงคนเก่ง”

4 แบงก์ใหญ่ ปรับทัพสู้ Talent War เร่งเพิ่มสปีด - ปรับองค์กร “ดึงคนเก่ง”

แบงก์ใหญ่ ชี้กระแส “ชิงคนเก่ง” ดุเดือด “ไทยพาณิชย์” เร่งปรับวัฒนธรรมองค์กร ให้ทันสมัย ลดขั้นบันได หวังดึงคนเก่งอยู่กับองค์กร “กรุงไทย”เร่งอัปสปีดแบงก์ ตอบโจทย์พนักงาน “กสิกร” ชู 3 กลยุทธ์ดึงดูดคนเก่ง “กรุงศรี” งัดกลยุทธ์ชิงคนนอก - แต่ต้องรักษาคนในองค์กร

       สงครามแย่งคนเก่ง หรือ Talent War ร้อนแรงมากขึ้น ตลอดระยะเวลาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการมาของ “ดิจิทัล”รวมถึง “โควิด-19” ที่เป็นตัวเร่ง ให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวไปสู่โลกสมัยใหม่มากขึ้น

      ดังนั้นสิ่งที่ตลาดแรงงานต้องการคือ คนที่มีทั้งสกิล และความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้เกี่ยวกับโลกใหม่ โลกเทคโนโลยี เอไอ ดาต้า เป็นที่ต้องการของตลาดมาจนถึงปัจจุบัน ทำเกิดสงครามการดึงตัว “คนเก่ง” ดุเดือดมากขึ้น

      นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กระแสการแย่งคนเก่ง หรือ Talent War ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาสักระยะ โดยเฉพาะการแย่งคนที่มีสกิลด้าน ดาต้า เอไอ ดิจิทัล และเป้าหมายหลักที่บริษัทต่างๆ จะเข้ามาดึงคน ส่วนใหญ่อยู่ในสายธนาคาร ที่มีความเข้าใจในด้านเทคโนโลยี เข้าใจวิถีการทำงานบนโลกดิจิทัล ดังนั้นการดึงพนักงานให้อยู่ที่แบงก์ ถือไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

       ดังนั้นสิ่งที่แบงก์ต้องทำเพื่อรักษาบุคลากรเหล่านี้ไว้ อันดับแรก ต้องรักษาคน ปัจจุบันโลกหลังโควิด เปิดมากขึ้นดังนั้นต้องให้พนักงานเข้ามาสัมผัสวัฒนธรรมองค์กรอย่างแท้จริง เพื่อให้เขาสามารถ Identify องค์กร และเชื่อในเป้าหมายขององค์กรที่จะไปมากขึ้น เหล่านี้อาจทำให้แรงผลักดันที่ทำให้พนักงานออกไปทำงานข้างนอกน้อยลง

ปรับวัฒนธรรมองค์กรให้ทันสมัย

       ถัดมา เชื่อว่าองค์กรขนาดใหญ่ต้องปรับตัว ปรับวัฒนธรรมองค์กร ให้ร่วมสมัย จากที่มีขั้นบันไดค่อนข้างมาก ก็ต้องลดลง ผู้บริหารต้องมีความเข้าใจพนักงานมากขึ้น ดังนั้นต้องทำให้วัฒนธรรมองค์กรน่าอยู่ และเข้าถึงมากขึ้น

   และสุดท้ายคือ โจทย์ของดิจิทัล ที่องค์กรขนาดใหญ่จะไป และต้องเร่งให้มีความสำเร็จ เพราะเชื่อว่า เด็กรุ่นใหม่ใจร้อนมากขึ้น หากองค์กรไม่มีความสำเร็จ มองไม่เห็นเป้าหมายในสิ่งที่ทำ ก็จะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เขาต้องออกไป

       อย่างไรก็ตาม ในมุมของไทยพาณิชย์ วันนี้ธนาคารไม่ได้ต้องการคนเพิ่ม เพราะคนแบงก์มีอยู่ค่อนข้างมาก แต่สกิลที่ธนาคารอยากได้คือ คนที่เป็นผู้นำ เป็นโค้ช ที่ไม่ใช่ผู้บริหาร ที่จะคอยให้คำแนะนำ ดังนั้นในมุมของ Management level ภาวะผู้นำในองค์กรต่างๆ เป็นสิ่งที่แบงก์ให้ความสำคัญ

