สบน.ชี้สถาบันจัดอันดับเกาะติดเลือกตั้งปัจจัยจัดเครดิตประเทศ

สบน.ชี้สถาบันจัดอันดับเกาะติดเลือกตั้งปัจจัยจัดเครดิตประเทศ

สบน.ชี้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะให้น้ำหนักปัจจัยด้านการเมืองในการพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย หลังจะมีการเลือกตั้งใหม่ในปีหน้า ขณะที่ ปัจจัยด้านการคลังและการเงินที่มีความแข็งแกร่งจะเป็นประเด็นรอง

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ระบุว่า ปัจจัยที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะพิจารณาจัดอันดับเครดิตของประเทศไทยนับจากนี้เป็นต้นไป คือ ปัจจัยทางด้านการเมือง ขณะที่ ปัจจัยทางด้านความแข็งแกร่งทางการคลังและการเงินนั้น ไม่ใช่ปัจจัยที่จะให้ความสำคัญ เนื่องจาก ขณะนี้ สถานะทางการคลังและการเงินมีความแข็งแกร่ง แม้ว่า ระดับหนี้สาธารณะของไทยจะปรับเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

“นับจากนี้การจัดอันดับเครดิตของประเทศจะไม่ขึ้นอยู่กับฐานะการคลังและการเงิน เพราะเสถียรภาพเราแข็งแกร่ง แต่จะขึ้นอยู่กับการเมือง เพราะปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง ก็เป็นที่จับตามองว่า การเมืองไทยจะเป็นแบบไหน”

ทั้งนี้ ล่าสุด บริษัทจัดอันดับเครดิตเอสแอนด์พีได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ไว้ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ ส่วนสถาบันการจัดอันดับของประเทศญี่ปุ่นก็ปรับขึ้นอันดับเครดิตจาก A- เป็น A อย่างไรก็ดี ทางสบน.คาดหวังที่จะเห็นการปรับเพิ่มอันดับเครดิตจากทางเอสแอนด์พี แต่เขาจะขอดูเรื่องการเลือกตั้งในปีหน้าอีกครั้ง

“ทางเอสแอนด์พีมองว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว โดยระยะ 12-18 เดือนข้างหน้านักท่องเที่ยวจะเข้ามาเยอะ และ จะเป็นปกติในปีหน้า ก็คิดว่า เศรษฐกิจไทยจะไปได้ ส่วนหนี้สาธารณะจะเพิ่มตามอัตราปกติ แต่ก็คิดว่า ระดับการขาดดุลจะลดลงเรื่อยๆ ฉะนั้น จึงให้เครดิตไทยเหมือนเดิม แม้หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นก็ตาม”

สำหรับระดับหนี้สาธารณะของไทยนั้น ผอ.สบน.มองว่า มีแนวโน้มที่จะปรับลดลงตามการเพิ่มขึ้นของจีดีพีโดยในปีงบประมาณ 2565 นั้น ระดับหนี้สาธารณะอยู่ที่ 60.4%ต่อจีดีพี จากคาดการณ์เดิมที่อยู่60.56%ต่อจีดีพี เนื่องจาก จีดีพีได้ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนปีงบประมาณหน้านั้น คาดว่า จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งอยู่ที่ 60.43% ซึ่งเป็นผลจากจีดีพีที่ขยายตัวดีขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ดี ทางสบน.กำลังขอข้อมูลเรื่องการขยายตัวของจีดีพีต่อสภาพัฒน์ เพื่อนำมาคำนวณระดับหนี้ต่อจีดีพีที่ชัดเจนอีกครั้ง

“หนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 66 นั้น แน่นอนว่า จะเพิ่มขึ้นจากการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีมติการกู้เงินที่ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเราก็ต้องนำมาปรับเข้ากับแผนการบริหารหนี้ในปีงบ 66”

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากมูลหนี้สาธารณะทั้งหมดแล้ว รัฐบาลยังมีช่องที่จะสามารถกู้เงินได้อีก 1.7 ล้านล้านบาท แต่การกู้เงินนั้น จะต้องมีแผนการใช้เงินที่ชัดเจน อาทิ กู้เพื่อการลงทุน และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ  เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่มีแผนการลงทุนที่ชัดเจนก็ไม่ควรกู้ และหากต้องกู้ ก็ต้องออกเป็นพระราชกำหนด