“อาคม” ยันเก็บภาษีขายหุ้นไม่กระทบภาพรวมตลาด

“อาคม” ยันเก็บภาษีขายหุ้นไม่กระทบภาพรวมตลาด

“อาคม” ยันเก็บภาษีขายหุ้นไม่กระทบภาพรวมตลาด แต่สร้างความเป็นธรรมในระบบ ระบุ อัตราจัดเก็บที่ 0.11% อยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศในเอเชีย โดยรวมจะมีภาระต้นทุน 0.22% ย้ำเมื่อเสียภาษีแล้ว ไม่ต้องนำไปคำนวณรายได้ชำระภาษีปลายปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรหลักสูตร Wealth of Wisdom:WOW#1 ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และฐานเศรษฐกิจ โดยยืนยันการเก็บภาษีจากการขายหุ้น ไม่กระทบต่อการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

ทั้งนี้ เขากล่าวว่า เนื่องจาก ภาระภาษีการขายหุ้นของไทยนั้น ยังต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชีย โดยภาระภาษีของเราคิดที่ 0.11% ของมูลค่าการซื้อขาย เมื่อบวกค่าธรรมเนียมค่าโบรกเกอร์คิดเป็นต้นทุน 0.22% ซึ่งต่ำกว่าฮ่องกงที่มีภาระต้นทุนรวม 0.38% มาเลเซีย 0.29% ขณะที่ สิงคโปร์อยู่ที่ 0.22% ใกล้เคียงกับไทย

อย่างไรก็ตาม ในปีแรกของการบังคับใช้รัฐบาลจะกำหนดอัตราภาษีที่ต่ำ คิดเพียง 0.055% ของมูลค่าการขาย และหากรวมค่าธรรมเนียมของโบรกเกอร์ผู้ขายจะมีภาระรวม 0.195% เท่านั้น

ส่วนกรณีที่ระบุว่า เมื่อขายขาดทุนแล้วทำไมต้องเสียภาษี เขากล่าวว่า เนื่องจาก ภาษีตัวนี้ ไม่ใช่ภาษีที่เก็บจาก Capital gain หรือกำไรจากการขายหุ้น ซึ่งบางประเทศก็จัดเก็บภาษีตัวนี้ด้วย แต่สำหรับไทยนั้น เก็บเฉพาะภาษีการขาย ซึ่งสะดวกในการคำนวณ และไม่เป็นภาระกับนักลงทุนมาก

ทั้งนี้ เมื่อผู้ขายหุ้นเสียภาษีโดยมีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ยื่นนำส่งภาษีไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องนำรายได้มายื่นคำนวณรวมในสิ้นปีอีกครั้ง(Final tax)

นอกจากนี้ ภาษีตัวนี้ ยังมีข้อยกเว้นกรณีที่เป็นการขายโดยกองทุนเพื่อการเกษียณอายุ ไม่ว่าจะเป็น  กบข.,ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และรวมถึง Market Maker ซึ่งในที่นี้หมายถึงนักลงทุนที่จดทะเบียนเป็นบริษัทหลักทรัพย์ ไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่ตามที่เข้าใจกัน ซึ่ง Market Maker ช่วยสร้างสภาพคล่องในตลาด

ทั้งนี้ การซื้อขายในตลาดหุ้นนั้น 11% ของผู้ซื้อขายเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่เป็นกลุ่มสถาบัน ซึ่งครอบคลุมมูลค่าการซื้อขาย 95%ของตลาด อีกเกือบ 90% เป็นนักลงทุนรายย่อย ที่มีมูลค่าการซื้อขายประมาณ5%ของตลาด 

เขากล่าวด้วยว่า ระบบการจัดเก็บภาษีหุ้นนั้น มี 2 แบบ คือ 1.เก็บจากกำไรจากการขายหุ้น และ 2.เก็บเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขาย ซึ่งไทยเลือกแนวทางที่ 2 ซึ่งเรากำหนดอัตราภาษีนี้แล้วตั้งแต่ปี 2535 แต่ได้ยกเว้นมาตลอด เพื่อส่งเสริมตลาดหลักทรัพย์ให้เข้มแข็ง

“วันนี้ ตลาดหลักทรัพย์ไทยโตกว่า 20 เท่าของอดีต ดังนั้น เพื่อสร้างความเสมอภาคระหว่างคนที่ทำมาค้าขายทั่วไปกับนักลงทุนที่ซื้อขายหุ้นในตลาดไม่ให้แตกต่าง จึงสมควรให้มีการจัดเก็บ ทั้งนี้ กฎหมายจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90 วัน”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์