    สำหรับในมุมปฏิบัติการ แบงก์ให้ความสนใจกับคนที่เอาดาต้ามาประกอบการตัดสินใจ ไม่ใช่คิดเอง แต่ก่อนการตัดสินใจต้องเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ และตัดสินใจบนข้อมูล และมาปรับใช้ บนข้อมูล และปรับใช้จากเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้ระยะเวลาในการตัดสินใจสั้นลงเหล่านี้คือ สกิลที่แบงก์อยากได้

เร่งสปีดรับมือสงครามดึงคน

    นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สังคมแย่งชิงคนเก่ง ถือเป็นสิ่งที่เห็นมาต่อเนื่องในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารกรุงไทยในอดีตถือเป็นแบงก์ที่มาทีหลัง หากเทียบกับแบงก์ชั้นนำเมื่อ 5-6 ปีก่อน แต่ปัจจุบันธนาคารกรุงไทย มาในสปีดที่มีความชัน และเร็ว ดังนั้นเชื่อว่าวันนี้ธนาคารกรุงไทย สามารถเกาะกลุ่มคู่แข่งธนาคารระดับท็อปๆ หรือนอนแบงก์ได้ ในเรื่องของ Talent War

      ทั้งนี้ยอมรับว่า กระแสของ Talent War เป็นสงครามที่ดุเดือดมากขึ้น บนบุคลากรที่มีอย่างจำกัด ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การ “ยึดโยงบุคลากร” หรือนวัตกรที่มีคุณภาพ ทั้งในส่วนของ compensation หรือค่าตอบแทนของตำแหน่ง รวมถึงการปรับ Environment หรือสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ทั้งการทำงานร่วมกัน การมีเวทีให้พนักงานได้จับต้อง เล่น หรือแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์เป้าประสงค์คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ

     โดยองคาพยพ เหล่านี้ ถือเป็นสิ่งที่ธนาคารกรุงไทยให้ความสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทยเห็นตัวแปรในหลายมิติ ทำให้ธนาคารพยายามเร่งสปีด และมีการตั้ง “อินฟินิธัส” รวมถึง Arise เหล่านี้ก็เพื่อตอบโจทย์เรื่องพนักงาน เรื่องคนทั้งสิ้น

     “จะเห็นว่าตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยมีการยกระดับธนาคารเพิ่มขึ้น ซึ่งก็แปลว่า ธนาคารมองเห็นภัย หรือความท้าทาย ที่จะเข้ามาจากเรื่องของ Talent War”

แนวโน้มดุเดือดมากขึ้น

    นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารเห็นถึงแนวโน้มที่จะเกิดTalent War มากขึ้น จากพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลมากขึ้น จนทำให้เกิดการแข่งขันของธุรกิจการเงิน ที่ถูกคาดหวังมากขึ้นมากกว่าการให้บริการเรื่องการเงินเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า

     สะท้อนจากความต้องการคนที่มีทักษะใหม่ๆ ในด้าน Innovation ,Data Analytic  หรือกลุ่มที่มีความสามารถในการพัฒนาด้าน IT ที่ซับซ้อน เพื่อหา insight ความต้องการ และพฤติกรรมการใช้เงินของลูกค้า ยังรวมไปถึงกลุ่มที่มีความสามารถในการคิดกลยุทธ์ และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการผ่านOnlineซึ่งกลุ่มนี้ ถือว่ามีจำนวนน้อยในตลาดแรงงานของไทย

     ดังนั้น การรับมือ และการจัดการเพื่อดึงดูดและรักษาพนักงาน ธนาคารเชื่อว่า “คน” คือ กลไกหลักในการสร้างผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า จึงมุ่งมั่นสร้างให้เกิดประสบการณ์ที่จะทำให้พนักงานได้มีโอกาสในการสร้างคุณค่าในองค์กร สู่การเป็นองค์กรที่น่าเข้ามาร่วมงานด้วย

       ทั้งในด้านภาพลักษณ์ และประสบการณ์การทำงานจริง เพื่อดึงดูด และรักษาบุคลากรที่มีศักยภาพ บนความเชื่อว่า การร่วมงานกับธนาคารจะเป็นบันไดไปสู่การสร้างสรรค์ความสำเร็จใหม่ๆ ‘Possibility to Make an Impact’ - เป็นได้ ให้โลกเปลี่ยน (เพื่อตอบโจทย์ชีวิตและธุรกิจของลูกค้า และมุ่งสู่การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน) เพราะเราเชื่อว่า “POSSIBILITY TO MAKE AN IMPACT” จะเกิดขึ้นได้ เมื่อวัฒนธรรมขององค์กร สนับสนุน พัฒนา และเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถปลดปล่อยความสามารถได้เต็มศักยภาพ

