เอ็กซิมแบงก์หนุนสินเชื่อกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ประเมินเติบโตดี

เอ็กซิมแบงก์หนุนสินเชื่อกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ประเมินเติบโตดี

เอ็กซิมแบงก์หนุนสินเชื่อกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ประมินเติบโตดี หลังเศรษฐกิจโลกถดถอยโตต่ำสุดรอบ 30 ปี กระทบตลาดส่งออกหลักทั้งสหรัฐและยุโรป ตั้งเป้าสินเชื่อใหม่ปีนี้ขยาย 1.2 แสนล้าน หรือ 20% หนุนภาพรวมส่งออกขยาย 2% ส่วนหนี้เสียตั้งเป้าคุมไม่เกิน 3%

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์)ระบุ ตลาดเกิดใหม่ เช่น เอเชียใต้ อาเซียน และ ตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดิอาระเบีย จะเป็นกลุ่มประเทศที่ผู้ส่งออกไทยควรขยายตลาดการส่งออก เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐและยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้น ทิศทางการปล่อยสินเชื่อของธนาคารจึงเน้นไปที่ตลาดเกิดใหม่ดังกล่าว ส่วนตลาดส่งออกเดิมนั้น ธนาคารยังคงปล่อยสินเชื่อ แต่จะไม่ขยายวงเงินให้มากนัก

ทั้งนี้ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยในปีนี้ จะไม่สามารถขยายตัวได้ หรือ มีอัตราการขยายตัวเท่ากับศูนย์ เนื่องจาก เศรษฐกิจโลกถดถอยขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 ปี แต่ธนาคารมองว่า หากผู้ประกอบการไปเปิดตลาดใหม่บวกกับการส่งเสริมสินเชื่อตลาดเกิดใหม่ของธนาคาร จะหนุนให้การส่งออกของไทยสามารถขยายตัวได้ถึง 2% ส่วนธุรกิจที่จะให้การสนับสนุนสินเชื่อนั้น เราจะเน้นไปยังอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ธุรกิจพลังงาน ท่องเที่ยวและบริการ 

สำหรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารในปี2566 ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อที่ 1.2 แสนล้านบาท ขยายตัว 20% จากสินเชื่อปล่อยใหม่ปีก่อนที่ปล่อยได้กว่า 9.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างเติบโตมาอยู่ที่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่มียอดสินเชื่อคงค้าง 1.7 แสนล้านบาท ส่วนผลกำไรนั้น ในปี 2565 มีกำไรสุทธิกว่า 1.5 พันล้านบาท ในปี 2566 ตั้งเป้าหมายกำไรสุทธิกว่า1.8 พันล้านบาท สำหรับหนี้เสียนั้น ตั้งเป้าหมายรักษาระดับไว้ที่ 3% ของสินเชื่อคงค้าง ส่วนปี 2565 อยู่ที่ระดับ 2.90% โดยธนาคารจะมีบริหารจัดการหนี้เสียอย่างต่อเนื่อง และตั้งเป้าหมายขายหนี้เสียปีละ 5 พันล้านบาท 

“ในปีที่แล้ว เราได้ตั้งสำรองเพิ่มไปกว่า 1.2 พันล้านบาท ทำให้เรามียอดรวมการกันสำรองสูงกว่า280%ของหนี้เสีย ทั้งนี้ เพราะความเสี่ยงของหนี้ทำให้เราไม่สามารถตั้งกันสำรองในระดับที่ต่ำได้”เขากล่าวและว่า ในระยะจากนี้ไป แนวทางการหารายได้ของธนาคารจะไม่ใช่มีเพียงการปล่อยสินเชื่อเท่านั้นแต่จะมาจากการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการและการทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยปัจจุบันรายได้จากดอกเบี้ยอยู่ที่ 90% แต่ต่อไปจะอยู่ที่ 75% 

เขายังกล่าวด้วยว่า ในปีนี้ธนาคารมีแผนการระดมทุนเพิ่มผ่านการออกกรีนบอนด์ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดวงเงิน ขณะเดียวกัน ธนาคารจะได้รับเงินเพิ่มทุนจากรัฐบาลอีก 2 พันล้านบาท โดยทุนดังกล่าว จะนำมาปล่อยกู้ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อปรับธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว รวมถึง ปล่อยสินเชื่อร่วมกับแบงก์รัฐแห่งอื่นยกตัวอย่าง หากผู้ประกอบการต้องการเงินกู้ 40 ล้านบาท สามารถไปขอที่เอสเอ็มอีแบงก์หรือไอแบงก์ในจำนวน 20 ล้านบาท ส่วนที่เหลือสามารถมาขอที่ธนาคารหรือหากสินทรัพย์ไม่พอ บสย.ก็จะเข้าไปช่วยค้ำประกันด้วย

“สินเชื่อที่เราตั้งเป้าหมายเติบโตได้มากขึ้น จะไม่ได้มาจากการปล่อยสินเชื่อโดยตรงของธนาคาร แต่จะมาจากการร่วมปล่อยสินเชื่อที่ธนาคารได้ไปจับมือกับแบงก์รัฐแห่งอื่นๆด้วย ดังนั้น จะเห็นว่า เรามีสาขาเพียง 9 แห่ง เราก็สามารถปล่อยสินเชื่อได้จำนวนมาก”

ด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารนั้น เขากล่าวว่า หลังจากดอกเบี้ยนโยบายได้ทยอยปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ธนาคารยังไม่ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามมาในระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ธนาคารมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด 0.80% อย่างไรก็ดี ในวันพุธที่ 1 ก.พ.นี้ ธนาคารจะปรับขึ้นจำนวน 0.25% และจะทยอยปรับขึ้นอีกครั้งราวกลางปีนี้ในอัตรา 0.25%

สำหรับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น แนะนำให้ผู้ส่งออกเร่งตุนสินค้า เพื่อลดต้นทุน อย่างไรก็ดี สำหรับในธุรกิจขนาดใหญ่ยังแนะนำให้ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนธุรกิจขนาดเล็กที่ยังต้องการได้มาร์จินจากอัตราแลกเปลี่ยน ก็ยังแนะนำให้ทำประกันความเสี่ยงเช่นกัน