ธปท.ถกคลัง ตั้ง’โฮลดิ้ง-รวมกิจการ’แบงก์รัฐ ลดแข่งทับซ้อน เสริมแกร่งธุรกิจ

ธปท.ถกคลัง ตั้ง’โฮลดิ้ง-รวมกิจการ’แบงก์รัฐ ลดแข่งทับซ้อน เสริมแกร่งธุรกิจ

“แบงก์ชาติ” ถก “คลัง” ทบทวนแผนดำเนินงานแบงก์รัฐ หลังพบการทำงานทับซ้อนกันมาก ขณะหลายแห่งฐานะย่ำแย่ส่อต้องเพิ่มทุน แนะยกเครื่องทั้งระบบ พร้อมเสนอควบกิจการเข้าด้วยกันหรือตั้งเป็นโฮลดิ้งเพื่อลดความทับซ้อน ขจัดจุดอ่อน ป้องปัญหาใต้พรม

ธปท.ถกคลัง ตั้ง’โฮลดิ้ง-รวมกิจการ’แบงก์รัฐ ลดแข่งทับซ้อน เสริมแกร่งธุรกิจ      ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ร่วมกับกระทรวงการคลังได้จัดประชุมเพื่อทบทวนทิศทางการดำเนินงานและกำหนดแนวทางผลักดันธนาคารเฉพาะกิจ(แบงก์รัฐ) ร่วมกัน หลังจากพบว่า แบงก์รัฐแต่ละแห่งแม้จะมีพันธกิจของตัวเองชัดเจน แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่าหลายแห่งได้ให้บริการในงานที่นอกเหนือจากขอบเขตของพันธกิจตัวเองไปมากและมีความทับซ้อนกัน ทำให้ยากต่อการกำกับดูแล

      ดังนั้น ธปท. จึงมีแนวคิดที่อยากจะรวมกิจการหรือตั้งโฮลดิ้งขึ้นมาเพื่อลดปัญหาความทับซ้อนในการดำเนินงาน

     แหล่งข่าวในวงประชุมกล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตต่อผลการดำเนินงานและบทบาทของแบงก์รัฐในฐานะสถาบันการเงินของรัฐด้วยกัน 7 ด้าน

.    ซึ่งมองว่า เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของแบงก์รัฐทั้งในปัจจุบันและอนาคต

    1.ธปท. ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐได้อนุมัติเงินเพิ่มทุนให้แบงก์รัฐรวมแล้วกว่า 9.2หมื่นล้านบาท จากงบประมาณและกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ(กองทุนพัฒนาแบงก์รัฐ) 

    โดยกว่า 68% เป็นการเพิ่มทุนให้แก่ ธนาคารอิสลามแบงก์(ไอแบงก์) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตตร(ธ.ก.ส.) เนื่องจากประสบปัญหา

     อย่างไรก็ตาม กองทุนพัฒนาแบงก์รัฐ ประเมินว่า ในระยะข้าง แบงก์รัฐ อาจต้องเพิ่มทุนอีกเพื่อให้ BIS ratio เป็นตามเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด โดยกรณี Base case จะต้องเพิ่มทุนประมาณ 1.6 - 4.9 หมื่นล้านบาท ขณะที่ Worst case อาจเผชิญปัญหาเงินไม่เพียงพอรองรับการเพิ่มทุน

     2. ปัจจุบัน แบงก์รัฐ หลายแห่งยังมีปัญหาการดำเนินงานและฐานะการเงินที่ไม่เข้มแข็ง สะท้อนจากตัวเลขหนี้เสีย( NPLs )ที่สูงกว่าระบบธนาคารพาณิชย์ เกือบ 2 เท่า อยู่ที่ประมาณ 6.3% อีกทั้ง BIS ratio บางแห่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด

        ขณะที่ฝั่งลูกหนี้ของแบงก์รัฐ ก็มีฐานะการเงินที่เปราะบางขึ้น ปัจจุบัน แบงก์รัฐ มีส่วนในการสร้างภาระหนี้สินของครัวเรือนประมาณ 28% โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรกว่า 90% ครัวเรือนประสบปัญหาวงจรหนี้สิน โดยมีหนี้เฉลี่ยกว่า 4.3 แสนบาทต่อครัวเรือน และภาระหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

     3. การดำเนินงานของแบงก์รัฐ หลายแห่งมีประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ บางแห่งมีอัตรา Cost to income (CTI) สูงมากกว่า 60% และอัตราส่วน Return on Asset (ROA) เฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ -1.52% - 0.91% ขณะที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีค่าเฉลี่ย CTI เพียง 45% และ ROA อยู่ที่ประมาณ 1%

