นักวิชาการชี้ ”บอลลูนจีน” จุดชนวนขัดแย้งสหรัฐพุ่ง

นักวิชาการชี้ ”บอลลูนจีน” จุดชนวนขัดแย้งสหรัฐพุ่ง

นักวิชาการชี้ปัญหา “บอลลูนจีน” ตอกย้ำพฤติกรรมสอดแนมของจีน จุดชนวนความขัดแย้งสหรัฐพุ่ง ระบุ นานาชาติไม่เชื่อคำแก้ต่าง มองปัญหาคลื่นใต้น้ำภายในกระทบความมั่นคงของจีน แนะทุกฝ่ายหยุดยั่วยุ หวั่นจี้ “สี จิ้นผิง” โจมตีไต้หวัน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดประเด็นปัญหาที่อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐย่ำแย่ไปอีก หลังจากที่สหรัฐพบบอลลูนสัญชาติจีนลอยไปอยู่เหนือน่านฟ้าสหรัฐ ซึ่งอยู่ในจุดทางการทหารของสหรัฐ ส่งผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ แอนโทนี บลิงเคน ประกาศเลื่อนการเยือนจีนโดยไม่มีกำหนด 

กรณีดังกล่าวนั้น เป็นการตอกย้ำข้อสงสัยของนานาชาติที่มองว่า จีนเองมีพฤติกรรมสอดแนมประเทศอื่นมาอย่างต่อเนื่อง และมองการปฏิเสธของจีนเป็นเพียงข้อแก้ต่างที่ไม่สมเหตุผล แต่หากจีนไม่มีเจตนาสอดแนมจริง กรณีดังกล่าวเป็นการสะท้อนปัญหาภายในของจีนที่มองว่าเป็นคลื่นใต้น้ำกระทบความมั่นคงภายในถึงขั้นยั่วยุให้จีนบุกไต้หวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่นานาชาติไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

  • “บอลลูนสอดแนม” จุดชนวนขัดแย้งเพิ่ม

นางสาววาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ประเด็นดังกล่าวผ่านรายการ DEEP Talk ของกรุงเทพธุรกิจ ระบุว่า กรณีบอลลูนจีนลอยขึ้นไปอยู่เหนือนน่านฟ้าของสหรัฐนั้น เป็นการสะท้อนพฤติกรรมการสอดแนมของจีนที่ได้ปฏิเสธมาตลอด โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวะที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐมีกำหนดการเยือนจีนเพื่อสานสัมพันธ์ต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด ถือเป็น จังหวะที่เรียกว่า จังหวะนรก ที่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง

“เรื่องการสอดแนมของจีนก็เป็นเรื่องที่นานาชาติตั้งข้อสงสัยมานาน เมื่อเกิดขึ้นก็ตอกย้ำ ขณะที่ คำอธิบายก็ฟังไม่ขึ้น ฉะนั้น จีนต้องกลับไปทบทวนและมีคำตอบให้ได้ ถ้าเปลี่ยนนโยบายเป็นมิตรจริงๆ ต้องทำอะไรบางอย่างให้เห็น ที่ผ่านมา แข็งกร้าวมาตลอดว่า ไม่ได้สอดแนม แต่อยู่ดีๆมีบอลลูน 3 ลูกลมพัดมาทั้ง 3 ลูก ก็พูดลำบาก ถ้าจะไปต่อต้องมีอะไรนิดนึง เราเชื่อว่า ทั้งจีนและอเมริกา ก็อยากที่จะมีความสัมพันธ์ค้าขายกัน เพราะเป็นประโยชน์สองฝ่าย การที่บลิงเคนเลื่อนการเยือนจีนไม่มีกำหนด หมายความว่า เขาคิดว่า สักวันจะไป ท่าทีตรงนี้ บอกว่า ขอให้เรื่องซาก่อนแล้วค่อยว่า กัน และให้จีนจัดการหลังบ้านให้เรียบร้อยก่อน”

ด้านนายภากร กัทชลี อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระบุ ปัญหาดังกล่าว เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะกระทบให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนแย่ลงไปอีก โดยกล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์นี้ สื่อจีนเองก็วิเคราะห์แง่บวกว่า ความสัมพันธ์จีนกับสหรัฐน่าจะเจอกันครึ่งทาง โดยประเทศพันธมิตร เช่น ออสเตรเลียเองก็มีพูดคุยระดับรัฐมนตรีการค้าในมุมบวก แต่พอเกิดกรณีนี้ขึ้นมา แน่นอนว่าส่งผลให้เกิดประเด็นด้านความขัดแย้ง เพราะเป็นเรื่องอธิปไตยและการสอดแนมก็เป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่ทางสหรัฐเองก็มองในมุมนี้มาโดยตลอด

