“ทรัพย์สินท่วมท้น ล้นบ้าน”

“ทรัพย์สินท่วมท้น ล้นบ้าน”

ถ้าเรามีทรัพย์สิน ยังไงก็ดีกว่ามีหนี้สินใช่ไหมครับ ที่เราตั้งใจทำมาหากิน ก็เพื่อสะสมทรัพย์สิน ให้แก่ตนเองและครอบครัว คงไม่มีใครตั้งใจจะสะสมหนี้สินหรอกครับ

แต่หลายคนมีทรัพย์สินเท่าไรไม่เคยพอ แม้จะมีเป็นร้อยล้าน พันล้าน หมื่นล้าน ก็ไม่พอ ทั้งๆที่รู้ว่าตายไปแล้วเอาอะไรไปไม่ได้ แต่ก็ยังแสวงหาและสะสมทรัพย์สินไม่มีที่สิ้นสุด

บางคนก้าวล้ำไป จนถึงการใช้วิธีโกงชาติ ต้องไปใช้ชีวิตในคุก ซึ่ง คนนอกคุก ก็เห็น แต่น่าเสียดายที่คนนอกคุก กลับไม่ใช้เป็นบทเรียนที่ดี ยังถลำพาตนเอง เดินเข้าไปอยู่ในคุกด้วยจนได้ วนเวียนเช่นนี้ตลอดมา

แต่ “ทรัพย์สินท่วมท้น” ที่ผมจะพูดถึงวันนี้ ไม่ใช่ทรัพย์สินราคาหลายๆล้านบาทครับ เป็นทรัพย์สินเล็กๆน้อยๆ ที่เรามักซื้อเข้าบ้าน...จนล้นบ้าน นั่นแหละ

อาทิ ของใช้ในบ้าน ของใช้ส่วนตัว ของแต่งบ้าน เสื้อผ้า ภาพเขียน หนังสือ หรือของที่ระลึกจากประเทศต่างๆ รวมทั้งสินค้าไฮเทค และของสะสมพิเศษบางอย่าง เป็นต้น

ซื้อไปซื้อมา เผลอประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ของรกบ้าน ล้นห้องเก็บของ ล้นตู้เก็บของ แม้จะบริจาคออกไป แต่ของใหม่ก็เข้ามาในอัตราที่เร็วกว่า เป็นปัญหาแบบนี้หลายๆบ้าน

ผมเองเดินทางบ่อย เวลาพาผู้บริหารไปเรียนหนังสือและดูงานต่างประเทศ บอกได้เลยว่าได้เห็นเพื่อนร่วมเดินทาง ซื้อของติดมือกลับมา อย่างมีความสุข แต่สำหรับผมเอง กระเป๋าเดินทางขาไปมีเท่าไร ขากลับก็มีเท่านั้น 

เพราะมีบทเรียนว่า เวลาที่ผมต้องค้นหาสิ่งของต่างๆที่ต้องการใช้ กลับไปพบ “สิ่งของอื่น” ที่เคยซื้อมาแล้วนำไป “หมก” ไว้ตามที่ต่างๆ จนลืมไปแล้วว่าซื้อมาจากที่ไหน แล้วถามตัวเองว่าเราเคยมีของนี้ด้วยหรือ รวมทั้งของก็หมดสภาพแล้ว ต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย 

นักซื้อหลายคน อดไม่ได้ที่จะซื้อของอยู่เรื่อยๆ แต่พอนำกลับมาถึงบ้าน ก็รู้สึกผิด วันนี้เหตุการณ์แบบนี้ยิ่งเกิดได้ง่ายมากๆ เพราะซื้อของกันทางเว็บ ประเดี๋ยวเดียวก็มาส่งหน้าประตูบ้านแล้ว 

ปรโมชั่น 11/11 ที่ผ่านมา มีกล่องสินค้าเข้ามาเต็มบ้านอีกแล้ว... ใช่ไหม? นี่แหละครับ ที่ผมพาดหัวไว้ว่า “ทรัพย์สินท่วมท้น ล้นบ้าน” 555

คำถามคือ แล้วทำไมจึงซื้อไม่หยุดหย่อน วันนี้ผมมีคำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์ครับ

บทความในนิตยสารไทม์ ระบุว่าผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 70 กว่าปีแล้ว ไปตลาดทีไรเธอก็ซื้อ “กระต่าย” กลับมา 1 ตัว จนกระต่ายเต็มบ้าน พอถึงบ้านเธอรู้สึกผิด แต่เธอก็ยังทำตลอดมา

แพทย์อธิบายว่าเธอเป็นโรคพาร์คินสัน และได้รับประทานยารักษา ซึ่งมีผลให้มีสาร “Dopamine” เพิ่มขึ้นในสมองของเธอ จนนำไปสู่พฤติกรรมดังกล่าว คือเห็นกระต่ายแล้วอดซื้อไม่ได้ ทุกครั้งไป

