ธุรกิจจะตัดสินใจลงทุน...เมื่อไหร่? | แพรวไพลิน วงษ์สินธุวิเศษ

ธุรกิจจะตัดสินใจลงทุน...เมื่อไหร่? | แพรวไพลิน วงษ์สินธุวิเศษ

วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและได้ฝากรอยแผลเป็น (economic scars) ไว้กับเศรษฐกิจหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในระยะยาว

IMF ได้ปรับลดประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจปี 2567 ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย จากประมาณการช่วงก่อน COVID-19 ถึง 11% จากอุปสรรคต่าง ๆ ที่ทำให้การลงทุนในอนาคตทำได้ไม่เต็มที่

อาทิ ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้ต่อ GDP เร่งตัวขึ้นตามความต้องการสภาพคล่อง เพื่อพยุงฐานะการเงินในช่วง COVID-19 ความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

บทความนี้จะกล่าวถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจไทย และนัยเชิงนโยบายในระยะต่อไป 

ในช่วงก่อน COVID-19 ประเทศไทยได้ประสบปัญหาการลงทุนของภาคเอกชนที่อยู่ในระดับต่ำ มาอย่างยาวนาน สะท้อนจากสัดส่วนการลงทุนภาคเอกชนต่อ GDP ที่ลดลงจาก 31% ในช่วงก่อนปี 2540 มาอยู่ที่ 17% ในปัจจุบัน

ในช่วง 5 ปีก่อน COVID-19 (2558-2562) การลงทุนภาคเอกชนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียง 2% นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังมีสัดส่วนหนี้ต่อ GDP เพิ่มขึ้นกว่า 10% จากช่วงก่อน COVID-19 มาอยู่ที่ 88% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565

ธุรกิจ SMEs มีภาระหนี้ค่อนข้างสูง สะท้อนจากค่าเฉลี่ยหนี้สินต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 79% ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์มีสัดส่วนดังกล่าวเพียง 44%

ธุรกิจจะตัดสินใจลงทุน...เมื่อไหร่? | แพรวไพลิน วงษ์สินธุวิเศษ

“จากผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชน มาจากความเปราะบางของฐานะการเงินของภาคธุรกิจเป็นสำคัญ” 

การศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจ มีความสำคัญมากในการประเมินแนวโน้มการลงทุนในอนาคต โดยการศึกษานี้ทำผ่านการวิเคราะห์งบการเงินของ

(1) ธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 782 บริษัทในหลายมิติ ได้แก่ โอกาสในการเติบโตของธุรกิจ (Tobin’s Q ที่ใช้สัดส่วนมูลค่าบริษัทต่อทรัพย์สินรวม) กระแสเงินสด หนี้สินระยะยาว และยอดขาย และ

(2) ธุรกิจ SMEs จำนวน 106,900 บริษัท ผ่านตัวแปรทางการเงิน ได้แก่ กระแสเงินสด หนี้สินระยะยาว และยอดขาย 

ผลการศึกษาพบว่า การตัดสินใจลงทุนของธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้นอยู่กับโอกาสในการเติบโตถึง 62% ของปัจจัยทั้งหมด

ทั้งนี้เป็นเพราะธุรกิจที่มีโอกาสในการเติบโต จะสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม การตัดสินใจลงทุนของธุรกิจ SMEs ขึ้นอยู่กับระดับหนี้ของธุรกิจเป็นสำคัญ โดยหนี้สินระยะยาวคิดเป็นร้อยละ 51% และกระแสเงินสดคิดเป็น 40% ของปัจจัยในการตัดสินใจลงทุนทั้งหมด (ภาพที่ 1)

ธุรกิจจะตัดสินใจลงทุน...เมื่อไหร่? | แพรวไพลิน วงษ์สินธุวิเศษ

จึงอาจกล่าวได้ว่าระดับความเป็นหนี้ รวมถึงต้นทุนทางการเงินจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจ SMEs มากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากธุรกิจ SMEs มีระดับหนี้ต่อทรัพย์สินรวมในระดับสูง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขยายการลงทุน

ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่มีความทนทานต่อระดับความเป็นหนี้มากกว่า และมีช่องทางในการระดมทุนที่หลากหลาย ทั้งการออกตราสารทุนและการล็อคต้นทุนการกู้ยืมผ่านการออกตราสารหนี้

นอกจากนี้ หากพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจประเภทต่างๆ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจภาคอุตสาหกรรม คือ โอกาสในการเติบโตของธุรกิจ โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 42% ของปัจจัยทั้งหมด รองลงมาคือ ยอดขาย (32%) และหนี้สินระยะยาว (23%)

ขณะที่กระแสเงินสดส่งผลต่อธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมน้อย ขณะที่ธุรกิจบริการท่องเที่ยว นอกจากโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจแล้ว การมีกระแสเงินสดที่เพียงพอเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน ซึ่งมีสัดส่วน 35% ของปัจจัยทั้งหมด รองลงมาคือ หนี้สินระยะยาว (18%) และ ยอดขาย (10%) (ภาพที่ 2)

ธุรกิจจะตัดสินใจลงทุน...เมื่อไหร่? | แพรวไพลิน วงษ์สินธุวิเศษ
ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า ธุรกิจทั้งสองประเภทมองว่าโอกาสในการเติบโตของธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน เพราะช่วยให้สามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น

ขณะที่กระแสเงินสด เป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจบริการท่องเที่ยว แต่มีผลต่อธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมน้อย เพราะวัฏจักรเงินสด (cash cycle) ของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมยาวกว่าธุรกิจบริการท่องเที่ยว ที่ประมาณ 80 วัน และ 40 วัน ตามลำดับ

สะท้อนว่าธุรกิจบริการท่องเที่ยวได้รับเงินสดจากการดำเนินงานในระยะเวลาสั้น ทำให้การมีสภาพคล่องที่เพียงพอเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายการลงทุนของธุรกิจกลุ่มนี้ 

“มองไปข้างหน้า...มาตรการสนับสนุนทางการเงินสำหรับธุรกิจ SMEs ยังมีความสำคัญ”

เมื่อมองถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ขยายตัวต่อเนื่องและมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน และการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นตามรายได้ของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่จะมีแนวโน้มดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและคาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น

ขณะที่ธุรกิจ SMEs ยังคงน่าเป็นห่วง แม้ทิศทางเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างจากหนี้ที่อยู่ในระดับสูงอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของธุรกิจ SMEs ได้ 

เพื่อให้ธุรกิจ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง และเพื่อไม่ให้ภาระหนี้เป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจลงทุนในอนาคต ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงมีมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยลดภาระจ่ายหนี้ของธุรกิจ SMEs ทั้ง 

(1) มาตรการเพื่อช่วยให้ธุรกิจมีกระแสเงินสดเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ “โครงการสินเชื่อฟื้นฟู” ที่ธุรกิจจะได้รับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในระยะเวลาสินเชื่อ 5 ปี 

(2) มาตรการเพื่อช่วยลดภาระหนี้สิน ได้แก่ “โครงการพักทรัพย์ พักหนี้” เพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นโดยการโอนสินทรัพย์หลักประกันให้กับทางสถาบันการเงิน และสามารถซื้อคืนในอนาคตได้ และ “โครงการ DR BIZ”  ที่ช่วยเหลือธุรกิจกลุ่มที่มีเจ้าหนี้ธนาคารหลายรายแต่ยังมีศักยภาพ เพื่อบรรเทาภาระหนี้โดยรวม

มาตรการทั้งหมดนี้ ในระยะสั้นจะช่วยให้ธุรกิจ SMEs สามารถดำเนินกิจการและรักษาระดับการจ้างงานต่อได้ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และการแก้ไขภาระหนี้อย่างยั่งยืน จะส่งเสริมให้ธุรกิจ SMEs มีการลงทุนเพิ่มขึ้น อันจะส่งผลดีต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ธุรกิจจะตัดสินใจลงทุน...เมื่อไหร่? | แพรวไพลิน วงษ์สินธุวิเศษ

ทัศนะ แจงสี่เบี้ย
แพรวไพลิน วงษ์สินธุวิเศษ 
สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค
ธนาคารแห่งประเทศไทย