     4.แบงก์รัฐหลายแห่ง มีระบบที่ล้าสมัย ขาดประสิทธิภาพ และพึ่งพาการปฏิบัติงานแบบ manual เป็นหลัก เช่น ระบบประเมินความเสี่ยงทางเครดิตในกระบวนการให้สินเชื่อยังไม่สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริง

     ซึ่งความผิดปกติของข้อมูล และการปฏิบัติไม่เป็นตามหลักเกณฑ์ทางการบ่อยครั้ง และแบงก์รัฐ ปรับตัวได้ช้าในการพัฒนาระบบงาน Core banking system และรองรับหลักเกณฑ์บัญชีฉบับใหม่ (TFRS9) ตลอดจนการบริหารจัดการหนี้ของแบงก์รัฐ บางแห่งล่าช้าจนทำให้คุณภาพสินเชื่อเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว เพราะขาดการใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนกระบวนการดำเนินงาน

     5. คณะกรรมการของแบงก์รัฐ บางแห่งไม่สามารถกำหนดทิศทางและแก้ไขสถานการณ์ให้เท่าทันบริบท ทางการเงิน เนื่องจากขาดความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจการเงินการธนาคาร

     โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการสรรหากรรมการของแบงก์รัฐ มีการพิจารณาคุณสมบัติและความสามารถ (fit and proper) เฉพาะกรรมการที่ไม่ได้มาโดยตำแหน่ง อีกทั้งมีการโยกย้ายหรือเกษียณอายุของกรรมการโดยตำแหน่งบ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลกับความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ

       6. การดำเนินงานของแบงก์รัฐ ในภาพรวมทั้งระบบมีการทับซ้อนกันเองและ crowd out บริการของธนาคารพาณิชย์ ใน 4 จุดใหญ่ เช่น ความทับซ้อนของขอบเขตพันธกิจ 

       จุดที่ 1 ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) และธนาคารออมสิน ในสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดย ออมสิน ซึ่งเป็น universal bank สำหรับรายย่อย ปล่อยสินเชื่อบ้านมากถึง 3.78 แสนล้านบาท ในวงเงินเฉลี่ยต่อราย 1.6 ล้านบาท ใกล้เคียงกับ ธอส. ที่ปล่อยวงเงินเฉลี่ย 1.4 ล้านบาท

       จุดที่ 2 ออมสิน-เอสเอ็มอีแบงก์ ในธุรกิจรายเล็ก โดยมีสัดส่วนของผู้กู้ที่เป็นบุคคลธรรมดา 100% และ 85% ตามลำดับ ยอดสินเชื่อคงค้างต่อรายที่ ออมสิน ปล่อยให้บุคคลธรรมดาเฉลี่ยประมาณ 1.7 ล้านบาท มากกว่า เอสเอ็มอีแบงก์ ที่เฉลี่ย 1 ล้านบาท 

       จุดที่ 3 ออมสิน-เอกซิมแบงก์ ในธุรกิจขนาดใหญ่ โดยมียอดปล่อยสินเชื่อ 2.6 และ 1 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% และ 70% ของพอร์ตธุรกิจตามลำดับ สินเชื่อที่ เอกซิมแบงก์ ปล่อยให้ธุรกิจรายใหญ่มีทั้งธุรกิจเพื่อการส่งออกและนำเข้า และเพื่อการพัฒนา เช่น ในสาขาไฟฟ้า 1.55 หมื่นล้านบาท

      จุดที่ 4 ไอแบงก์ ปล่อยสินเชื่อให้แก่ non-Muslim สัดส่วนสูงถึง 68% ประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท และปล่อยไปยังธุรกิจขนาดใหญ่มากถึง 41% 

      7. แบงก์รัฐ ถูกใช้เป็นเครื่องมือส่งผ่านนโยบายประชานิยม ซึ่งทำให้ฐานะการเงินของแบงก์รัฐ บางแห่งมีความเปราะบางและอยู่ในสถานะที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และการจ่ายเงินชดเชยนโยบายรัฐมีความล่าช้ามาก ยิ่งเพิ่มภาระต่อผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของแบงก์รัฐ

      เช่น ธ.ก.ส. ที่ยังมีลูกหนี้รอการชดเชยจากโครงการจำนำผลผลิตและประกันรายได้ที่สะสมมาตั้งแต่ปี 2551 ของรัฐบาลรวมกว่า 7.87 แสนล้านบาท ซึ่งจำนวนนี้อยู่ในงบของ ธ.ก.ส. 5.81 แสนล้านบาท และนอกงบ 2.06 แสนล้านบาท

   แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการประชุมนี้ ธปท. จึงเสนอให้ “ยกระดับ”การพัฒนาแบงก์รัฐทั้งระบบ จากการเผชิญข้อจำกัดหลายด้านของแบงก์รัฐ และระยะข้างหน้าแบงก์รัฐยังต้องเผชิญกับ ความท้าทายในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น และในรูปแบบใหม่ ๆ จากภูมิทัศน์การเงินทั้งผู้ให้บริการ เทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค และกฎระเบียบที่กำลังเปลี่ยนโฉมไป ประกอบกับสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจก็เปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง เช่น กระแส ESG

      การกำหนดทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาแบงก์รัฐ จะต้องทำให้เกิดความต่อเนื่อง เพื่อทบทวน Mandate หรือปรับโมเดลการดำเนินธุรกิจของแบงก์รัฐแต่ละแห่ง วางแผนพัฒนาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

      นอกจากนี้ในที่ประชุมมองว่า ปัญหาที่ต้องทำเร่งด่วน คือ การสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับธนาคารรัฐ พร้อมกำหนด KPI และโครงสร้างผลตอบแทนที่สร้างแรงจูงใจต่อการบรรลุพันธกิจ และสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้แบงก์รัฐ และระบบการเงินสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทบทวนบทบาทแบงก์รัฐลดทับซ้อน

    นอกจากนี้ ต้องทบทวน บทบาทของแบงก์รัฐ มุ่งตอบโจทย์สำคัญของประเทศในระยะข้างหน้า เช่น การเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินสำหรับเอสเอ็มอี การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ไม่สร้างภาระการคลังในอนาคต

      ดังนั้น ในวงประชุมครั้งนี้ มีการ เสนอให้มีการทบทวน พันธกิจและกำหนดความคาดหวังและผลการดำเนินงานต่อเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดความชัดเจน และสร้าง commitment ต่อพันธกิจหลักเพื่อให้ดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง และให้แบงก์รัฐเป็นกลไกส่งผ่านนโยบายระยะสั้นของภาครัฐอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการด้านอื่นๆ

เสนอรวมกิจการ-ตั้งโฮลดิ้งแบงก์รัฐ

    นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ ธปท. เสนอ คือ ต้องลดความทับซ้อน ของการบริการระหว่าง ธนาคารรัฐ และสถาบันการเงินอื่นๆ โดยอาจพิจารณา ศึกษาเพื่อรวมกิจการบางแห่ง หรือการตั้งโฮลดิ้ง คอมพานี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของแบงก์รัฐทั้งระบบ

     “การเสนอให้มีการรวมกิจการ หรือตั้งโฮลดิ้ง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แบงก์รัฐ โดยที่ประชุมเสนอให้จัดกลุ่มแบงก์รัฐ เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก ธ.ก.ส. ส่วนนี้ทับซ้อนน้อย ก็แก้ปัญหาหนี้เสียของตัวเองไป ขณะที่กลุ่มที่สอง ธอส. ออมสิน ไอแบงก์ และ อีกกลุ่ม เอสเอ็มอีแบงก์ เอ็กซิมแบงก์ บสย. มาอยู่ภายใต้โฮลดิ้งเดียวกัน เพื่อลดการทำธุรกิจทับซ้อน และเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยเหลือคนตัวเล็ก เอสเอ็มอีได้มากขึ้น”

      แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า รูปแบบที่มีโอกาสเป็นไปได้มากสุด คือ การตั้งโฮลดิ้งคอมพะนี เพราะนอกจากแบงก์สามารถทำตามพันธกิจได้แบบเดิมแล้ว ในด้านการทำธุรกิจจะปรับเปลี่ยนไม่มาก อีกทั้งลดการแข่งขันระหว่างกันได้ ทำให้การเข้าไปดูแลลูกหนี้ ลูกค้าเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

      ขณะที่การรวมกิจการ อาจเป็นไปได้ แต่มีความยาก เพราะแต่ละแบงก์ มีพันธกิจในการช่วยเหลือลูกค้าที่แตกต่างกัน ตามพันธกิจตั้งแต่เริ่มต้นตั้งสถาบันการเงิน ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะตั้งโฮลดิ้ง หรือการรวมกิจการ ก็ต้องดูข้อกฎหมาย ว่าเอื้อให้ดำเนินตามแผนเหล่านี้ได้หรือไม่

      “สุดท้ายเป้าหมายของธปท.คือ ต้องการให้แบงก์รัฐ เกิดจุดอ่อนน้อยที่สุด และต้องเตือนภัยให้เร็ว หากเกิดอะไรขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อระบบให้มากที่สุด ซึ่งการประชุมร่วมกันครั้งนี้ ถือเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ และเสนอแนวทางแก้ไข เพื่อให้แบงก์รัฐไปสู่ความยั่งยืน ลดปัญหา “ใต้พรหม” ได้"

     อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดแล้วการตั้งโฮลดิ้งจะเกิดได้หรือไม่ต้องรอหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อขอความเห็นชอบในหลักการก่อน พร้อมจัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันที่ชัดเจน