จ่ายภาษีครึ่งปีแล้ว อย่าลืม! ยื่นภาษีสิ้นปี เปิดวิธีคำนวณแบบ step by step

จ่ายภาษีครึ่งปีแล้ว อย่าลืม! ยื่นภาษีสิ้นปี เปิดวิธีคำนวณแบบ step by step

บุคคลธรรมดาจ่ายภาษีครึ่งปีแล้ว อย่าลืม! ต้องยื่นภาษีสิ้นปีด้วย แต่ต้องเสียอย่างไร คำนวณแบบไหน เปิดวิธีคำนวณแบบ step by step

การยื่นภาษีสำหรับผู้มีรายได้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มาตรา 40(5)-(8) มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี 2 รอบ คือ

– ยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน เป็นการยื่นภาษีกลางปีเพื่อสรุปรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีภาษีแรกที่ผ่านมา โดยค่าลดหย่อนบางรายการจะถูกหักเหลือครึ่งหนึ่ง เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว

– ยื่นภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) ช่วงเดือนมกราคม - มีนาคมของปีถัดไป เป็นการสรุปรายได้ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา

แต่ผู้มีรายได้ในกลุ่มเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5-8 หรือมาตรา 40(5)-(8) ส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าจะต้องเสียภาษีครึ่งปีด้วย บางรายคิดว่าเสียภาษีครึ่งปีไปแล้วก็ไม่ต้องเสียภาษีสิ้นปี หรือเสียภาษีสิ้นปีทีเดียวเลยก็ได้มั้ง!?! ซึ่งความจริงแล้วจะต้องยื่นภาษีทั้งครึ่งปีและสิ้นปี

แล้วนำมาคำนวณหักลบกันตามสูตร (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย - ภาษีที่จ่ายไว้แล้วตอนครึ่งปี ซึ่งผู้มีรายได้มาตรา 40(5)-(8) สามารถคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบ step by step กันได้จากบรรทัดต่อจากนี้

หลักการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา “ครึ่งปี”

สำหรับผู้มีรายได้ตามมาตรา 40(5)-(8) จะต้องยื่นภาษีครึ่งปีแรก โดยนำรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีภาษีแรกที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน มาคำนวณภาษีครึ่งปี ซึ่งเป็นการชำระภาษีประจำปีล่วงหน้าเท่านั้น ผู้มีรายได้ยังต้องมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ประจำปีอีกครั้ง (ภาษีสิ้นปี)

ดังนั้น ถ้าหากใครเป็นผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(5)-(8) ซึ่งเข้าข่ายตรงกับผู้มีรายได้ตามกฎหมายกำหนด จะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เพื่อแสดงรายการรายได้ครึ่งปี โดยสามารถยื่นได้ช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายนของทุกปี ซึ่งค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนต่างๆ และวิธีการคำนวณภาษี สามารถอธิบายได้ดังนี้

1. ค่าใช้จ่ายที่นำมาหักภาษีแบ่งตามอาชีพธุรกิจ

1.1) เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) คือ รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่ารถยนต์ ค่าเช่าคอนโดหรือที่ดิน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ค่าใช้จ่ายหักแบบเหมาได้ 10-30% หรือหักตามจริง

1.2) เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) คือ รายได้จากวิชาชีพอิสระ 6 อาชีพ ได้แก่ โรคศิลปะ ประณีตศิลป์ สถาปนิก วิศวกร นักบัญชี ทนายความ ค่าใช้จ่ายหักแบบเหมาได้ 30-60% หรือหักตามจริง

1.3) เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(7) คือ รายได้จากการรับเหมา ออกวัสดุส่วนประกอบสำคัญ นอกเหนือจากอุปกรณ์สัมภาระที่มี ค่าใช้จ่ายหักแบบเหมาได้ 60% หรือหักตามจริง

1.4) เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) คือ รายได้จากการพาณิชย์ หรือประเภทอื่นที่ไม่เข้าเงินได้ 40(1)-(7) เช่น รายได้จากการขายของออนไลน์ ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย นักแสดง ศิลปิน หักแบบเหมา 60% หรือหักตามจริง

2. วิธีคำนวณภาษีเงินได้ครึ่งปี

วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ตามสูตรคือ

(รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน(ครึ่งหนึ่ง)) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

