ธปท.ชี้ลูกหนี้แห่เข้ามาตรการช่วยเหลือเพิ่ม ผลกระทบเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยขึ้น

ธปท.ชี้ลูกหนี้แห่เข้ามาตรการช่วยเหลือเพิ่ม ผลกระทบเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยขึ้น

ธปท.ชี้ ล่าสุดลูกหนี้เข้าสู่มาตรการช่วยเหลือธปท.เพิ่มเป็น 2.98ล้านล้านบาท หรือ3.88ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ทั่วถึง กลุ่มเปราะบางยังได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการเงิน จากเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

     นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานแถลงผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ว่า สำหรับลูกหนี้ ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของธปท. ล่าสุดมียอดขอความช่วยเหลือ 2.98ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น หากเทียบเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้า

        โดยมาจากลูกหนี้จากธนาคารเฉพาะกิจ (แบงก์รัฐ)เพิ่มขึ้นที่ 1.05 ล้านล้านบาท จาก 9.6แสนล้านบาท ขณะที่มาจากธนาคารพาณิชย์อีก 1.94ล้านล้านบาท โดยคิดเป็นจำนวนบัญชีที่เข้าสู่มาตรการ 3.88ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจาก 3.84ล้านบัญชี 

       โดยลูกหนี้ที่เข้าสู่มาตรการเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เท่าเทียม ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ทำให้ยังมีกลุ่มเปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบต้นทุนสินค้าและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนของอาหาร และพลังงาน ที่กระทบต่อครัวเรือนรายได้น้อย ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้แบงก์ชาติต้องจัดมหกรรมแก้หนี้ และขยายการลงทะเบียนได้ถึงม.ค.ปีหน้า และขยายกลุ่มลูกหนี้เอสเอ็มอี เข้าโครงการเพิ่มขึ้น 
    “ลูกหนี้เอสเอ็มอี และรายย่อยเป็นกลุ่มที่ธปท.เป็นห่วงมาโดยตลอด นั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมธปท.ต้องเข้าไปช่วยเหลือและขยายโครงการมหกรรมแก้หนี้ เพื่อหวังว่า มหกรรมแก้หนี้ จะช่วยช้อนลูกหนี้ที่มีปัญหาให้ได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม แต่ปัญหาวันนี้ คือไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้โดยตรง กว่าครึ่งที่ติดต่อไม่ได้”

       สำหรับภาพรวมหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล ของระบบธนาคารพาณิชย์ ล่าสุดปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.77% หรือราว 5 แสนล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.88% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ ทั้งการตัดขายหนี้ให้กับบริษัท บริหารสินทรัพย์ (AMC) และการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องของธนาคารพาณิชย์  โดยหนี้เสียส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 1.66%จาก 1.48%

     ส่วนหนึ่งมาจากโครงการของธนาคารจบลง อาทิ คืนรถจบหนี้ เป็นต้น และเริ่มหมดมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ทำให้เริ่มมีหนี้เสียไหลออกมาสู่ระบบเพิ่มขึ้น 
       ส่วนภาพรวมหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลในระยะข้างหน้า ธปท.เชื่อว่าจะยังเห็นหนี้เสียทยอยเพิ่มขึ้น จากกลุ่มที่เปราะบาง และได้รับผลกระทบจากต้นทุนทางการเงิน และเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนหนี้เสียคงไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะลูกหนี้ส่วนใหญ่ ได้รับการช่วยเหลือภายใต้การปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินอยู่แล้ว 
       “หนี้เสียกลุ่มเช่าซื้อ ที่ผ่านมาเข้าโครงการมาพอสมควร และเมื่อโครงการหมด ก็เห็นลูกหนี้เข้าโครงการเพิ่ม สอดคล้องกับ มหกรรมแก้หนี้ ที่มีลูกหนี้เช่าซื้อ เข้าโครงการสูงเป็นอันดับ 3จาก ขณะที่อันดับหนึ่งและสองเป็นสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล”
      ส่วนผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจาก แนวโน้มสินเชื่อที่ขยายตัวได้ดี ตั้งแต่โควิด-19 ที่ขยายตัวมาที่ระดับ 5-6% หากเทียบกับปี 2560-2562 ที่สินเชื่อขยายตัวเพียง 4-4.3% ทำให้รายได้สุทธิของแบงก์เพิ่มขึ้น ทำให้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับที่ดีต่อเนื่อง

      ส่วนดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลบวกต่อธนาคารพาณิชย์หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพอร์ตสินเชื่อของแต่ละแบงก์ ว่ามีพอร์ตสินเชื่อที่มีดอกลอยตัว หรือดอกเบี้ยคงที่