ผ่าแผน “สตาร์ตอัป” ฝ่าวิกฤติ - 'รักษากระแสเงินสด คิดโมเดลใหม่'

ผ่าแผน “สตาร์ตอัป” ฝ่าวิกฤติ - 'รักษากระแสเงินสด คิดโมเดลใหม่'

เปิดทางรอด “สตาร์ตอัป” ยุคเศรษฐกิจถดถอย “ไลน์แมนวงใน” สำรองเงินสด เร่งอัพเกรดบริการให้ฉลาดขึ้น “กรวัฒน์” หนุนไอเดียคิดใหญ่เจาะตลาดโลก ‘บิทคับ’ แนะเลี่ยงทำธุรกิจที่ขาดทุน “เดิมพัน” แนะโมเดลธุรกิจแบบ Get Big Fast 2.0 เน้นกำไรดึงดูดนักลงทุน

เปิดทางรอด “สตาร์ตอัป” ยุคเศรษฐกิจถดถอย เงินในระบบน้อยลง เวนเจอร์แคปปิตอล เลือกลงทุนมากขึ้น “ไลน์แมนวงใน” เน้นแผนสำรองเงินสด รับเศรษฐกิจชะลอยาว เร่งอัพเกรดบริการให้ฉลาดขึ้น “กรวัฒน์” หนุนไอเดียคิดใหญ่เจาะตลาดโลก ‘บิทคับ’ แนะเลี่ยงทำธุรกิจที่ขาดทุน ชี้ “บล็อกเชน” อนาคตการลงทุน “เดิมพัน” แนะโมเดลธุรกิจแบบ Get Big Fast 2.0 เน้นกำไรดึงดูดนักลงทุน ด้าน “เอไอเอส-ไลน์” มองสตาร์ตอัปจะรอดหรือร่วงวัดที่ “ไอเดีย”

วิกฤติเศรษฐกิจส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจการลงทุน บริษัทระดับโลกหลายแห่ง รวมถึงเทค คอมพานีทั่วโลกประกาศรัดเข็มขัด ปลดคน ชะลอการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง กลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัป ซึ่งต้องอาศัยเงินลงทุนจากบริษัทภายนอก หรือ “กองทุน” ต่างๆ วิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้ บรรดานักลงทุนต้องเฟ้นหาธุรกิจที่ตอบโจทย์และทำกำไรได้จริง เกณฑ์เลือกใส่เงินระดมทุนในสตาร์ตอัปก็ยากขึ้นไปด้วย

ผ่าแผน “สตาร์ตอัป” ฝ่าวิกฤติ - 'รักษากระแสเงินสด คิดโมเดลใหม่'

นายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไลน์แมนวงใน จำกัด กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า นับจากช่วงนี้ ธุรกิจจะเรียกว่า winter has come (รับมือกับเศรษฐกิจถดถอย) ซึ่งทุกคนมองว่า มันจะกินเวลายาวนานพอสมควร คงไม่ดีขึ้นเร็วๆ นี้  ดังนั้น เทค คอมพานี ตอนนี้ จะหันมาเน้นในเรื่องของการทำกำไร การ Lean จึงเห็นการเลย์ออฟคน รีดไขมันองค์กร

“ในส่วนไลน์แมนวงใน เราเตรียมกำลังสำรองต้องมีเงินเก็บไว้ในกระเป๋า เพื่อให้ผ่านช่วงนี้ไปได้ เพราะไม่มีอะไรมา การันตีว่าเราจะ raise fund ได้อีกเมื่อไหร่ ดังนั้น เราต้องพยายามสำรองเงินสด เพื่อที่จะให้อยู่รอดไปให้ได้ แพลตฟอร์ม ต้องพัฒนาให้ฉลาดมากขึ้น ใช้เงินเป็นมากขึ้น เจาะกลุ่มเซกเม้นท์มากขึ้น”

สตาร์ตอัปต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเองมากขึ้น ต้องปรับตัวเยอะ ที่อยู่ได้ก็ต้องโฟกัสที่ความสามารถในการทำเงินอย่างแท้จริง

“กรวัฒน์” แนะต้องโฟกัสโกลบอล

นายกรวัฒน์ เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอมิตี (Amity) โซเชียล คลาวด์ คอมพานี  “เทคสตาร์ทอัพ” กล่าวว่า ทางรอดของสตาร์ทอัพไทย เรื่องแรกต้องโฟกัสโกลบอลมากขึ้น เพราะเมืองไทยถ้าพูดถึงตลาดคอนซูเมอร์ หรือ บีทูบี ยังถือว่าเล็ก ไม่ใหญ่มากพอที่จะ sustain ธุรกิจที่เป็นเทคโนโลยีไซส์ใหญ่ได้

“ถ้าเราไม่สร้าง region business region player เราจะมีเพลย์เยอร์ ที่มาจากตลาดที่ใหญ่กว่าเรา มีรีซอร์สเยอะกว่าเรา อินโดนีเซีย อเมริกา เข้ามาตีตลาดเรา แล้วถ้าเราไม่มีสเกล สุดท้ายเราก็ยากที่จะแข่งขันเรื่องเทคโนโลยี เรื่องอาร์แอนด์ดี ถ้าสตาร์ตอัปของเราจะสำเร็จ หรือ โตมากขึ้นกว่าวันนี้ เราต้องมองมากขึ้นว่า เราจะเป็น regional play เราจะเป็น โกลบอล เพลย์ เราจะเจาะตลาดที่ใหญ่ขึ้นอย่างไรที่จะสู้กับต่างชาติได้”

ขณะที่ การทำสตาร์ทอัพ ก็ไม่มีสูตรตายตัว แต่เท่าที่พยายามศึกษาบริษัทที่ประสบความสำเร็จคือ ทำผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งให้ดีจนเป็น best in class ไปเลย คือ ต้องมีโฟกัสสำคัญว่าสตาร์ทอัพต้องการทำอะไร แก้ปัญหาอะไร

บล็อกเชนเติบโตสูงอนาคต

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ “บิทคับ” บริษัทกล่าวว่า Venture Capital (VC) ยักษ์ใหญ่ มองการลงทุน “บล็อกเชน” คือการลงทุนที่เติบโตมหาศาลในอนาคต จากการได้มีโอกาสพูดคุยกับกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกและกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จากการได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์

โดยกองทุนทั้ง 2 พูดตรงกันว่ามีการลงทุนในนักวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับวงการบล็อกเชนและดิจิทัลแอสเสทมากที่สุด และเชื่อว่า บล็อกเชน คือการเติบโตที่รวดเร็วที่สุด ทำให้กองทุนทั่วโลกมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตมหาศาลรวมทั้งการที่รู้ว่า VC เหล่านี้เข้าไปลงทุนในธุรกิจประเภทใด เป็นหนึ่งวิธีที่จะคาดเดาเทรนด์ในอนาคตได้

ทั้งนี้เมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว กองทุนใหญ่ในประเทศอิสราเอลลงทุนจำนวนมากในสินค้าประเภทแบตเตอรี่ ซึ่งใน 5 ปีถัดมา หุ้นเทสลา(Tesla) เป็นหุ้นที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ในตอนนี้ธีมการลงทุนที่ได้รับความสนใจ คือ ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ที่เป็นส่วนประกอบของดิจิทัลอีโคโนมีในอนาคต หากดิจิทัลอีโคโนมียิ่งมีขนาดใหญ่ ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ยิ่งมีความสำคัญ และธีมการลงทุนในฟินเทค

ปีหน้าภาคธุรกิจต้องเลี่ยงขาดทุน

สำหรับภาคธุรกิจ ในปีนี้และปีหน้า ควรหลีกเลี่ยงการดำเนินธุรกิจที่ทำให้บริษัทขาดทุน โดยต้องมองการเติบโตและการทำกำไรเป็นหลัก รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งส่วนบุคคลและบริษัทเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคนและองค์กร โดยการเอาเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาเพื่อชนะ“เงินเฟ้อในระยะยาว” พร้อมกับสำรอง“เงินสด”ซึ่งจะสามารถทำให้บริษัทสามารถดำเนินต่อไปได้

ปี 2566ในวันที่เศรษฐกิจจะกลับมาคึกคักอีกครั้งเมื่อแบงก์ชาติเริ่มลดดอกเบี้ย และอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจใหม่หลังจากที่สภาวะ “อินเฟรชัน” จบลงจิรายุส เชื่อว่าหลังจากสถานการณ์“รีเซสชั่น” ทั่วโลกจะหายไปและ “ดิจิทัลแอสเสท” จะเติบโตขึ้นมาก โดย

3 ธีมหลักที่เวิลด์ อีโคโนมิกฟอรั่มให้ความสำคัญ คือ1.Sustainability 2.Digital economy และ3.ซัพพลายเชน ซึ่งซัพพลายต้องเชื่อมโยงกับ “กรีน อีโคโนมี่” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะดึงดูดให้นักลงทุนหลังไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้