3 กลยุทธ์ดึงดูดคนเก่ง

    โดยการจะทำให้เกิดสิ่งนั้นได้ ต้องประกอบไปด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่ ด้านแรก การสร้าง และเปิดพื้นที่ให้พนักงานเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ สนับสนุนให้พนักงานลองผิด ในการทำงานจริง ด้านที่สอง การสร้างบรรยากาศการทำงานให้รู้สึกได้ถึงคำว่า “Talented People” เพื่อนดี ผู้นำดี มี Way of Work ที่ดี เพราะพนักงานรุ่นใหม่คาดหวังความรวดเร็ว อยากเห็นผลลัพธ์ที่รวดเร็ว ธนาคารจึงได้มีการส่งเสริมรูปแบบการทำงาน ที่เรียกว่า Agility Way of Work ที่ได้เริ่มขยายการรูปแบบนี้ไปเกือบทั้งองค์กรแล้ว

      สุดท้าย การสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้จริง ผ่าน Powerful Resources ไม่ว่าจะเป็น ผลักดันแนวคิด ESG เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่คำนึงประโยชน์ของสังคม และสิ่งแวดล้อม  เปิดโอกาสให้พนักงานได้ทำงานกับ Partner ระดับประเทศและระดับโลก มีเวทีให้พนักงานได้เสนอไอเดียใหม่ๆ

     “ธนาคารยังให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำอย่างต่อเนื่อง เพราะเราเชื่อว่าผู้นำที่ดี จะเป็นจุดสำคัญในการดูแลรักษาพนักงานเอาไว้ได้ และสนับสนุนให้พนักงานเติบโตในองค์กร”

พันธกิจดึงคนเก่ง-รักษาคน

     นายวศิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านทรัพยากรบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า การสรรหาและว่าจ้างบุคลากรที่มีความสามารถ เป็นคนดี และเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรได้นั้น เห็นได้ชัดว่ามีการแข่งขันสูงขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งการแข่งขันในการว่าจ้างคนเก่ง และเป็นคนดี หรือ ที่เรียกว่า Talent War ไม่ได้จำกัดเฉพาะการหา Talent จากภายนอกเท่านั้น แต่รวมถึงการรักษาพนักงานภายในให้อยู่กับองค์กรด้วย ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาวางแผน และปฏิบัติมาโดยตลอด

      อย่างไรก็ดี ทางธนาคารได้มีการเตรียมแผน และแนวทางในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับ Talent War โดยแบ่งออกเป็น 2 แนวทางคือ การรักษาคนเก่งภายในองค์กร ทั้งค้นหา Talent จากภายนอกองค์กร  การปรับตัวอยู่ตลอดเวลาทั้งในมุมของเป้าหมายทางธุรกิจ และการบริหารองค์กร โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่ธนาคารกรุงศรีให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ

     โดยตั้งเป้าหมายในการเป็น The best place to work เพื่อดึงดูดคนเก่งภายนอก และรักษาคนเก่งภายในองค์กรเอาไว้ รวมไปถึงการให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะทั้ง up-skill และ reskill เพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้และเติบโตของพนักงานทุกคน หรือสร้าง career-path ให้สอดรับกับการทำงานในยุค Digital

     สำหรับการดึงดูด Talent ภายนอกองค์กร ธนาคารกรุงศรีมีความร่วมมือกับหลากหลายองค์กร  รวมถึงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามาฝึกงานในธนาคาร และเมื่อจบโครงการแล้ว น้องๆนักศึกษามีโอกาสร่วมงานกับทางธนาคารได้ทันที โดยกลยุทธ์ต่างๆ เหล่านี้ ได้แสดงถึงจุดยืนแห่งความมุ่งมั่นของกรุงศรีกรุ๊ปในการค้นหาและรักษา Talent ที่มี Passion ที่อยากมีเปลี่ยนแปลง และเติบโตไปพร้อมกับธนาคารกรุงศรี

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์