“ในยุคสงครามการค้า ในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ก็มองว่า หัวเว่ยที่เป็นบริษัทเรือธงของจีนด้านไอทีว่า มีการสอดแนมในอุปกรณ์เหล่านี้ รวมถึง แอปพลิเคชันของ tiktok ของจีน ซึ่งอเมริกันใช้เยอะ ก็เคยมีประเด็นว่า ถ้าคนอเมริกันใช้มาก ข้อมูลจะหลุดรั่วหรือไม่ ประเด็นนี้ ละเอียดอ่อนมานานในเรื่องข้อมูลสหรัฐจะโดนจีนสอดแนมหรือเปล่า แน่นอนว่า ส่งผลระดับประเทศอยู่แล้ว”

  • เชื่อข้อแก้ต่างของจีนฟังไม่ขึ้น

ภากรมองว่า จริงๆถ้าเราศึกษาพิสัยของบอลลูนประเภทนี้ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศเป็นหมื่นๆฟุต การลอยไม่น่าจะมาไกลขนาดนี้ แต่ทางการจีนบอกเป็นเพราะลมแรงจริงๆ สภาพภูมิอากาศ สุดวิสัย แต่การปล่อยบอลลูนตรวจสอบอะไรก็ตาม จีนเองไม่รู้เลยหรือว่า หลุดนอกเส้นทางไป เชื่อว่า สื่อและนักวิชาการตั้งประเด็นสงสัยว่า ไม่รู้จริงหรือไม่ และ ยิ่งมีประเด็นถอดผู้บริหารระดับสูงอุตุนิยมวิทยาจีน จึงมีเสียงเล่าลือว่า จีนจะไม่มีการติดตามข้อมูลของบอลลูนจริงหรือ แล้วบอลลูนก็ลอยไปตรงขีปนาวุธของสหรัฐด้วย ก็มองว่า บังเอิญไปไหม

วาสนากล่าวว่า มีคำถามเกิดขึ้นว่า บอลลูนที่ลอยไปในพื้นที่ของสหรัฐนั้น ทางการจีนหรือผู้บริหารระดับสูงของจีน ไม่ทราบจริงหรือไม่ เมื่อเกิดกรณีดังกล่าวแล้ว ทางการจีนเองควรจะแจ้งกับสหรัฐถึงแนวทางการจัดการปัญหาดังกล่าวโดยทันที ซึ่งการที่บอกว่า บอลลูนดังกล่าวเป็นการเก็บข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาเท่านั้น เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น

“เมื่อจีนทราบเรื่องบอลลูนแล้ว ควรจะแจ้งกับสหรัฐ เพราะถือเป็นการละเมิดอธิปไตยอเมริกาแล้ว และอาจจะคุยว่า จะจัดการอย่างไร การที่บอกว่า เป็นการเก็บข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเฉยๆ ฟังไม่ขึ้นในแง่ที่ว่า สิ่งที่เรียกอุตุนิยมวิทยา แต่เอาไปใช้เพื่อความมั่นคงได้ เพราะเห็นภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ดังนั้น เมื่อคุณละเมิดน่านฟ้าเขาแล้วทำไมไม่แจ้ง ดังนั้น เราคิดว่า ทางจีนรู้แน่นอน เป็นไปไม่ได้ที่จีนสร้างสิ่งนี้และปล่อยออกมา จะไม่รู้ว่า อยู่ตรงไหน แต่คำถามที่น่าสนใจ คือ ฝ่ายการต่างประเทศ รมว.ต่างประเทศใหม่ที่เพิ่งเปลี่ยนเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ เขารู้เรื่องนี้หรือเปล่าหรือว่า แม้กระทั่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเองรู้เมื่อไหร่ ผู้นำระดับสูงรู้หรือไม่”

  • ปัญหาภายในกระทบความมั่นคง "สี จิ้นผิง"

วาสนามองว่า นอกจากจะเกิดข้อสงสัยเรื่องการสอดแนมของจีนแล้ว ขณะนี้ เกิดข้อสงสัยอีกด้วยว่า ปัญหาบอลลูนดังกล่าว เป็นปัญหาภายในของจีนเองหรือไม่ โดยสี จิ้นผิงเองอาจจะไม่ทราบถึงเรื่องดังกล่าวทำให้มองว่า สี จิ้นผิงเองจัดการกับปัญหาภายในประเทศได้หรือเปล่า และสิ่งนี้จะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของสีจิ้นผิงมาก 

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า นโยบายต่างประเทศของจีนถูกกำหนดจากสถานการณ์ภายในประเทศเป็นหลัก และการเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศจากแข็งกร้าวมากต่อสหรัฐและโลกตะวันตกมาเป็นพันธมิตรเห็นได้ชัดเพราะสีจิ้นผิงมีความแน่ชัดว่า ตนเองจะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีวาระที่ 3 และเพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน ดังนั้น เขาจึงพยายามเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ

สิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นอย่างที่เราสงสัย คือ เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการรู้ แต่ผู้นำสูงสุดไม่รู้ อันนี้ แสดงให้เห็นว่า มันมีความไม่ต่อเนื่อง หรือปัญหาในการสั่งการ หรือ สื่อสารองค์กรของรัฐบาลจีน ดังนั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า สี จิ้นผิง เอาอยู่หรือเปล่า สิ่งนี้ จะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงต่อสี จิ้นผิงมาก

