สศค.เกาะติดเหตุประท้วงโควิดซีโร่ในจีน

สศค.เกาะติดเหตุประท้วงโควิดซีโร่ในจีน

สศค.เกาะติดประท้วงโควิดซีโร่ในจีน ชี้หากยืดเยื้อจะกระทบต่อการส่งออก และภาคอุตสาหกรรมของไทย เหตุจีนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ และจะส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย ไม่ฟื้นตัวเต็มศักยภาพจากการหดหายของนักท่องเที่ยวจีน

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยว่า สศค.ได้ประเมินผลกระทบจากการประท้วงโควิดล็อกดาวน์ในประเทศจีน ต่อเศรษฐกิจของจีน และไทย โดยสถานการณ์เศรษฐกิจจีนล่าสุดนั้น พบว่า เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอตัว โดยยังได้รับแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายซีโร่โควิด และมีปัจจัยเสี่ยงด้านอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ สะท้อนจากเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ปี 65 ขยายตัวได้เพียง 3.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถือว่า เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวอยู่ที่ 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ 2.2% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า

สศค.คาดว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ 3.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากปีก่อนหน้า สำหรับปี 2566 คาดว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ดีขึ้น 4.5% แต่ชะลอลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์โควิดจะยังคงท้าทายอยู่ในช่วงต้นปี 2566

สำหรับผลกระทบจากการประท้วงดังกล่าวนั้น สศค.ประเมินว่า สถานการณ์ความไม่สงบจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในประเทศจีน โดยตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้า วันที่ 28 พ.ย. 65 เป็นลบ โดยมีดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกงร่วงนำตลาด -1.98% และดัชนี SSE Composite ลดลง -1.03% เนื่องจาก ถูกกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับเหตุชาวจีนลุกฮือประท้วงต่อต้านการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด และอาจกดดันให้รัฐบาลตัดสินใจดำเนินมาตรการควบคุมความไม่สงบแบบเข้มงวด และอาจเพิ่มความรุนแรง

ในช่วงก่อนหน้านี้ รัฐบาลประกาศยึดมั่นในนโยบายปลอดโควิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากสถานการณ์ความไม่สงบยืดเยื้อ และรุนแรงมากขึ้นก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะกระทบต่อการลงทุน และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้  จึงยังต้องติดตามการประกาศที่ชัดเจนของทางการจีนอีกครั้ง

ทั้งนี้ สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยในระยะสั้น กรณีที่สถานการณ์ไม่บานปลาย คาดว่า จะยังไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องด้วย ประเทศไทยมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเงินการคลัง และด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง

ในกรณีที่การประท้วงบานปลาย (ซึ่งมีโอกาสเกิดค่อนข้างน้อย) จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก และภาคอุตสาหกรรมของไทย เนื่องจาก จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และมีห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตของทั้งสองประเทศอยู่ค่อนข้างมาก และจะส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยไม่ฟื้นตัวเต็มศักยภาพจากการหดหายของนักท่องเที่ยวจีน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์