พร้อมทั้งในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุค “ทอง” ของภูมิภาค“เซาท์อีสเอเชีย” ที่จะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วที่สุด จากความพร้อมในหลายๆด้าน ทั้งความมั่นคง มีความรุ่งเรื่อง ทำให้มีนักลงทุนต่างๆ เข้ามาลงทุนและมีเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้ จึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคAPEC 2022 ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ ในการประกาศว่าประเทศไทยมีความพร้อมในด้านเศรษฐกิจแล้วเพื่อโชว์เคส แสดงความมั่นใจให้กับนักลงทุนและผู้นำทั่วโลกที่เข้ามาในเมืองไทย เพื่อรับทราบว่าเมืองไทยมีความพร้อมที่จะรองรับเม็ดเงิน

“วีซี”เน้นสตาร์ตอัปที่มีกำไรเท่านั้น

นายเดิมพัน อยู่วิทยา ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแรพพิด กรุ๊ป หรือ Rapid Group บริษัทฟินเทค กล่าวว่า ในงานเวิลด์ อีคอโนมิก ฟอรัม ล่าสุด VC ทั่วโลก ประกาศแล้วว่า ยังคงสนับสนุนเงินลงทุนในสตาร์ตอัปอยู่ แต่จะลงทุนกับสตาร์ตอัปที่เป็นGet Big Fast 2.0 เท่านั้น คือ สตาร์ตอัปที่สามารถทำกำไรได้ในทันที

ดังนี้สตาร์ตอัปโมเดลธุรกิจยุค 1.0 ที่ยังต้องเบิร์นเงินอยู่ ถือว่า จบแล้ว แต่หากยังสามารถปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ได้ทันในปีนี้ มองว่า ยังรอดได้ แต่ถ้าปรับไม่ทั นก็ไม่มี VC เพิ่มเงินลงทุนแล้ว

ทั้งนี้แนะนำ สตาร์ตอัปไทย ต้องปรับโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อดึดดูดเงินลงทุนจาก VC ทั่วโลกเข้ามามากขึ้น โดยสตาร์ตอัปในโลกยุคใหม่จะต้องมีโมเดล “ธุรกิจแบบGet Big Fast 2.0”สามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้รวดเร็วทำกำไรได้ตั้งแต่เดือนแรก ไตรมาสแรก หรือปีแรก เพราะโมเดลธุรกิจสตาร์ตอัปแบบเดิมๆ ที่หวังจะเบิร์นเงินลงทุนเข้ามานานๆ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้นักลงทุนไม่ชอบแน่นอน

ขณะเดียวกัน สตาร์ตอัปในโลกยุคใหม่ ต้องกระแสการเติบโต ตามเทรนด์ของโลก คือ Lean Economy ลดต้นทุน ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ ความสามารถการทำกำไร(Bottom Line)เพิ่มขึ้น กลายเป็น “ธุรกิจที่หอมหวล ”ทันทีพร้อมกับต้องสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนไปพร้อมกับเศรษฐกิจยุคใหม่ หรือ Green Economy ที่เป็นหนึ่งในโครงสร้างหลักของโลกและองค์กรยุคใหม่ ด้วยการสร้างอีโคซิสเต็มส์(ecosystem) สนับสนุนGreen Economyอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่สร้างภาพลักษณ์หรือแค่เรื่อง ESG

“มองว่าสตาร์ตอัป ก็ต้องไม่จำกัดการเติบโตของตัวเองแค่รอเงินลงทุน แต่อยู่ที่วิสัยทัศน์ของเราที่จะสร้างให้ธุรกิจให้เติบโตบนทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อมกันได้ สามารถUnlearn ไม่ยึดติดละทิ้งสิ่งที่เรียนรู้มา เพื่อ Relearn เรียนรู้สิ่งที่เราเคยรู้แล้วด้วยมุมมองใหม่ มาพัฒนาสิ่งใหม่”

ไลน์-เอไอเอส มองสตาร์อัพแข่งที่ไอเดีย

นายพิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทไลน์ ประเทศไทย จำกัด ให้ความเห็นว่า สตาร์ทอัพ อยู่ในจุดที่ต้องแข่งขันเรื่องไอเดีย ไอเดียไหนตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนได้ ทำอย่างไร ให้เป็นโปรดักส์ที่ตอบโจทย์ของผู้ใช้ได้ และต้องเป็นไปได้ทางธุรกิจด้วย โดยส่วนตัวเชื่อว่า สตาร์ทอัพยังมีพื้นที่ให้โตและยังมีอนาคต