“มีการพูดกันว่า ถ้าใครจะล้มสี จิ้นผิงได้ ไม่ใช่ใคร แต่เป็นภายในประเทศ ฉะนั้น ภัยความมั่นคงของสี จิ้นผิง ไม่ใช่สหรัฐ หรือ ยุโรป แต่ภายในประเทศเอง ดังนั้น เมื่อเกิดประเด็นนี้ขึ้นมา คำถาม คือ สีจิ้นผิงโดนเจาะยางหรือเปล่า เอาอยู่ไหม ซึ่งบังคับให้รัฐบาลแสดงท่าทีแข็งกร้าว และจะบังคับให้ไม่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐ ได้มากเท่าที่เขาต้องการ”

ภากร กล่าวว่า มุมมองส่วนตัวมองว่า อาจจะไม่ตั้งใจให้เกิดขึ้น เพราะว่า จริงๆ ความตั้งใจของสี จิ้นผิง ได้บอกว่า ต้องการเปิดประเทศ ชูนโยบายพหุภาคี และพูดมาตลอดว่า จีนกับสหรัฐควรหันมาร่วมมือกัน ดังนั้น อาจจจะไม่ตั้งใจ เป็นความผิดพลาดทางเทคนิค เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น คนที่กุมบังเหียนอุตุวิทยามีการหลุดจากตำแหน่ง อาจจะมีประเด็นเรื่องไม่รายงาน และไม่จัดการทันท่วงทีหรือไม่ ซึ่งปัญหาภายในเกิดขึ้นตั้งแต่โควิดที่รัฐบาลไม่สามารถสั่งรัฐบาลท้องถิ่นได้ ทำให้การทำงานไม่เป็นไปตามต้องการ 

“ปัญหาภายในประเทศ และเรื่องชาตินิยม จะทำให้ความสัมพันธ์จีนกับสหรัฐเป็นไปแบบขึ้นๆลงๆ จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์จีนกับอเมริกาก็เป็นแบบนี้มาตลอด เมื่อมีเรื่องละเอียดอ่อน ท่าทีของสองประเทศก็จะแข็งกร้าว ดังนั้น ความสัมพันธ์ก็จะขึ้นๆลงๆ”

  • หวั่นปัญหาบานปลายบีบจีนบุกไต้หวัน

วาสนากล่าวว่า ความห่วงของผู้นำชาติตะวันตก คือ ความไม่แน่นอนที่สี จิ้นผิงอาจจะจัดการปัญหาภายในประเทศไม่ได้ จะก่อให้เกิดปัญหาชาตินิยมผลักดันให้จีนบุกไต้หวันหรือไม่ 

ดังนั้น จึงขอให้นานาชาติลดการยั่วยุจีน เพื่อไม่ให้สี จิ้นผิงจนตรอก เพื่อจะได้ไม่มีสงครามโดยไม่จำเป็น 

"ถ้าสี จิ้นผิงจัดการปัญหาในประเทศไม่ได้ จะผลักให้เข้าไปสู่อุดมการณ์ชาตินิยมรุนแรงหรือเปล่า ท้ายที่สุดจะแก้ปัญหาด้วยการบุกไต้หวันไหม ทุกครั้งที่มีปัญหาในประเทศเขาก็จะด่าญี่ปุ่นกับบุกไต้หวัน คือ ชูประเด็นชาตินิยม เรารู้สึกว่า มีความเสี่ยง ถ้าผลักให้สี จิ้นผิงจนตรอก โอกาสจะบุกไต้หวันสูง" 

"แต่เราคิดว่าเขายังไม่จนตรอก คิดว่า รอบนี้ ประธานาธิบดีไบเดนเองก็พยายามทำให้ไม่เป็นเรื่อง นานาชาติก็ลดการยั่วยุทะเลาะกับจีน เราอยากให้ทุกคนเชื่อว่า ความปวดหัวของสีจิ้นผิง คือ ในประเทศ ให้เขาจัดการหลังบ้านเขาก่อน เราจะได้ไม่ต้องมีสงครามโดยไม่จำเป็น”

วาสนากล่าวด้วยว่า เรื่องบุกไต้หวันเป็นเรื่องเซนซิทีฟที่ทุกคนกลัวมาก เป็นอะไรที่แต่ละประเทศพูดคุยทวิภาคีกับจีน เพราะกองเรือที่ 7 ของสหรัฐยังเฝ้าไต้หวันอยู่ ดังนั้น ความขัดแย้งระหว่างจีนกับอเมริกาอาจจะส่งผลต่อไต้หวันไหมจากเรื่องนี้ ฉะนั้น ชาติต่างๆไม่ควรพยายามกระทำการยั่วยุจีนมากในเรื่องนี้และขอให้จีนอย่าเล่นใหญ่มาก

รับฟังการสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ผ่านรายการ DEEP TALK ของ กรุงเทพธุรกิจ ทั้งทาง Youtube และ Facebook