ทั้งนี้ วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้นำค่าใช้จ่ายตามจริงมาหักออกจากรายได้ที่ได้รับเข้ามาทั้งหมด ที่เหลือให้นำมาหักลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท (ครึ่งปี) และค่าลดหย่อนอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น ค่าสงเคราะห์บุตร บิดามารดา เป็นต้น ซึ่งค่าลดหย่อนที่นำมาลดหย่อนภาษีจะถูกหักเหลือครึ่งหนึ่ง เนื่องจากเป็นการยื่นภาษีครึ่งปี

จากนั้นเมื่อหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนต่างๆ แล้ว เหลือเท่าไรให้นำไปเปรียบเทียบตารางภาษีก้าวหน้าก็จะได้เป็นอัตราภาษีที่ต้องเสียครึ่งปี ดังนี้

รายได้สุทธิ 1 - 150,000 บาท ได้รับการยกเว้น

รายได้สุทธิ 150,001 - 300,000 อัตราค่าภาษี 5%

รายได้สุทธิ 300,001 - 500,000 อัตราค่าภาษี 10%

รายได้สุทธิ 500,001 - 750,000 อัตราค่าภาษี 15%

รายได้สุทธิ 750,001 - 1,000,000 อัตราค่าภาษี 20%

รายได้สุทธิ 1,000,001 - 2,000,000 อัตราค่าภาษี 25%

รายได้สุทธิ 2,000,001 - 5,000,000 อัตราค่าภาษี 30%

รายได้สุทธิ 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35%

3. ตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้ครึ่งปีแบบคร่าวๆ

สมมุติ เป็นรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งจัดอยู่เงินได้ประเภทที่ 8 มาตรา 40(8) สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ คือเหมาจ่าย 60% หรือเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง ซึ่งหากเลือกหักตามจริงจะต้องมีเอกสารในการจ่ายที่พิสูจน์ผู้รับเงินได้

ดังนั้น กรณีนี้จะยกตัวอย่างแบบเลือกหักเหมา 60% และค่าลดหย่อนส่วนตัว 3,000 บาท และคำนวณตามสูตร (รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน(ครึ่งหนึ่ง)) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

- รายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน รวมทั้งหมด 2,000,000 บาท

- ค่าใช้จ่ายหักเหมา 60% 1,200,000 บาท

- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท

สูตร (2,000,000 - 1,200,000 - 30,000) = 770,000 บาท นำมาเทียบอัตราภาษีก้าวหน้า

  • หลักการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (สิ้นปี)

เมื่อเข้าสู่ช่วงเสียภาษีเงินได้ประจำปี (ภาษีสินปี) ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ผู้มีรายได้ที่ยื่นเสียภาษีครึ่งปีไว้แล้ว จะต้องนำรายได้ทั้งหมดตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม ของปีภาษีนั้นมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากนั้นค่อยนำภาษีครึ่งปีที่จ่ายไปก่อนหน้านี้มาหักลบออก สูตรคือ

(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย – ภาษีที่จ่ายไว้แล้วตอนครึ่งปี

ตามตัวอย่างดังต่อไปนี้

Step 1 : เริ่มจากคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูตรคือ

(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

สมมุติ รายได้ทั้งหมดตลอดทั้งปีจากการขายสินค้าออนไลน์เป็นเงิน 3,000,000 บาท (เพิ่มจากรายได้ครึ่งปีมา 1,000,000 บาท)

- รายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม รวมทั้งหมด 3,000,000 บาท

- ค่าใช้จ่ายหักเหมา 60% 1,800,000 บาท

- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท

สูตร (3,000,000 - 1,800,000 - 60,000) = 1,140,000 บาท นำมาเทียบอัตราภาษีก้าวหน้า

Step 2: หลังจากได้อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสียแล้ว ให้นำมาหักลบกับภาษีที่ได้จ่ายไปเมื่อตอนกลางปี จะได้ยอดภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม คือ

- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภาษีสิ้นปี) = 183,750 บาท

- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี = 69,000 บาท

หักลบแล้วคงเหลือภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม = 114,750 บาท

สรุป

สุดท้ายแล้วผู้มีรายได้ตามมาตรา 40(5)-(8) สามารถเช็กค่าลดหย่อนต่างๆ ได้ที่นี่ หรือตรวจสอบคำนวณภาษีได้จากเว็บไซต์กรมสรรพากร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ อย่าลืมเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้ง 2 รอบ เพื่อให้หน้าที่เสียภาษีของผู้มีรายได้เป็นไปอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่