เพิ่มผลตอบแทนและจำกัดความเสี่ยงขาลง ด้วยกองทุนหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง

เพิ่มผลตอบแทนและจำกัดความเสี่ยงขาลง  ด้วยกองทุนหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง

ตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงมาตลอดปี 2022 ส่งผลให้เริ่มต้นปี 2023 ด้วยภาพ Valuation ของสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่มีความน่าสนใจมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ทั้ง FWD P/E หุ้นโลกที่ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 15 เท่า และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรอบ 10 ปี ขณะที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ 10 ปี สหรัฐฯ ที่บริเวณกรอบ 3.7 - 4.0% ซึ่งเป็นระดับสูงที่ไม่ได้เห็นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบดูเหมือนจะยังมีอยู่มาก ทั้งดอกเบี้ยนโยบายและเงินเฟ้อในระดับสูงกำลังเร่งให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศสหรัฐฯ และยุโรป สงครามยูเครน-รัสเซียที่ยืดเยื้อ หรือปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ภายใต้สถานการณ์ข้างต้นทำให้การลงทุนที่ยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดี

แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยปกป้องความเสี่ยงในฝั่งขาลง อย่างเช่นกองทุนหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง (Structured Note) เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะนอกจากจะสามารถออกแบบให้ปกป้องเงินลงทุนได้แล้วและยังสามารถรับผลตอบแทนได้ตามอัตราการมีส่วนรวม (Participation Rate, PR) ตามการเคลื่อนไว้ของสินทรัพย์ที่อ้างอิง (Underlying Asset)

สำหรับรูปแบบการลงทุนของ Structured Note เป็นการนำสินทรัพย์ 2 ชนิด ได้แก่ ตราสารหนี้/หุ้นกู้ที่มีคุณภาพดีผสมผสานกับตราสารอนุพันธ์ที่สามารถให้ผลตอบแทนสูงเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถปรับคุณสมบัติให้เหมาะสมกับภาวะตลาดในแต่ละช่วงวงจรเศรษฐกิจได้ เช่น การคุ้มครองเงินต้น พร้อมโอกาสการสร้างผลตอบแทนสูงจากการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์อ้างอิง เช่น ดัชนีตลาดหุ้น กองทุนรวมดัชนี (ETF) กองทุนรวม หรือแม้แต่สินค้าโภคภัณฑ์ได้ทั้งขาขึ้นและขาลง โดยรูปแบบการลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก จะลงทุนในหุ้นกู้ตามแต่นโยบายลงทุน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระดับ Investment Grade ขึ้นไป เพื่อรับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนด ทำให้เงินนลงทุนเติบโตขึ้นเป็น 100% เท่ากับเงินต้นที่ลงทุนไป

ส่วนที่สอง จะถูกนำไปลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ประเภทออปชั่น (Options) ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้สร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมให้กับผู้ลงทุน เมื่อครบกำหนดเวลา

อีกประเด็นที่สำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ คือ ผลตอบแทนที่จะได้รับเมื่อครบกำหนดสัญญา ดูได้จากแผนภาพผลตอบแทนเมื่อครบกำหนด (Pay off) รวมถึงเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม เช่น การกำหนดขอบเขต (Barrier) ว่าหากสินทรัพย์อ้างอิงเคลื่อนไหวหลุดออกจากกรอบที่กำหนดไว้ ผลตอบแทนที่ได้รับจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นผลตอบแทนส่วนชดเชย (Rebate Rate) แทน

เพิ่มผลตอบแทนและจำกัดความเสี่ยงขาลง  ด้วยกองทุนหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง

 

เพิ่มผลตอบแทนและจำกัดความเสี่ยงขาลง  ด้วยกองทุนหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง

ตัวอย่างการคำนวณผลตอบแทน

Structured Note ผูกกับดัชนี S&P 500 ณ วันที่เริ่มต้นดัชนีอยู่ที่ 4,000 จุด โดยมีกรอบสูงสุดที่ +20% และมีอัตราส่วนร่วม (PR) 50% วันที่สิ้นสุดดัชนีอยู่ที่ 4,400 จุด (+10%) และไม่มีวันใดที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นสูงกว่าวันแรกเกิน 20%

ผลตอบแทนคำนวณจาก อัตราการมีส่วนรวม (PR) x การเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์อ้างอิง = 50% x 10% = 5%*

*(ยังไม่รวมผลจากอัตราแลกเปลี่ยน)

นอกจากนี้ ยังมี Dual Shark Fin ที่ Pay off จะคล้ายครีบปลาฉลาม 2 ตัวมาชนกัน ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนได้ทั้งในช่วงสินทรัพย์ขาขึ้นและขาลงไปพร้อมกัน สำหรับคนที่มองว่าราคาสินทรัพย์อาจจะแกว่งตัวในกรอบไม่ไปไหน

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในกองทุนหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงมีความเสี่ยง 3 ประเด็นหลักที่นักลงทุนต้องให้ความสนใจ ประเด็นที่หนึ่ง ความเสี่ยงในการเกิดการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้ (Default Risk) ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงได้โดยการเลือกตราสารหนี้ที่มีระดับลงทุน (Investment Grade) ประเด็นที่สอง คือ ความน่าเชื่อถือคู่สัญญาของตราสารอนุพันธ์/Options เพื่อป้องกันการผิดสัญญา ซึ่งจะส่งผลต่อเงินลงทุนได้ และประเด็นสุดท้ายความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง เนื่องจากนักลงทุนจะต้องถือ Structure Note ไปจนครบกำหนด แม้ว่าระหว่างทางราคาสินทรัพย์จะเคลื่อนไหวนอกกรอบราคาแล้ว

โดยสรุปกองทุนหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำแต่ยังเปิดโอกาสได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่มไปกับการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์อ้างอิง เหมาะสำหรับคนที่อยากลงทุนในสินทรัพย์ แต่ยังมีความลังเลต่อสถานการณ์การลงทุนข้างหน้า หรือมีมุมมองว่าราคาสินทรัพย์อาจจะปรับตัวขึ้นได้จำกัด หรือแกว่งตัวในกรอบแคบ อย่างไรก็ตาม กองทุนหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงเป็นการลงทุนที่มีความซับซ้อน ทำให้นักลงทุนควรจะทำความเข้าใจคุณลักษณะและความเสี่ยงของกองทุนให้ดีก่อนลงทุน