Dopamine มีอยู่แล้วในสมองเรา ซึ่งมีผลให้มนุษย์แสวงหาทรัพย์สินหรือสิ่งของ ที่เป็น “รางวัล” คือทำให้เกิดความสุขในชีวิต เช่นซื้อเสื้อผ้าสวยๆ ซื้ออุปกรณ์ดนตรี ภาพเขียน เป็นต้น

แต่ถ้าสมองมี Dopamine มากเกินไป อาจทำให้เกิดพฤติกรรมต่างๆที่แปลกออกไป เช่นเล่นการพนันอย่างหนัก หรือกินอาหารไม่หยุดหย่อน เป็นต้น เพราะทำให้เกิดความสุขจากพฤติกรรมนั้นๆ

คุณยายที่ซื้อกระต่าย หรือบางคนที่หยุดซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ๆ ไม่ได้ จึงอธิบายได้ว่า เป็นผลมาจาก Dopamine ที่มากเกินไป ถ้า Dopamineลดลง พฤติกรรมเหล่านี้ก็จะลดลง

แต่มนุษย์เราไม่เหมือนกันหรอกครับ เช่นบางคนที่เคยยากจนมาก่อน และเรียนรู้มาตั้งแต่วัยเยาว์ว่า จะต้องไม่ใช้จ่ายเกินตัว เขาก็อาจจะมีพลังต้านที่เพียงพอ และ Dopamine อาจมีผลจำกัด เขาพอจะหยุดยั้งมันได้

แล้วทำอย่างไร จึงจะหยุดยั้งการซื้อไม่หยุดหย่อนได้ล่ะครับ ยากอยู่เหมือนกัน เพราะระดับ ปกติ ของ Dopamine ก็ทำให้มนุษย์แสวงหา “รางวัล” ให้กับชีวิตอยู่แล้ว ถ้ามี Dopamine มากกว่าปกติ ยิ่งจะหยุดพฤติกรรมโดยสิ้นเชิงได้ยาก

ที่พอทำได้คือ พยายามหารางวัลให้กับชีวิต ในรูปแบบอื่น คือต้องฝืนใจ คิดและหากิจกรรมอื่นมา ทดแทน ซึ่งเมื่อทำแล้ว จะยังรู้สึกว่าเป็นรางวัลชีวิต ที่ทดแทนกันได้กับพฤติกรรมเดิม

เช่นถ้าซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆไม่หยุดหย่อน ก็พยายามเปลี่ยนเป็น ซื้อเสื้อผ้ามือสองที่ยังดูดีมากๆ มาใช้บางส่วนบ้าง จะดีไหม อย่างน้อยก็ได้ช่วยลดโลกร้อนไปด้วย ถือว่าทำให้โลกใบนี้ และเป็น “รางวัล” ที่มีค่าสำหรับเรา

หรือถ้าต้อง กินโน่นกินนี่ ที่มีรสหวาน ก่อนนอนทุกคืน ยังไงก็เลิกไม่ได้ ก็เปลี่ยนเป็น หาอะไรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่า มากินแทนบ้าง พอจะได้ไหม

ต้องยอมรับว่า คิดยากและทำยากหน่อยครับ เพราะนอกจากจะเป็นการเปลี่ยนนิสัยเดิม เปลี่ยนรสนิยมเดิม เช่นไม่เคยชอบหรือรังเกียจเสื้อผ้ามือสอง หรือ ไม่กินหวานก็นอนไม่หลับ แล้ว... 

ยังเป็นการฝืนอิทธิพลขอ Dopamine อีกด้วย แต่ถ้าใช้ความพยายามก็น่าจะพอทำได้บ้างนะครับ

ยกเว้นว่า นิสัยเดิมคือ “ชอบกิน” เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่กินขนมหวาน มันคือ “กินบ้านกินเมือง”

คนแบบนี้ ถ้าบังเอิญเข้าไปมีอำนาจ ก็เหมือนได้โด๊ป “Dopamine ขนาดพิเศษ” เข้าไปทันที อย่างนี้หยุดยากครับ ถ้าจะหยุดได้จริงๆ ก็ตอนเดินเข้ากรงนั่นแหละ

แต่โทษสมัยนี้ มันก็ลดลงได้อย่างฮวบฮาบจริงๆ ประเดี๋ยวเดียวก็ออกจากกรงมาแล้ว ถึงตอนนั้น Dopamine อาจจะยังไม่ได้ลดลงไปเลยก็ได้ สังคมอาจต้องเสี่ยงอีกครั้ง

เฮ้อ..คิดแล้วกลุ้ม