ด้านนายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า ภาพกว้างของสตาร์อัพปัจจุบันยังเติบโต แต่ในสภาวะที่เปลี่ยนไป ผลกระทบเศรษฐกิจ สงคราม ค่าครองชีพ จากแหล่งพลังงานที่แพงขึ้น เงินเฟ้อเกิดขึ้นทั่วโลก ระบบการลงทุนก็เปลี่ยนไป สตาร์ทอัพจะได้รับ funding ที่มีความซับซ้อนและ ยากมากขึ้น

“สตาร์ทอัพต้องมุ่งเน้นไปในการสร้างแวลู การเดินไปข้างหน้าของสตาร์ทอัพยังมีโอกาสอีกมาก ที่จะไปแก้ปัญหาในแต่ละยุค ไปตอบโจทย์แต่ละห้วงเวลาในสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป”

เทคฯทั่วโลกแห่รัดเข็มขัด ลดคน

การถดถอยทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยช่วงขาขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆในตลาดต่างประเทศ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ทะยานอย่างต่อเนื่องกำลังเล่นงานประเทศต่างๆทั่วโลก ทำให้บริษัทเทคโนโลยี บริษัทให้บริการทางการเงินและบริษัทแบรนด์ดังในอุตสาหกรรมต่างๆพร้อมใจกันรัดเข็มขัด ชะลอการจ้างงานและลดจำนวนพนักงาน เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก

อเมซอน ดอท คอม ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี (3พ.ย.)ชะลอการจ้างงานในตำแหน่งใหม่ๆ โดยอ้างถึงบรรยากาศการดำเนินธุรกิจและเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน อีกทั้งช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้บริษัทได้ว่าจ้างพนักงานจำนวนมากแล้ว ส่วนลิฟท์ อิงค์ บริษัทให้บริการเรียกรถรับจ้างปรับตัวรับช่วงขาลงของธุรกิจด้วยการประกาศลดจำนวนพนักงานลง 13% หรือประมาณ 683 คน

ส่วนอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ซีอีโอเทสลาที่ปิดดีลซื้อกิจการทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ก่อน ทวีตข้อความอธิบายสาเหตุที่ตัดสินใจปลดพนักงานทวิตเตอร์มากถึง 50% ว่าไม่มีทางเลือกอื่น เพราะบริษัทสูญเสียเงินมากถึงวันละ 4 ล้านดอลลาร์ส่วนอีเมลที่ส่งภายในบริษัทเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา(4พ.ย.)ได้มีการแจ้งให้พนักงานทุกคนทราบว่า การเลย์ออฟเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อจะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จในการก้าวต่อไปข้างหน้าได้

ขณะที่ อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เปิดเผยว่าในช่วงเดือนเม.ย.ถึงเดือนมิ.ย.ได้ปลดพนักงานไปแล้ว 9,241 คน เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก โดยปัจจุบันบริษัทมีพนักงานมากกว่า 245,000 คน

แนะวิธีสตาร์ตอัป‘รอด’ช่วงศก.โลกทรุด

สำนักข่าวต่างประเทศได้เสนอแนะแนวทาง การดำเนินธุรกิจในภาวะขาลง ของเศรษฐกิจโลกแก่บริษัทสตาร์ตอัป  เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ เริ่มจากบริหารธุรกิจให้มี “เงินสด” อยู่เสมอ ควรมีเงินสดสำรองเพียงพออย่างน้อย 12-18 เดือน เพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะกินระยะเวลา แม้วิกฤติการณ์ผ่านพ้นไปแล้ว รัดเข็มขัด ประหยัดต้นทุน ยุติการพัฒนาสินค้า หรือบริการที่ยังไม่มีการใช้งาน ย้ายงบการตลาดมาอยู่บนช่องทางที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย เช่น โซเชียลมีเดีย

รวมถึง แสวงหาโอกาสใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น Isinnova สตาร์ทอัพสัญชาติอิตาเลียน ผู้ให้บริการ 3D-printing สำหรับงานออกแบบที่เข้ามาผลิตเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ช่วยหายใจทางการแพทย์จากนวัตกรรม 3D-printing ของตัวเอง และควรมองหาแหล่งระดมทุนอื่นๆ เช่น การสนับสนุนจากรัฐบาล โครงการที่ออกมาช่วยเหลือธุรกิจสตาร์ทอัพ ฯลฯ หรืออาจลองย้อนกลับไปมองหาเวทีประกวดสำหรับสตาร์ทอัพ เพื่อคว้าเงินลงทุนใหม่อีกครั้ง