คลังชี้เก็บภาษีขายหุ้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบ

คลังชี้เก็บภาษีขายหุ้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบ

เปิดเหตุผลคลังชงครม.อนุมัติเก็บภาษีขายหุ้น 0.11% ตั้งแต่บาทแรก ระบุ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี หลังได้รับการยกเว้นมานานถึง 40 ปี ปัจจุบันตลาดหุ้นเติบโตถึง 22 เท่าจาก 30 ปีก่อน รับกระทบต่อต้นทุนเล็กน้อยจาก 0.17% เป็น 0.22% แต่จะสร้างรายได้เข้ารัฐ 1.6 หมื่นล้านบาท

(วานนี้ 29 พ.ย.) คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติการจัดเก็บธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ตามที่ กระทรวงการคลัง เสนอโดยให้จัดเก็บในอัตราครึ่งหนึ่งของอัตราตามประมวลรัษฎากรในการจัดเก็บปีแรกที่ 0.05%หรือ 0.055%เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น แล้วจัดเก็บในอัตราตามประมวลรัษฏากรที่ 0.1% หรือ 0.11%เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น ในการจัดเก็บปีต่อๆ ไป และคงการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ผู้ขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์บางกลุ่ม

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้รายงานว่า ในปี 2521 ได้มีการจัดเก็บภาษีการค้าสำหรับรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ในอัตรา 1% ของรายรับ แทนการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับกำไร (Capital Gains) จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ และในปี 2525 มีการยกเว้นภาษีการค้าให้แก่การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์

ต่อมาในปี 2534 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรแห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์เป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยฐานภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ คือ รายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ และอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ คือ 0.1% หรือ 0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น

ประกอบกับมาตรา 91/9 บัญญัติให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ผู้ขาย แต่สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์(Broker) มีหน้าที่หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขายและยื่นแบบแลดงรายการภาษีและชำระภาษีแทนผู้ขายในนามตนเอง โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก และให้ถือว่าสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ (Broker) เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีด้วย

ในปี 2535 ได้มีการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะแทนภาษีการค้าโดยการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 0.1%ของรายรับ หรือ 0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น

ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2535และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 257) พ.ศ. 2535 กำหนดให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์ จึงมีผลให้การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามพระราขกฤษฎีกาดังกล่าว

กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า การยกเว้นภาษีสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ได้ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว และปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(Market Capitalization) เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่าจาก 30 ปีก่อนจึงเห็นควรยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์

โดยให้จัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราครึ่งหนึ่งของอัตราตามประมวลรัษฎากรในปีแรกของการจัดเก็บที่0.055% อัตราที่รวมกับภาษีท้องถิ่นและจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราตามประมวลรัษฎากรในปีต่อๆไปของการจัดเก็บ คือ 0.1% หรือ 0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีระยะเวลาเพียงพอแก่การปรับตัวรับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและสงครามรัสเซีย–ยูเครนต่อการลงทุนก่อนจะเริ่มเสียภาษี

ตลอดจนบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีระยะเวลาเพียงพอแก่การพัฒนาระบบหักและนำส่งภาษี และเห็นควรคงการยกเว้นภาษีให้แก่ ผู้ดูแลสภาพคล่อง(Market Maker)กองทุนบำนาญ ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายรวมกันไม่เกิน 15% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด (กองทุนบำนาญ คือ กองทุนที่ผู้จ่ายเงินสมทบหรือเงินสะสมเข้ากองทุนสามารถหักลดหย่อนเงินสะสมและเงินสมทบดังกล่าวในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินหรือผลประโยชน์อื่นที่ได้รับจากกองทุนเมื่อเกษียณอายุ) และกองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนแก่กองทุนบำนาญ เพื่อไม่ให้การจัดเก็บภาษีส่งผลกระทบต่อการสร้างสภาพคล่องของหลักทรัพย์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งการออมเพื่อการเกษียณอายุ

ทั้งนี้ มูลค่าการซื้อขายหมุนเวียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2518 (ตลาดเริ่มเปิดทำการ)มูลค่าการซื้อขาย 559.54 ล้านบาท ปี 2525 (ยกเว้นภาษีการค้า)มูลค่าการซื้อขาย 5,877.97 ล้านบาท ปี        2535 (ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ) มูลค่าการซื้อขาย 1.86 ล้านล้านบาท ปี 2564 มูลค่าการซื้อขาย 21.31 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงการลัง ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว ดังนี้ 1.มาตรการนี้เป็นการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ โดยจัดเก็บในอัตราครึ่งหนึ่งของอัตราตามประมวลรัษฎากรในการจัดเก็บปีแรกแล้วจัดเก็บในอัตราตามประมวลรัษฎากรในการจัดเก็บปีต่อ ๆ ไป

และคงการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ผู้ขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์บางกลุ่ม จึงไม่ได้ทำให้สูญเสียรายได้ แต่จะทำให้รายได้ภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มขึ้นในปีแรกของการจัดเก็บประมาณ 8 พันล้านบาทและในปีต่อๆ ไปของการจัดเก็บประมาณปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท

การจัดเก็บภาษี ดังกล่าว จะเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและการออมเพื่อการเกษียณอายุ

อย่างไรก็ดี อาจส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ของไทยสูงขึ้นจาก 0.17% เป็น 0.22% (ต้นทุนที่รวมทั้งการซื้อและการขาย) แต่ยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยต่ำกว่าของมาเลเซีย ซึ่งอยู่ที่0.29%  และของฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.38%และสูงกว่าของสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ที่ 0.20% เล็กน้อย ทั้งนี้ ในปีแรกของการจัดเก็บที่มีการลดอัตราภาษีเหลือ 0.055%ต้นทุนดังกล่าวจะอยู่ที่ 0.195% ซึ่งใกล้เคียงกับของสิงคโปร์

นอกจากนี้ อาจส่งผลต่อสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ จากการศึกษากรณีตัวอย่างของต่างประเทศ (ฝรั่งเศสและอิตาลี โดยคาดว่าจะส่งผลให้สภาพคล่องลดลงในระยะสั้นเท่านั้น

สำหรับสาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกาเป็นการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ โดยให้จัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราครึ่งหนึ่งของอัตราตามประมวลรัษฎากรในปีแรกของการจัดเก็บและในอัตราตามประมวลรัษฎากรในปีต่อ ๆ ไปของการจัดเก็บ

โดยจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 0.05% หรือ 0.055% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้(ตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดจากเดือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566  และให้จัดเก็บ 0.1% หรือ 0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567เป็นต้นไป

กำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์บางกรณี ได้แก่ กิจการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในตลาดหลักทรัพย์ของบุคคล (Market Maker กองทุนบำนาญและกองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนแก่กองทุนบำนาญ ดังต่อไปนี้ ผู้ดูแลสภาพคล่องที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เฉพาะกิจการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น

สำนักงานประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์

และตลาดหลักทรัพย์ กองทุนการออมแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคม